'นิด้า'ชี้โควิดรอบใหม่ฉุดเศรษฐกิจไตรมาส1 มองปี 64 จีดีพีขยายตัวไม่เกิน 3%

'นิด้า'ชี้โควิดรอบใหม่ฉุดเศรษฐกิจไตรมาส1 มองปี 64 จีดีพีขยายตัวไม่เกิน 3%

นักเศรษฐศาสตร์นิด้าประเมินโควิดระลอกใหม่ฉุดจีดีพีไตรมาสแรกเทียบกับปีก่อน 64 ติดลบ มองจีดีพีทั้งปีขยายตัวได้ไม่เกิน 3% แนะรัฐจ่ายเงินเยียวยารอบใหม่ไม่แจกเงินแบบให้เปล่า แต่ให้แบบพ่วงเงื่อนไขฝึกอาชีพ รีสกลิลรับทักษะใหม่รับการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด19

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในประเทศไทยรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อย่างชัดเจนและจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จีดีพี -1.8% 

เนื่องจากในปีที่ผ่านมาในไตรมาสที่ 1 ประเทศไทยยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ.ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 6 - 7 ล้านคน แต่ในไตรมาส 1 ปีนี้เราไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19รอบใหม่ทำให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงต้นปี 2564 ลดลงโดยผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2ของปีนี้ด้วยหากการควบคุมโรคทำได้ล่าช้า 

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 2.5 - 3% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปี 2563 ที่คาดว่าจีดีพีจะหดตัวประมาณ 7.5% โดยสาเหตุที่ประเมินว่าการขยายตัวของจีดีพีในปี 2564 ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนักเนื่องจากความไม่แน่นอนของการควบคุมโรคระบาด การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะกระทบกับภาคการส่งออกที่จะทำให้ภาคการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้เพียงประมาณ 3%

ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าการฟื้นตัวจะเริ่มเกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปี เนื่องจากต้องรอการฉีดวัคซีน และการประเมินสถานการณ์เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ากว่าที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามายังประเทศไทยได้คงเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้ประมาณ 6 - 7 ล้านคน เนื่องจากดูจากการนำเอาวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยกว่าที่จะสามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วประเทศรวมทั้งในหลายประเทศอยู่ระหว่างกระจายวัคซีนให้ประชาชนคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการได้รับวัคซีนในวงกว้างเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเดินทางได้ 

นายมนตรียังกล่าวต่อว่าสำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19 หากจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ควรเป็นการแจกเงินแบบให้เปล่าเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ควรเป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไข เช่นให้เงินแลกกับการฝึกทักษะอาชีพใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด19 มากเช่นภาคท่องเที่ยวที่การท่องเที่ยวและการเดินทางจะเปลี่ยนรูปแบบไปมากหลังจากโควิด19 ซึ่งแรงงานจะต้องมีทักษะใหม่สำหรับรองรับจะยั่งยืนกว่า

161009665341

เขากล่าวต่อว่าในรอบนี้ภาครัฐเริ่มมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณและเงินที่จะนำมาใช้ ซึ่งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯเหลืออยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะต้องคำนึงถึงการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเนื่องจากหากจะกู้เงินเพิ่มเติมก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเพดานหนี้สาธารณะที่ขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยใกล้จะถึง 60%ของจีดีพีแล้วการกู้เงินเพิ่มเติมจึงทำได้ไม่ง่ายนัก 

การใช้วงเงินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐจะต้องคำนึงถึง ควบคู่ไปกับการทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากรอบที่สุดเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากในช่วงที่เกิดวิกฤต 

ภาครัฐจะต้องดูแลเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณควบคู่กับการกระตุ้น การลงทุนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวได้มากที่สุด รวมทั้งภาครัฐจะต้องดูแลเรืองการเบิกจ่ายงบประมาณควบคู่กับการกระตุ้นการลงทุนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวได้มากที่สุด