สถานการณ์ 'ค้าปลีกไทย' ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19

สถานการณ์ 'ค้าปลีกไทย' ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ อย่างเช่นธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องปิดชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจาย จึงนับว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นเสมือนบททดสอบที่หนักหน่วงเอาการ

วิกฤติโควิด-19 นับบททดสอบความอึด-ถึก-ทน ของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยครั้งใหญ่

  • เมื่อโรคร้าย กรรมซัด บวกกับภัยแล้ง วิบัติซ้ำ ผลกระทบกับกลุ่มใด

วิกฤติโควิด-19 คนในสายอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจนสูญเสียงานหรือรายได้ เช่น ไกด์ เจ้าของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือจาก การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคเป็นการชั่วคราว เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาดนัด นักร้อง/นักแสดงตามสถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีเกือบ 20% ของผู้มีงานทำทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น พนักงานในโรงงานที่อาจปิดสายพานการผลิตบางส่วน เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าลดลงไปมาก โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมกระจายตัวอยู่ทั้งในภาคเกษตร (30% ของผู้มีงานทำ) ภาคอุตสาหกรรม (16% ของผู้มีงานทำ) และ ภาคบริการอื่นๆ (17% ของผู้มีงานทำ) ส่วนผลกระทบจากภัยแล้ง ข้อมูลเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ภาคเกษตรกรที่จะได้รับ ความเดือดร้อนจากภัยแล้ง 9 ล้านครัวเรือน

  • ปัญหาด้านอุปทานการผลิต ไม่ใช่ปัญหาหลักด้านอุปสงค์

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลออกมาดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยงบประมาณพิเศษ 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหรือถดถอยมากไปกว่านี้

โดยมุ่งเน้น 2 ด้าน คือ การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อไม่ให้เกิดการล้มละลายของธุรกิจอย่างเป็นลูกโซ่ และการใส่เงินแก่ประชาชนระดับกลางจนถึงรากหญ้า เพื่อช่วยค่าครองชีพและลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน ไม่ว่าโครงการให้เงิน 5,000 บาท 3 เดือน แก่ผู้มีอาชีพอิสระ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โครงการให้เงินแก่เกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพในภาวะวิกฤติกระทบภัยแล้ง พ.ร.ก. เงินกู้ ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี

  • ธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวในแบบตัว U มากกว่าตัว V แต่ก็อาจเป็น L ได้

ผู้เขียนประเมินว่าสถานการณ์น่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาด การแพร่ระบาดของไวรัสนี้เริ่มพีคสุดๆ ในเดือน เม.ย. และจะผ่านจุดสูงสุดของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในเดือนพ.ค. หลังจากนั้นสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าราว 3-4 เดือน แต่ก็จะยังอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง และจะสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือน มิ.ย.

นั่นหมายถึงเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดเต็ม 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 และมีผลต่อเนื่องอาฟเตอร์ช็อก! อีก 3-4 เดือน ด้วยมาตรการที่แม้ว่าจะผ่อนคลายแต่ก็จะยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

การฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกจะค่อยเป็นค่อยไป ใกล้เคียงกับตัว U มากกว่าตัว V แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อยาวนาน มาตรการการยึดตรึงประชาชนให้ อยู่ติดบ้านยังคงดำรงอยู่ถึงเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. เราอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในรูปตัว L ก็เป็นได้!

ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เราพึ่งพิงกับรายได้การท่องเที่ยว 20% ของจีดีพี รายได้จากการส่งออก 60% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่าเราพึ่งพา ”ภาคต่างประเทศ” เป็นหลัก อีกทั้งวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมมีจำนวนมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน

ข้อมูลของ สสว.พบว่า เอสเอ็มอีทั่วประเทศเป็นวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) 3,029,525 ราย วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) 40,652 ราย (วิสาหกิจขนาดกลาง ภาคผลิต แรงงานไม่เกิน 200 คน รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคบริการ แรงงานไม่เกิน 100 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท และภาคการค้าแรงงานไม่ เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท)

วิกฤติโควิด-19 รอบนี้มีผลกระทบซึมลึกและกว้างไปทุกระดับของธุรกิจ ภาคบริการและผู้มีระดับของผู้มีรายได้ การฟื้นตัวกลับมาจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า เพื่อนบ้าน

  • สภาพคล่องธุรกิจ (Cash Is King)

วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไม่มีสัญญาณบอกกล่าวล่วงหน้า ความไม่แน่นอน Uncertainty เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ผู้เขียนเชื่อว่า เรายังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน สิ่งที่ไม่คาดฝัน สิ่งที่เราพยากรณ์คาดเดาไม่ได้ ต่อไปอีกพักใหญ่อาจจะถึงสิ้นปี สภาพคล่องธุรกิจ (Cash Is King) จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องแน่นอนสุดๆ ในภาวะ ความไม่แน่นอนสุดๆ เช่นกัน