รัฐบาลอัดงบกลาง 'กรมชลฯ' เร่งเพิ่มน้ำต้นทุน 'อีอีซี'

รัฐบาลอัดงบกลาง 'กรมชลฯ'  เร่งเพิ่มน้ำต้นทุน 'อีอีซี'

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน บูรณาการส่วนราชการจังหวัด เอกชนในพื้นที่ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้น้ำในอีอีซี มีเพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2563

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเร่งดำเนินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ โดยแผนงานอีอีซีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบลำน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ประกอบไปด้วยลำน้ำสำคัญ 4 สาขาได้แก่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกด และคลองพวาใหญ่ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุเก็บกัก 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ความจุเก็บกัก 68 ล้าน ลูกบาศก์เมตรและอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุเก็บกัก 81 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2564-2565

อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดว่าจะเปิดโครงการได้ในปี 2564 หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถเก็บกักน้ำรวมกันได้กว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบงบกลางเพื่อบรรเทาภัยแล้ง 8,308 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นงบประมาณสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งในอีอีซี วงเงิน 180.74 ล้านบาท ให้กรมชลประทานเร่งดำเนิน 11 โครงการ เช่น โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร ไปสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี 

รวมถึงโครงการแก้มลิง หนองไก่เตี้ย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และโครงการแก้มลิงคลองมะหาด อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

รวมทั้งอนุมัติงบประมาณ2.5 ล้านบาท ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 3 โครงการ เช่น งานขุดขยายเพิ่มความจุสระพักน้ำดิบคลองไผ่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และงานขุดขยายเพิ่มความจุดสระน้ำดิบบ่อทอ

158660860612

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า สกพอ.ได้สรุปความคืบหน้ามาตรการน้ำในภาคตะวันออก โดยการพร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเติมน้ำ 3 อ่างหลัก พื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ซึ่ง สทนช. ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อให้ปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซีมีเพียงพอ ประกอบด้วย

1.อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง แบ่งปันน้ำ จากอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ระบบสูบผันน้ำคลอง วังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ช่วงระหว่างวันที่ 1–25 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และสร้างระบบสูบกลับชั่วคราว จากคลองสะพานเพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ มีปริมาณน้ำประมาณ 0.15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

2.อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 0.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพิ่มอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งดำเนินการซ่อมแซมระบบสูบกลับจากแม่น้ำระยอง เพื่อสูบน้ำในกรณีฝนตกในพื้นที่ มีปริมาณน้ำประมาณ 0.10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะใช้น้ำจากคลองน้ำหู เพื่อช่วยลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ประมาณ 0.05 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

3.อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี 3 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ลงแม่น้ำบางปะกง สูบต่อไปที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณ 0.18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

รวมทั้งมีมาตรการเสริม 4 มาตรการรองรับ เพื่อสร้างความมั่นใจน้ำเพียงพอความต้องการ เพิ่มจากมาตรการเร่งด่วนเพิ่มปริมาณในอ่างเก็บน้ำหลักของพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ประกอบด้วย 1.เร่งเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชน เข้าในระบบน้ำของ จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.รณรงค์ความร่วมมือลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ลดลง 10%

3.ลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าเอกชน โดยขอความร่วมมือให้เดินระบบ Stand by หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น และ 4.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ลดการใช้น้ำ 10%