นายกฯ เปิดงาน 'GCNT FORUM 2020' หนุนทุกฝ่ายพาไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ปี 2573

นายกฯ เปิดงาน 'GCNT FORUM 2020' หนุนทุกฝ่ายพาไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ปี 2573

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” ในโอกาสการครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ และครบรอบ 75 ปีสหประชาชาติ พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต"

เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” ในโอกาสการครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และครบรอบ 75 ปีสหประชาชาติ (United Nations) จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคมฯ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิกของสมาคมฯ  ผนึกกำลังเพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากสถานการณ์ COVID-19” โดยเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน มีใจความว่า ประเทศไทยเราโชคดีที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งเราจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 แม้ว่าเราจะมีเวลาไม่มาก แต่เชื่อมั่นว่าเราคนไทย หากร่วมมือร่วมใจกัน ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล และขอชื่นชมบทบาทของภาคเอกชนในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมมือกันบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สามารถมีบทบาทสำคัญได้อย่างแน่นอน  ในการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ 

159884534299

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator - UNRC) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในการผนึกกำลังของภาคธุรกิจและมุ่งมั่นที่จะบรรลุ SDGs โดยเราต้องร่วมมือกันใน 3 เรื่องสำคัญ ประการแรก คือ การสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ประการที่สอง การสร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประการที่สาม

การสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะในปี 2020 นี้ เราเข้าสู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำที่เรียกร้องให้การผนึกกำลังกัน เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดหลักการทำงานร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกัน  เราเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ SDGs เป็นจริง และเชื่อในพลังของผู้นำภาคธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างงาน รวมทั้งค้นหาแนวทางที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่นำพาประเทศฝ่าวิกฤตโควิดมาได้ถึงจุดนี้ ทำให้มีการติดเชื้อและสูญเสียชีวิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับนานาประเทศ

1598849028100

ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากมองในเชิงมูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน จะพบว่าสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เราเผชิญอยู่จะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เราก็ยังต้องเตือนตัวเองว่า ยังมีวิกฤตอื่นอีก ที่ยังคุกคามมนุษยชาติ อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำที่ขาดความสมดุลของเราเอง และด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทับถมและรุมเร้ามนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เราได้เผชิญมาก่อนโควิดเหล่านี้นับจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นความตระหนักรู้ถึงปัญหาของผู้นำในทุกภาคฝ่ายจึงเป็นภารกิจสำคัญของเรา และเมื่อผู้นำมีความตระหนักรู้แล้ว

พร้อมกันนี้  องค์กรสมาชิกทั้งหมดได้แสดงความพร้อมขับเคลื่อนไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ว่า จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ UN Global Compact และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียให้เดินหน้าไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น และจากสมาชิกสมาคมฯ ทั้งหมดนั้น สมาชิกจำนวน 21 องค์กรได้ประกาศการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุ SDGs ภายในปี 2573  รวมจํานวน 998 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท อาทิ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่ม ปตท. กลุ่มมิตรผล แพรนด้ากรุ๊ป และบริษัทสมาชิกอื่นๆ อีกด้วย

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ในฐานะองค์กรสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิด SDGs และหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักการดำเนินธุรกิจของไอวีแอล ซึ่งเป็นความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าในระยะยาวมากกว่าผลกำไรระยะสั้น โดยไอวีแอลได้เดินหน้าสร้างความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เพื่อลดปริมาณพลาสติกที่เป็นของเสีย และนำมารีไซเคิลสร้างคุณค่าได้อีก โดยตั้งเป้าหมายที่จะลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรีไซเคิล PET หลังการบริโภค จำนวน 750,000 ตัน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ อินโดรามา เวนเจอร์สยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะลงทุนด้านความยั่งยืนรวม 1 พันล้านบาท ในโครงการต่างๆ ประมาณ 45 โครงการ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 เราเชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกันของไอวีแอลในฐานะองค์กรสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จะทำให้ประเทศสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งในปัจจุบัน และสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

159884900431

งาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs”  จัดขึ้น ณ  ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) และสหประชาชาติ โดยมีผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงาน  อาทิ  ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทน UN Global Compact ผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ที่มาผนึกกำลังร่วมกับสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นภาคีเครือข่ายที่ด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  โดยได้สร้างแรงบันดาลใจและผนึกกำลังการทำงานร่วมกัน  ผ่านการเสวนาใน 4 หัวข้อ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน  แรงงาน สิ่งแวดล้อม  และการต่อต้านการทุจริต  ร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตามหลักการสากล 10 ประการของ UN Global Compact และแสดงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่จะบรรลุ SDGs ภายในปี 2573