CPF ถอดบทเรียนโควิด ถึงเวลาวิ่งให้เร็วกว่า'สตาร์ทอัพ'

CPF ถอดบทเรียนโควิด  ถึงเวลาวิ่งให้เร็วกว่า'สตาร์ทอัพ'

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจหลายองค์กรต้องปรับแผนธุรกิจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจให้เร็วขึ้นทันกับความเปลี่ยนแปลง

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด 19 เป็นปัญหาที่เกินความคาดหมาย และไม่สามารถคาดเดาแนวโน้มและระยะเวลาที่จะควบคุมได้ 

ดังนั้นทุกแผนต้องนำมาทบทวนทั้งหมด และให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดเอาไว้ เพราะกังวลยอดขายลดลง แต่ผลการดำเนินงานในช่วง ก.พ.- เม.ย.ที่ผ่านมา โดยรวมอาจกระทบ 5-10 % เท่านั้น ถือว่าไม่มาก และเมื่อดูตามยอดส่งออกแต่ละตลาดพบว่าไม่ลดลง โดยมีเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เท่านั้นที่กระทบมากหน่อยเพราะสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

ส่วนการส่งออกตลาดอาเซียน พบว่า ตลาดสิงคโปร์ ให้ความมั่นใจและหันมาสั่งซื้อไก่สดและไข่ไก่จากไทยเป็นครั้งแรก และซีพีเอฟส่งออกไปตลาดดังกล่าวได้ ซึ่งจะพยายามรักษาตลาดนี้ให้ยั่งยืนต่อไป หลังจากสิงคโปร์มีคำสั่งซื้อไก่สดจากไทยมากถึง 1 หมื่นตันต่อปี

“ปกติสิงคโปร์จะสั่งซื้อไก่จากมาเลเซีย แต่ช่วงที่โควิดระบาดทำให้ระบบการขนส่งชะงักหมด ผลผลิตไม่เพียงพอความต้องการ ดังนั้นจึงให้ไทยช่วยซัพพอร์ต และซีพีเอฟมีสินค้าอยู่แล้วจึงพร้อมส่งออกไปเปิดตลาดสิงคโปร์“

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงวิกฤติจะมีโอกาสเสมอ สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคยกระดับความใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น โดยเลือกซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาเก็ตหรือร้านค้าที่มั่นใจความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับซีพีเอฟที่เป็นผู้นำอาหารที่มีความปลอดภัยอยู่ในช่องทางเลือกเหล่านี้อยู่แล้ว

แต่ด้วยความที่ซีพีเอฟเป็นองค์กรใหญ่จึงมีหน้าที่ช่วยเหลือสังคมด้วย รวมถึงกลุ่มซีพีที่มีประสบการณ์โควิด-19 ก่อนใครในนครอู่ฮั่นของจีน จึงนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในประเทศขณะนั้น

ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีแผนป้องกันโรงงานที่เป็นแหล่งผลิตด้วย โดยตั้งองค์การภายในขึ้นมาเพื่อดูแลโควิดเป็นการเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ศึกษาและวางแผนทั้งระบบ ซึ่งพบว่าคนงานมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นพาหะนำเชื้อโรค ดังนั้นการเข้าออกต้องรักษาความสะอาดเข้มงวดและติดตั้งแอลกอฮอลล์ทุกจุด การขนส่งต้องล้างรถให้สะอาดก่อนและหลังเข้าโรงงาน

โควิด-19 ทำให้ซีพีเอฟผลักดันแผนการขายสินค้าออนไลน์ได้เร็วขึ้น โดยสร้างระบบโลจิสติกให้ครอบคลุมตรอกและซอยได้ในเวลาสั้น ซึ่งช่วงนั้นได้ประสานกระทรวงพาณิชย์เพื่อเป็นช่องทางการจัดส่งสินค้าผ่านพันธมิตรของเครือซีพี เช่น แม็คโคร เซเว่น-อีเลฟเว่น ซีพีเฟรชมาร์ท

“โควิด-19 มีส่วนมากทำให้ทุกองค์การนำเอาระบบออนไลน์มาใช้ได้เร็วขึ้นอย่างน้อย5 เท่าตัว การประชุมทุกอย่างผ่านออนไลน์ทั้งหมด การทำงานที่บ้านได้ ค่าใช้จ่ายลดลงแต่จัดการได้เร็วขึ้น และทำให้การพัฒนา IoT ของบริษัทเร็วขึ้น โดยปรับใช้กับระบบการผลิต ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งสุกรและไก่ เพื่อเก็บข้อมูลจากภาพถ่าย เสียง น้ำหนัก การสั่นสะเทือนแล้วนำมาวิเคราะห์หาความผิดปกติได้ตลอด 24 ชั่วโมง วิธีการนี้ลดความเสี่ยงจากเดิมที่ต้องส่งคนงานเข้าไปและจะเป็นพาหะได้ “

ทั้งนี้ แม้การผลิตอาหารของซีพีเอฟจะได้มาตรฐาน แต่แนวโน้มของผู้บริโภคต้องการอาหารที่เป็นยาได้ ซึ่งโควิด-19 จะเป็นตัวขับเคลื่อนกระแสนี้ให้เร็วขึ้น ดังนั้น ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญการผลิตอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น และเป็นอาหารที่ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละฟังก์ชั่นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ซีพีเอฟเป็นองค์กรใหญ่จึงต้องขับเคลื่อนให้เร็วกว่าสตาร์ทอัพ จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและแม่นยำ" 

ตัวอย่างสำคัญของการวิ่งให้เร็ว คือ การวิเคราะห์สายพันธุ์เดิมการจับคู่ยีนพันธุกรรมต้องใช้เวลากว่า 8 ปี จึงจะสำเร็จ ปัจจุบันทำได้ง่าย เร็ว และแม่นยำขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหาร

นอกจากนี้ยังมีความพร้อมที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ไก่ไข่ ภายใต้โครงการอาหารกลางวัน ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 700 โรงเรียนตามแนวชายแดน มีการสอนทำระบบบัญชีเมื่อสินค้าเหลือก็นำไปขายให้กับชุมชน เป็นการฝึกหัดสร้างอาชีพให้กับเยาวชน

โดยในปีนี้ ซีพีเอฟยังมีโครงการรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน 500 คน แบ่งเป็นทีมละ 8 คน เพื่อทำหน้าที่เข้าไปศึกษาและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าแต่ละราย เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ถือเป็นการให้อำนาจคนรุ่นใหม่ จากเดิมการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง

รวมทั้งโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งซีพีเอฟพร้อมช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกราย โดยให้บริษัทและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ CP ,CP Freshmart และ BKP ปรับระบบการชำระหนี้ให้มีระยะเวลาสั้นลง โดยจ่ายค่าสินค้าและบริการให้แก่คู่ค้าหรือซัพพลายเออร์กลุ่มเอสเอ็มอีภายใน 30 วัน นับจากวันตรวจรับสินค้าหรือบริการ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้คู่ค้าของซีพีเอฟนำเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

“เราพร้อมช่วยคู่ค้าเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันได้ให้เครดิตเทอม 30 วันอยู่แล้วกับคู่ค้าจำนวนหนึ่งและจะเร่งดำเนินให้ครบทุกราย 100% จะเป็นอีกแนวทางที่ช่วยเอสเอ็มอีทำธุรกิจต่อไปได้ มีการจ้างงานต่อเนื่อง ช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยปัจจุบันมีคู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอี 6,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบ เครื่องปรุง บรรจุภัณฑ์"

สำหรับผลการดำเนินงานของซีพีเอฟในปี 2563 นี้คาดว่าจะมีรายได้รวมตามเป้า ที่ 5.4 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 8 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ส่วนใหญ่ยังเป็นรายได้จากลงทุนในต่างประเทศ เติบโต 11% ไทย เติบโต 5-10% 

ประเทศสำคัญที่ทำรายได้เติบโตได้ดียังเป็นจีนและเวียดนามที่มีกำไรโดดเด่นมากที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจสุกรที่เติบโตสูงมากเป็นผลจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านในจีน เวียดนามและประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นไทยที่สามารถควบคุมการเลี้ยงได้ดี ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะผู้เลี้ยงของไทยกว่า 80-90 % เป็นรายใหญ่ที่มีการลงทุนด้านระบบความปลอดภัย และต่างกับต่างประเทศที่ 80% เป็นการเลี้ยงรายย่อย หรือหมูหลังบ้านทำให้เสี่ยงต่อการระบาดของโรคสูง

นอกจากนี้ ธุรกิจในเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หลังจากในปี 2564 สามารถส่งออกสินค้าไก่ในตลาดญี่ปุ่นได้เป็นครั้งแรก ภายใต้ความร่วมมือทางการค้าระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นทำให้มีภาษีต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการส่งออกไก่จากไทย แต่ต้องบริหารจัดการการส่งออกไก่จากทั้ง 2 ประเทศในตลาดญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อให้เกิดความสมดุลไม่แข่งขันกันเอง