3 หุ้น 'ธุรกิจซื้อหนี้' โควิดทำฟอร์มสวย !

3 หุ้น 'ธุรกิจซื้อหนี้' โควิดทำฟอร์มสวย !

อุตสาหกรรมเสน่ห์แรง! ท่ามกลางสารพัดปัญหาถาโถมเศรษฐกิจ ทว่า..ในวิกฤติมีโอกาส หนึ่งในธุรกิจ 'ดาวรุ่ง' ต้องยกให้ '3 บริษัทซื้อหนี้' ที่สร้างการเติบโต รายได้เป็นตัวเลข 'สองหลัก' เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อตามสัดส่วน 'หนี้เสีย' พุ่ง

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเปราะบาง! นับตั้งแต่ประเด็นเรื่อง 'สงครามการค้า' (Trade War) ระหว่างประเทศสหรัฐ-จีน ปะทุ จนกูรูหลายฝ่ายออกมาประเมินสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ 'ถดถอย' (Recession) ในไม่ช้า...

สิ่งที่ไม่คาดคิดยังเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 กับการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เข้ามาเป็น 'ตัวเร่ง' ให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่อยู่ในความเปราะบางอยู่แล้ว ถดถอยรุนแรงขึ้นอีก จนเมื่อต้นปี 2563 หลายประเทศต้องงัดมาตรการ 'ปิดเมือง' (Lock down) เพื่อสกัดการระบาด !

ข้ามมาที่ประเทศไทย สถานการณ์ไม่ต่างกัน เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตั้งแต่สงครามการค้า ที่ปะทุรุนแรงขึ้นในปี 2562 บ่งชี้ผ่านตัวเลข 'ส่งออก' ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าปี 2562 มีมูลค่า 246,244 ล้านดอลลาร์ 'ติดลบ' 2.65% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี! รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง เรือนักท่องเที่ยวล้มที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้นักลงทุนจีนลดลงมาก

สารพัดปัจจัยลบที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยยังประคับประคองมาได้ แต่ว่าสำหรับผลกระทบโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องหยิบยกมาตรการปิดเมืองมาใช้เช่นกัน (ช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2563) ซึ่งผลของการปิดเมืองนั้น แม้จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย 'เป็นศูนย์' ติดต่อกันมาหลายเดือน ทว่ากลับเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหนักหน่วง เช่นกัน จากทั้งปัญหาธุรกิจขาดสภาพคล่องทางการเงิน กำลังซื้อตกต่ำ ธุรกิจปลดคนงาน เดินมาถึงการประกาศปิดกิจการ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย) หรือ NPL พุ่งขึ้น

กลายเป็นอานิสงส์ 'ธุรกิจซื้อหนี้เสียมาบริหาร!' ที่ธนาคารพาณิชย์ในไทยต้องปล่อย NPL ดังกล่าวออกมาให้บริษัทบริหารหนี้ดำเนินการต่อ เพื่อลดระดับ NPL ของธนากลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดปัญหา...!

สอดคล้องกับ 'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะเรียกธนาคารพาณิชย์ และภาคเอกชน มาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณามาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค. นี้ โดยจะต้องพิจารณาถึงตัวเลข NPL รวมถึงแนวโน้มหนี้ที่จะเสีย ก่อนตัดสินใจว่ามีความจำเป็นต้องขยายมาตรการดังกล่าวหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นสุดมาตรการ

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้เตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้ที่อาจกลับมาชำระหนี้ไม่ได้หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อสนับสนุนและประคับประคองลูกหนี้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ส่วนมาตรการช่วยเหลือในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับมือกับระดับหนี้เสียที่อาจเพิ่มขึ้น ธปท. ได้เตรียมแพ็คเกจช่วยเหลือเพื่อประคองธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจไปพร้อมกัน โดยการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อมาดูแล NPL ที่อาจเพิ่มขึ้น เป็นทางเลือกหนึ่งที่กำลังพิจารณา ซึ่งมีแนวคิดดำเนินการเป็น Assets Warehousing โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาปรับเงื่อนไขมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจะดำเนินควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs

หากพิจารณา 'ธุรกิจติดตามหนี้' เป็น 'ธุรกิจดาวรุ่ง' ที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมติดตามหนี้ใน 'ระดับเลขสองหลัก' ท่ามกลางเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง ทำให้ตัวเลข NPL เพิ่มขึ้นในระดับสูง และหลายธุรกิจมีอัตรากำไรลดลงรุนแรง ต้องยกให้ '3 บริษัท' คือ

บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM ผู้ถือหุ้นใหญ่ 'กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน' สัดส่วน 45.79% บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ของ 'ตระกูลสุขุมวิทยา' โดยถือหุ้นผ่าน บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART สัดส่วน 52.67% และ บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ของ 'ตระกูลยศะสินธุ์' สัดส่วน 56.97% (ตัวเลข ณ ปิดสมุดทะเบียน 7 ต.ค.2563)

160286659573

ตารางผลประกอบการ 'กลุ่มซื้อหนี้'

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการที่ประกอบธุรกิจติดตามหนี้ที่จดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ช่วงปี 2561-2562 “กำไรสุทธิ” เติบโต อาทิ BAM อยู่ที่ 5,202.00 ล้านบาท และ 6,549.30 ล้านบาท JMT อยู่ที่ 505.52 ล้านบาท และ 681 ล้านบาท และ CHAYO อยู่ที่ 85.46 ล้านบาท และ 111.43 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” BAM อยู่ที่ 9,751.10 ล้านบาท และ 12,256.87 ล้านบาท JMT อยู่ที่ 1,885.83 ล้านบาท และ 2,550.74 ล้านบาท และ CHAYO อยู่ที่ 264.61 ล้านบาท และ 317.91 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2563 และ ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจาก 'วิกฤติโควิด-19' แต่ผลประกอบการของกลุ่มซื้อหนี้ที่ส่วนใหญ่ยังเติบโต โดย BAM กำไรสุทธิ 698.81 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 135.66 ล้านบาท JMT กำไรสุทธิ 206.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 226.94 ล้านบาท และ CHAYO กำไรสุทธิ 36.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 49.98 ล้านบาท

เมื่อธุรกิจซื้อหนี้มี 'สตอรี่บวก' เข้ามาสนับสนุนทิศทางการเติบโตในอนาคต และสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในไทยคลี่คลาย ภาครัฐคลายล็อกดาวน์ ก็มีโอกาสทำให้ผลประกอบการครึ่งปีหลัง 2563 กลับมาท็อปฟอร์ม !

สอดคล้องกับ เวลานี้ 'หุ้นกลุ่มซื้อหนี้' กลายเป็น 'จุดดึงดูด' นักลงทุนไซด์บิ๊ก หากอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น JMT และ CHAYO โดยมี 'ตระกูลเสรีวิวัฒนา' ถือหุ้น JMT และ CHAYO ซึ่ง 'ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา' นักลงทุนรายใหญ่ ถือหุ้น JMT คิดเป็น 1.70% และ 'พิชญ์สินี เสรีวิวัฒนา' คิดเป็น 1.37% ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ถือหุ้น CHAYO สัดส่วน 2.91% 'วราณี เสรีวิวัฒนา' 1.67% และ 'พิชญ์สินี เสรีวิวัฒนา' 0.76%

'สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT เปิดเผยในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) ว่า การดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2563 มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีกองหนี้ที่ตัดมูลค่าเงินลงทุนหมดแล้วจำนวน 42,781 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะไม่มีต้นทุนทางการเงิน และจะสามารถรับรู้รายได้เต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับกองหนี้ที่ไม่มีต้นทุน 100% บริษัทคาดหวังว่าจะสามารถเก็บกระแสเงินสดเข้ามาได้ภายในสิ้นปีนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท

โดยครึ่งปีแรกบริษัทมีพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพรวม 189,156 ล้านบาท และใช้เงินในการซื้อหนี้แล้ว 1,983 ล้านบาท จากงบลงทุนซื้อหนี้ปีนี้ที่วางไว้ 4,500 ล้านบาท คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีหนี้เสียที่ปล่อยออกมาจากกลุ่มสถาบันการเงินอีกจำนวนมาก ซึ่งบริษัทมีโอกาสใช้เงินเข้าซื้อหนี้เพิ่มสูงถึงระดับ 6,000 ล้านบาท โดยบริษัทเตรียมงบลงทุนเพิ่มเติมแล้ว

ทั้งนี้ พอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพดังกล่าว บริษัทใช้เงินลงทุนในการซื้อหนี้ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ได้เงินสดกลับมาแล้วประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับยอดจัดเก็บหนี้ในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,699 ล้านบาท โต 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และตั้งเป้าหมายสิ้นปีมียอดจัดเก็บหนี้ที่ 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จาก 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจติดตามหนี้สัดส่วนรายได้ 12% ธุรกิจซื้อหนี้เข้ามาบริหาร 79% และธุรกิจประกันผ่านบริษัทย่อย 9%

160286670874

สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์

'สันธิษณ์​ วัฒนกุล' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนการปฏิบัติงาน บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เปิดเผยในงาน Opportunity Day สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2563 คาดว่าจะฟื้นตัว หลังจากกรมบังคับคดีกลับมาจัดการขายสินทรัพย์ทอดตลาดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากยอดขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ดีขึ้นภายหลังจากการออกบูธจำหน่ายได้ จากการคลายล็อกดาวน์ในประเทศ

'ผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2 ปี 2563 จากผลกระทบโควิด-19 และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากกรมบังคับคดีเริ่มเปิดขายทอดตลาด และการออกบูธได้เพิ่มขึ้น'

โดยบริษัทยังคงเป้าหมายในการซื้อหนี้เสียปีนี้ มูลค่า 10,000-12,000 ล้านบาท โดยการคัดเลือกการซื้อ NPL ยังคงให้ความสำคัญกับการเลือกซื้ออย่าง 'ระมัดระวัง' และจะต้องมีความมั่นใจว่าจะได้ 'ผลตอบแทน' (รีเทิร์น) ที่ดีอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้ม NPL ในระยะต่อไปคาดว่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งปัจจุบัน NPL ที่อยู่ในตลาดขณะนี้ยังไม่รวมผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะเพิ่มเข้ามาภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของทางการ

'ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเจรจาขายทรัพย์ NPA -NPL ขนาดใหญ่ให้กับลูกค้า 2-3 ราย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เนื่องจากมีขั้นตอนในการดำเนินการ ทั้งระยะเวลาในการวางเงิน รวมถึงขั้นตอนอื่นๆ จะพยายามเร่งให้เร็วที่สุด'

'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินงานปัจจุบันเข้าซื้อ NPL เข้ามาบริหารเพิ่มแล้วมีมูลค่า 2,700 ล้านบาท ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 จะเร่งเข้าซื้อหนี้ให้ได้มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาทตามเป้าหมายปีนี้

'ช่วงไตรมาส 4 จะมีสถาบันการเงินทยอยปล่อยหนี้เสียออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะมีหนี้ออกมาในระบบจำนวนมากประมาณ 5.5 แสนล้านบาท'

ด้านธุรกิจการปล่อยสินเชื่อบริษัทปล่อยไปแล้วประมาณ 50 ล้านบาท จากเป้าหมายรวมปีนี้ 100 ล้านบาท โดยบริษัทคุมเข้มเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันระดับ NPL ไม่เกิน 3-4%

ขณะที่ บริษัทเตรียมย้ายตลาดซื้อขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่าจะดำเนินการได้เร็วสุดในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2564 เนื่องจากบริษัทต้องการเพิ่มสภาพคล่อง และโอกาสสำหรับกลุ่มนักลงทุนสถาบันรายใหญ่เพิ่ม หลังมีผู้สนใจทั้งสถาบันรายใหญ่ในประเทศ 2 ราย และสถาบันรายใหญ่ต่างประเทศอีก 2 ราย โดยกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าลงทุนได้เพราะติดเงื่อนไขการซื้อขายใน mai ทั้งนี้ปัจจุบัน CHAYO มีกลุ่มนักลงทุนสถาบันรายเล็กเข้าถือหุ้นประมาณ 10%

'หลังจากที่เรามีโอกาสไปงานโรดโชว์ต่างๆ มีกลุ่มสถาบันรายใหญ่สนใจ ซึ่งให้เหตุผลที่สนใจเราว่า CHAYO มีแนวโน้มธุรกิจเติบโตดี และเหมาะที่จะเข้าลงทุนในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ที่มีหนี้เสียออกมาจำนวนมากซึ่งเอื้อต่อบริษัทเรา เราจึงเตรียมพร้อมเข้าSET เพื่อโอกาสที่จะเกิดขึ้น'

160286677549

สุขสันต์ ยศะสินธุ์

'BAM-JMT-CHAYO' อนาคตสดใส !

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย บอกว่า มีมุมมองเป็นบวกกับหุ้น 'กลุ่มบริหารจัดการสินทรัพย์' (AMCs) ด้วย 4 ปัจจัยบวกคือ ข้อ 1. เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์หลักจากปริมาณ NPL ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นโอกาสที่ดีจะซื้อ NPLs ได้ในราคาถูก ข้อ 2. คาด NPL จากมูลค่าหนี้สินที่อยู่ใต้มาตรการช่วยเหลือที่ 10.4% คาดว่า 10.4% ของมูลค่าหนี้สินรวมที่ 7.2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจะกลายเป็น NPL ดังนั้น จึงคาดว่า NPL รวมในระบบจะเพิ่มขึ้นราว 747,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เทียบกับที่ 500,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ข้อ 3. ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการแข่งขันจะจำกัด คาดว่าปัจจัยเสี่ยงเรื่องการแข่งขันจะจำกัดจากงบประมาณในการซื้อ NPL ที่มีจำกัดของแต่ละบริษัทในกลุ่มและปริมาณ NPL ที่มากและคาดว่าต้นทุนดอกเบี้ยจะลดลง และ ข้อ 4. กำไรโดยรวมแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ต่อเนื่อง 2564 จากการเรียกเก็บเงิดสดที่สูงขึ้นของ NPL ที่มีและไม่มีหลักประกัน เราคาดว่า JMT จะรายงานกำไรของบริษัทเติบโตก้าวกระโดดขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ทำจุดสูงสุดใหม่เนื่องจากมีลูกค้า 90% ที่เป็นพนักงานประจำ

สำหรับ 'หุ้น BAM' มองว่า เส้นทางการฟื้นตัวกำลังรออยู่ โดยให้ราคาเป้าหมายใหม่ 28.75 บาทต่อหุ้น ซึ่งคาดกำไรสุทธิจะฟื้นตัวขึ้นแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง 2563 เพิ่มขึ้น 49% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหนุนจากการเรียกเก็บเงินสดที่ดีขึ้นจากทั้ง NPL และ NPA หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และกรมบังคับคดีกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และการที่บริษัทมุ่งเน้นไปยังการขยายสินทรัพย์ขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นความสามารถในการทำกำไรช่วงครึ่งปีหลัง 2563 บริษัทจะเริ่มบันทึกประโยชน์จากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีรวม 4.99 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ถึง 2564

'หุ้น JMT' มองว่า บริษัทจะเติบโตแบบ S-curve ให้ราคาเป้าหมายใหม่ 39 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่ากำไรครึ่งปีหลัง 2563 จะแตะ 'จุดสูงสุดใหม่' ด้วยแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการเรียกเก็บเงินสดและการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้น จากพอร์ตที่ตัดต้นทุนเต็มจำนวนแล้ว ทั้งนี้การเรียกเก็บเงินสดของ JMT ยังมีภาพรวมที่แข็งแกร่ง เนื่องมีลูกค้าราว 90% เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังรักษาตำแหน่งงานไว้ได้ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19

นอกจากนี้ JMT ยังมีเงินทุนเพียงพอต่อแผนการลงทุนเชิงรุก โดยมีเงินทุนเพียงพอต่อการซื้อ NPL ครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องปี 2564

และ 'หุ้น CHAYO' มองว่า เป็นบริษัทน้องเล็กสุดแต่จะแข็งแกร่งแต่วัยเยาว์ โดยให้ราคาเป้าหมายใหม่ 9.40 บาทต่อหุ้น คาดว่าการเรียกเก็บเงินสดในไตรมาส 3 ปี 2563 ดีกว่าไตรมาส 1 และ 2 ปี 2563 จากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคธุรกิจในประเทศที่ช่วยกระตุ้นการขาย NPAs และการเรียกเก็บเงินจาก NPL จะยังปรับสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4 ปี 2563 ถึงครึ่งปีแรก 2564 หลังจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นสุดลง นอกจากนี้ บริษัทมีแผนปรับลดต้นทุนดอกเบี้ย 2-3 ปีข้างหน้า