"ราคาปาล์ม"พุ่งแตะโลละ7บาท ปัจจัยดีมานด์เพิ่ม-สต็อกลด
สศก. ระบุราคาปาล์มน้ำมันปรับเพิ่มแตะ กิโลกรัมละ 7 บาท หลังความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะรัฐ หนุนใช้ไบโอดีเซล ดันส่งออกส่วนเกิน คาดสต็อกจะลดลงในอัตราที่เหมาะสม 2.8-3.2 แสนตัน ทำราคาพุ่งแรงถึงไตรมาสแรกปี 64
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า ในขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาปาล์มน้ำมันรับซื้อที่หน้าโรงงานในแหล่งผลิตที่สำคัญ (สุราษฎร์ธานี กระบี่ และ ชุมพร) ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัม(กก.)ละ 4.10 – 5.00 บาท (ณ 1 ต.ค. 2563) เพิ่มเป็นระหว่างกก.ละ 6.00 – 7.90 บาท (10 พ.ย. 2563) และราคาน้ำมันปาล์มดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกก.ละ 25.00 – 25.25 บาท (ณ 1 ต.ค. 2563) เพิ่มเป็นกก.ละ 397 บาท (ณ 10 พ.ย. 2563) เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มปรับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์ โควิ – 19 เริ่มคลี่คลาย
ประกอบกับมาตรการของรัฐที่กระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์ม โดยการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล รวมทั้งการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินของผู้ประกอบการ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเฉลี่ยเดือนละ 2.4 แสนตัน ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 4 (เดือน ต.ค.- ธ.ค.) ออกสู่ตลาดน้อย ประมาณ 19% ของผลผลิตทั้งหมด 16.36 ล้านตัน
โดยคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบเดือน ต.ค.2.1 แสนตัน พ.ย. 1.8 แสนตัน และ ธ.ค. 1.6 แสนตัน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 4 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงเฉลี่ยอยู่ระหว่างเดือนละ 3-8 หมื่นตันและคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 2.8 - 3.2 แสนตัน คาดว่า ราคาปาล์มจะพุ่งต่อเนื่องจนถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564
สำหรับสถานการณ์ราคายางพารา ตามที่ ผู้ซื้อภายในประเทศต้องการเร่งการส่งมอบยางในช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะเดียวกันราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทั้งตลาดญี่ปุ่น และตลาดสิงคโปร์อยู่ในช่วงขาขึ้น มีแรงซื้ออยู่ในระดับสูง ความต้องการถุงมือยางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสถานการณ์ COVID-19 และภาคโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนมีการขยายตัว ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นทิศทางของราคาควรปรับเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันราคายางในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างกำหนดมาตรการแก้ไข
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า ราคายางพาราเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่วันที่28 ต.ค. เป็นต้นมา จนเริ่มทรงตัวในขณะนี้. เป็นผลจากนักลงทุนต่างประเทศเกิดการเทขายเพื่อเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า อีกทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID -19) ระลอกใหม่ หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลต่อการส่งออกยางพารา รวมถึงเริ่มเข้าสู่ฤดูผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 2563 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาดราคาเฉลี่ยที่ 61.48 บาทต่อกก. ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงทรงตัวของราคา อย่างไรก็ตามในส่วนนี้รัฐบาลได้สั่งการให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เข้าดูแล ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่เน้นช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยการประกันความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งราคาประกันที่โครงการกำหนดไว้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกก. น้ำยางสดราคา 57 บาทต่อกก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกก.