นายกฯ-ธุรกิจร่วมดึง 'BCG' ดันศก.แตะ 4.4 ล้านล้านบาท

นายกฯ-ธุรกิจร่วมดึง 'BCG' ดันศก.แตะ 4.4 ล้านล้านบาท

ท่ามกลางวิกฤติและความไม่แน่นอนโลกยุคโควิด-19 การตั้งหลักเร็วและกำหนดเป้าหมายเดินหน้าต่อไปอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงทางรอดทางประเทศแต่ยังเป็นการเร่งเครื่องเศรษฐกิจให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดดอีกด้วย

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังการนำนักธุรกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (8 มิ.ย.) ว่าตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงอว.เป็นหน่วยงานหลักในการเร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bioeconomy,Circular Economy, Green Economy) หรือ “BCG” เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ในโอกาสนี้ได้นำนักธุรกิจและผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานเรื่อง BCG มาพบนายกรัฐมนตรีและรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า BCG ถือว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากโควิด-19 โดยตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายด้านทั้งการจ้างงาน สาธารณสุขการพัฒนายาและวัคซีน ความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ตามโมเดล BCG จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากปัจจุบันปีละ 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าให้จัดสรรงบประมาณผูกพันต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นรูปธรรมโดยเริ่มต้นตั้งแต่งบประมาณปี 2564 เป็นต้นไป

“การใช้BCG โมเดลอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำมาปรับภาพลักษณ์ของประเทศไทย (Rebranding Thailand) ภายหลังการเกิดโรคระบาดโควิด – 19 รวมถึงเชื่อมโยงบนฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่น และเชื่อมประเทศไทยกับประชาคมโลกต่อไป”

สำหรับหลักการสำคัญของนโยบาย BCG ได้แก่ 1.ปรับจากรัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก ไปสู่เอกชนลงทุนนำภาครัฐส่งเสริมโดยการสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้เอกชนมีสัดส่วนของการลงทุนในการพัฒนาที่สูงกว่ารัฐ 2. ปรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อแก้ปัญหา ไปสู่การลงทุนภาครัฐเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ 3. ปรับระบบการจัดสรรงบประมาณรายปี ไปสู่ระบบการจัดงบประมาณเพื่อการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง

159162289839

4. ปรับการสนับสนุนทุนวิจัยรายโครงการ ไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัยครบวงจร (วิจัย พัฒนา สู่การผลิตและจำหน่าย: RDIM) 5. ปรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยึดโยงอุตสาหกรรมเดิม ไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ 6. ปรับการเติบโตของประเทศโดยการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกประเทศ ไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก และ 7. ปรับจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน

ทั้งนี้ กระทรวง อว.ได้มีการทำงานร่วมกับตัวแทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่องโดยแบ่งการทำงานเป็น 7 กลุ่มย่อยซึ่งเป็นการระดมสมองของผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของไทยด้าน เกษตร อาหาร และ พลังงานมาทำงานร่วมกันและนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนให้กับรัฐบาลประกอบด้วย 1.กลุ่มเกษตร โดยมี ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีต รมช.เกษตรเป็นประธาน 2.กลุ่มอาหาร โดยมี ธีรพงศ์ จันศิริประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)เป็นประธาน 3.กลุ่มยาและวัคซีน โดยมี ศ. คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน 4.กลุ่มเครื่องมือแพทย์ โดยมี ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน

5.กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ โดยมี เทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน และมีอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล ช่วยทำเรื่องพลังงานชุมชนและไบโอชีวภาพ 6.กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และ 7.กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี วิจารย์ สิมาฉายา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน

เพื่อให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจนอิสระ ว่องกุศลกิจ จากกลุ่มพลังงานฯ กล่าวว่านโยบาย BCG โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับไบโออีโคโนมี่ถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยโดยมิตรผลเองได้ลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าประเภทน้ำตาล และวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องไปยังสินค้าที่มูลค่าสูงมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ  1 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้มองว่าสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้แม้จะมีความลำบากแต่ก็ยังมีโอกาสที่รออยู่มาก และรัฐบาลสามารถคุมโควิด-19 ได้ดีก็เป็นจังหวะที่เอกชนควรจะลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมรับโอกาสในระยะต่อไป

“เศรษฐกิจแม้จะยากลำบากแต่เอกชนที่มีเงินสดก็ยังมีมาก สินค้าบางอย่างก็ยังขายดี แสดงว่ามีคนที่ยังมีกำลังซื้อ หากมีความพร้อมก็ควรที่จะลงทุนเพื่อรอโอกาสที่จะมาถึงในอนาคต ส่วนรัฐบาลก็ต้องช่วยเรื่องการหาตลาดเพิ่มมากขึ้น”

โมเดลบีซีจี ในประเทศไทยแม้กำลังเริ่มต้นแต่การดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่แล้วในประเทศมาใช้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดได้แม้อยู่ในท่ามกลางวิกฤติ