ธปท. เปิดทดสอบ ให้สินเชื่อ ‘บุคคล กับ บุคคล’ เพิ่มทางเลือก ให้ผู้กู้

   ธปท. เปิดทดสอบ ให้สินเชื่อ ‘บุคคล กับ บุคคล’ เพิ่มทางเลือก ให้ผู้กู้

ธปท. อนุมัติธุรกิจ เข้าทดสอบ การให้สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล หวังเป็นทางเลือกให้ผู้กู้เข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่ม

     นางสาวสิริธิดา พนมวัน อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เห็นชอบให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) เข้าทดสอบการให้บริการในวงจำกัด ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท.

      ได้แก่ บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นรายแรก ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

      โดย ผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นตัวกลางสนับสนุนให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการทำสัญญาสินเชื่อการนำส่งเงินกู้และจ่ายคืนเงินกู้ หรือติดตามหนี้

      ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของผู้ให้กู้

     โดยกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตและ ธปท. ได้กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจต้องทดสอบการให้บริการในวงจำกัดภายใต้ Regulatory Sandbox จนประสบความสำเร็จ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารความเสี่ยงและดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจในวงกว้างต่อไป

    สำหรับการพิจารณาให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform เข้าทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox นั้น       

      ธปท. ให้ความสำคัญกับการมีระบบงานและกระบวนการรองรับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม มีการดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัย ความเสี่ยงด้านการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ตลอดจนประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการ

     โดยสร้างความตระหนักถึงการก่อภาระหนี้สินที่ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ใช้บริการ

     ซึ่ง ธปท. จะติดตามอย่างใกล้ชิดในระหว่างการทดสอบ เพื่อให้ระบบงานมีความมั่นคงปลอดภัย มีความเสถียรเชื่อถือได้ และมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม โดยเมื่อผู้เข้าร่วมทดสอบประสบความสำเร็จในการทดสอบและมีความพร้อมให้บริการในวงกว้างแล้ว ธปท. จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อไป