จิ๊กซอว์สำคัญแผนพัฒนาภาคการเกษตร EEC

จิ๊กซอว์สำคัญแผนพัฒนาภาคการเกษตร EEC

ผมเห็นทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) แสดงถึงภาพรวมของแผนพัฒนาการเกษตรของพื้นที่ EEC ระยะเวลา 5 ปี ที่ใช้แนวคิดคลัสเตอร์ในสาขา 5 กลุ่ม คือ ผลไม้ ประมง พืชสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ ผลักดัน และสนับสนุนการพัฒนา เพื่อให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง ที่มียุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ การพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรและชีวภาพ การยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยนวัตกรรมและการตลาด และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างบรรยากาศเข้าสู่ธุรกิจเกษตรสมัยใหม่

ถ้ามองในรายละเอียดแล้ว ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมองภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นสำคัญ แต่จิ๊กซอว์ด้านอุปสงค์หรือดีมานด์แม้จะยังไม่ชัด แต่ก็ยังสบายใจที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ พูดถึงการเร่งให้ทาง ปตท. ลงทุนโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(Eastern Fruit Corridor : EFC) ที่จะใช้เป็นตัวชูโรงในการสร้างอุปสงค์และโอกาสการขยายตลาดให้กับผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ซึ่งมีมากและหลากหลาย โครงการพูดกันมาอย่างน้อยสามปีแล้ว อยู่ในมือของกระทรวงอุตสาหกรรมและถูกส่งมาอยู่ในมือของ ปตท. ผู้มีทุนและความเย็นจากก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าปลูกสตรอเบอร์รี่โชว์อย่างเดียว แต่สามารถมาสร้าง impact ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้กว้างมากกว่าที่เป็นอยู่

ผมเข้าใจดีว่ากิจกรรมที่จะดำเนินการนั้นต้องการความร่วมมือตั้งแต่เกษตรกร องค์กรท้องถิ่น กลุ่มการค้าธุรกิจส่งออก การตลาดที่ทันสมัย ที่จะเชื่อมโยงตลาดระหว่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ผ่านระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหากสำเร็จตามภาพที่เราหวังไว้จากโครงการแล้ว ก็จะทำให้ผลไม้ของเกษตรกรซึ่งมีมากและหลากหลายสามารถเข้าถึงตลาดได้ในวงกว้าง มีอำนาจในการต่อรองทางการตลาดมากขึ้น เพราะหากไม่ทำอะไรแล้ว เกษตรกรก็อยู่ในมือของล้งทั้งต่างชาติและไทย เหมือนในปัจจุบัน ราคาถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คน

ผมมองในโลกความเป็นจริงว่าโครงการ EFEC คงสำเร็จได้ยาก หากไม่สร้างเครือข่ายแบบคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะผ่านระบบเครือข่ายเดิม ระบบสหกรณ์ การติดอาวุธทางความรู้และเทคโนโลยี และความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบทบาทของตนเอง เช่น การสร้างความรู้เกษตรกร การสร้างเครือข่าย ฯลฯ ซึ่งผมยังไม่เห็นรายละเอียดของกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากคำมั่นของ ปตท. จะลงทุนห้องเย็นเพื่อบรรจุผลไม้ขนาด 4,000 ตัน เท่านั้น ผมเห็นด้วยว่าห้องเย็นของ EFC หรือระบบการซื้อขายและการตลาดในโครงการ EFC (หากทำสำเร็จ) เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในความสำเร็จ แต่ไม่เพียงพอที่จะให้ความฝันของเกษตรกรถึงฝันตามยุทธศาสตร์ว่าเอาไว้ ผมรับรองได้ว่าไม่มีผลไม้หรืออุปทานที่ตลาดต้องการเข้าสู่ตลาดได้

โครงการนี้ต้องเอาทุกคนมาร่วมทั้งหมดและทำหน้าที่ที่ตนเองเก่งหรือที่ตนเองทำอยู่แล้ว และที่สำคัญเมื่อมาอยู่ในระบบธุรกิจเชื่อมโยงของ EFC ทุกคนต้องแข่งขันกันเอง โดยวางความสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบหากใคร “ทำดี ก็ได้ดี” และ “ทำมาก ก็ได้มาก” เพื่อสร้างจูงใจการพัฒนาตนเอง

สิ่งสำคัญในการทำโครงการนี้ อย่าหวังการสนับสนุนจากรัฐแบบเดิม ๆ เเต่ โครงการนี้ต้องทำให้เชิงธุรกิจเต็มตัว ทุกคนในเครือข่ายอยู่รอดได้ด้วยระบบธุรกิจ ดำเนินการแบบธุรกิจ แต่คนบริหารโครงการนี้ต้องเข้าใจว่าผลประโยชน์สุดท้ายและสำคัญที่สุดในโครงการนี้คือ ทำให้เกษตรกรผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการและสามารถขายผลผลิตของเขาได้ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่ได้แบบยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ผู้ค้า ผู้ลงทุน ได้ทำธุรกิจตามที่ตนเองเก่งเต็มที่และได้ผลตอบแทนตามความสามารถของตนเอง