‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก "ตลาดคาร์บอนเครดิต" คืออะไร? เมื่อสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการค้า ตลาดคาร์บอนเครดิตจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ทำให้มีการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม

“คาร์บอนเครดิต (Carbon credit)” ถูกนำมาใช้ในบริบทของสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นคำที่ใช้สำหรับใบอนุญาตการซื้อขายที่ก่อให้เกิดสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้

โดยทั่วไปแล้ว “ตลาด” หมายถึงสถานที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายหรือกับบุคคลอื่นๆ แต่สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market) นอกจากจะหมายถึงตลาดตามความหมายโดยทั่วไปแล้ว ตลาดคาร์บอนเครดิตยังเป็นสถานที่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาเป็นวัตถุในการซื้อขายแลกเปลี่ยน 

คาร์บอนเครดิต ถือเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนเครดิตยังเป็นตัวกลางหรือกลจักรสำคัญ ที่ทำให้เครื่องมือทางการตลาด (Market mechanism) สำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุผลได้ กล่าวคือการจัดตั้งและดำเนินการตลาดคาร์บอนเครดิต ส่งผลทำให้มีการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม 

ทั้งยังช่วยให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประชาชนในสังคมควรแบกต้นทุนเหล่านี้ด้วย และในที่สุดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตจะเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ลงทุนหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีเป้าหมายตรงกันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม

ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับและตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ สำหรับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ (Regulatory carbon market) หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในกรณีเช่นนี้ หากโรงงานหรือบริษัทต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โรงงานหรือบริษัทนั้นก็มีสิทธิที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงงานหรือบริษัทอื่นที่มีปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมไม่เกินปริมาณที่กำหนดได้

จากกรณีข้างต้น จะส่งผลทำให้โรงงานหรือบริษัทที่ได้รับสิทธิจากการซื้อคาร์บอนเครดิต กลับมามีสิทธิปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับสามารถเห็นได้จากระบบ EU Emissions Trading System (EU-ETS) ของสหภาพยุโรป หรือ Australian Carbon Pollution Reduction Scheme ของประเทศออสเตรเลีย และ Regional Greenhouse Gas Initiative ของสหรัฐ เป็นต้น

ส่วนตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) เป็นกรณีที่โรงงาน บริษัท หรือบุคคลใดที่สมัครใจดำเนินโครงการหรือมาตรการ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ และโรงงานหรือบริษัทที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจสามารถเห็นได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย

โดยหลักการแล้ว แม้ว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายหรือกฎระเบียบเฉพาะเมื่อมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต แตกต่างจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ซึ่งมีกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน 

แต่ในปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในทั้งสองตลาดต่างอยู่ภายใต้บังคับหรือเกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือกฎระเบียบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายภาษีอากร หรือกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในอดีตผู้ขายคาร์บอนเครดิตสามารถพัฒนาและดำเนินโครงการใดๆ ขึ้น เพื่อนำผลผลิตคาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากโครงการดังกล่าวไปจำหน่ายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายหรือกฎระเบียบใดๆ แต่ในปัจจุบันการพัฒนาและดำเนินโครงการใดๆ เพื่อหวังผลผลิตคาร์บอนเครดิตนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรฐานบางประการ ที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อทำให้มั่นใจว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้จริงและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น หลายประเทศจึงได้มีการตรากฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวกับหน้าที่ขององค์กรธุรกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับและภาคสมัครใจ เพื่อเป้าหมายการลดและการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมให้มีปริมาณตามที่กำหนดไว้ 

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมิได้มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นการเฉพาะ แต่ในอนาคตผู้เขียนเชื่อว่าเราจะมีการตรากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้นเหมือนกับในต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องและบรรลุเป้าหมายดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้