‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยงทิศทางเงินบาทอาจผันผวนจากแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ในประเทศ แต่เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.92-30.12 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.23% ด้วยความหวังว่าโจ ไบเดนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่หลังจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปิดบวก 0.12% แม้จะได้รับแรงหนุนจากภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ระยะสั้นยังคงถูกกดดันจากการระบาดของไวรัสที่ล่าสุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และเยอรมันส่งสัญญาณว่าอาจมีการล็อคดาวน์ต่ออีกสามถึงแปดสัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ฝั่งตลาดเงิน บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลง 4bps หลับมาที่ 1.09% พร้อมกับส่วนต่างระหว่างยีลด์สหรัฐอายุสามสิบและห้าปีที่ลดลง 2bps สะท้อนภาพตลาดที่กังวลกับปัญหาการเมืองในสหรัฐมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่ราคาบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นถึง 12% มาที่ระดับ 38000 ดอลลาร์ พร้อมกับราคาทองคำที่ฟื้นตัวขึ้นมาที่ 1847 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพราะความหวังเรื่องนโยบายการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมราว 7.5-9 แสนล้านดอลลาร์

ด้านเงินบาท ระยะสั้นมีความเคลื่อนไหวไม่มาก โดยมีผู้ส่งออกทยายซื้อเงินบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายบอนด์ไทยติดต่อกันเป็นวันที่เจ็ด อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับแข็งค่าได้จากแนวโน้มของเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง สำหรับวันนี้เชื่อว่าจะมีแรงซื้อบอนด์ไทยกลับจากบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวลง ประเด็นที่ต้องติดตามยังคงเป็นแนวโน้มของตลาดทุนและการควบคุมการระบาดของไวรัสในฝั่งเอเชีย

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง อย่างระมัดระวัง หลังจากปัจจัยเสี่ยงทั้ง การเมืองสหรัฐฯ และประเด็นเฟดลดการทำคิวอี เริ่มคลี่คลายลง สะท้อนผ่าน ดัชนีหุ้นเทคฯ NASDAQ ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น 0.4%  ดัชนีSTOXX50 ของยุโรปรีบาวด์ขึ้น 0.1%

ขณะเดียวกัน ตลาดเลือกที่จะมองว่า เฟดจะไม่รีบลดมาตรการอีดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) และตลาดก็อาจจะไม่เกิดภาพQE taper tantrum เช่นในปี 2013 อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกังวลการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของหุ้น ส่งผลให้ความต้องการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น กดดันให้ ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ย่อลงเกือบ 4bps สู่ระดับ 1.10%

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้อ่อนค่าลงตามยีลด์10ปีสหรัฐฯ แต่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 90.35 จุด

สำหรับวันนี้ เราคาดว่า ตลาดจะยังคงติดตามประเด็นการเมืองของสหรัฐฯ หลังฝั่งสภาผู้แทนฯ มีมติโหวต 232 ต่อ197 ให้ถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นครั้งที่สอง ในรอบกว่า 1ปี ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะขึ้นอยู่กับวุฒิสภาว่าจะมีการพิจารณาและลงมติอย่างไร

นอกจากนี้ ตลาดติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell ถึงแนวโน้มการปรับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อยืนยันสมมติฐานของผู้เล่นส่วนใหญ่ที่มองว่า เฟดจะยังไม่สามารถลดการอัดฉีดสภาพคล่องได้ในปีนี้

เราคงมุมมองว่า เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาอ่อนค่าลง หากเฟดส่งสัญญาณสอดคล้องกันว่าจะไม่รีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง และสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ ก็คลี่คลายลง (ไม่มีการชุมนุมหรือก่อจราจล)ซึ่งจะหนุนให้ สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ทิศทางเงินบาทอาจผันผวนจากแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ในประเทศ

ขณะเดียวกัน เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทใกล้ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการก็ควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินบ้าง หรือใช้ การทำออพชั่น หากไม่มั่นใจในแนวโน้มของค่าเงิน