ใส่เกียร์ถอย 'หุ้นชิ้นส่วนฯ' โควิด-19ทำธุรกิจ 'ทรุด' !

ใส่เกียร์ถอย 'หุ้นชิ้นส่วนฯ' โควิด-19ทำธุรกิจ 'ทรุด' !

อุตสาหกรรมรถยนต์-ชิ้นส่วน กำลังเผชิญความท้าทายอีกครา ! หลังโควิด-19 ระเบิดความรุนแรงทั่วโลก ล่าสุด ค่ายรถใส่เกียร์ถอย หยุดผลิตชั่วคราว สะท้อนดีมานด์ทั่วโลกชะงัก '2บิ๊กเอกชน' กุมขมับรายได้ 'วูบ' ยอดขายก.พ.ต่ำสุดรอบ 10 ปี

ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ตกอยู่ในสถานการณ์ 'ไม่สวยหรู' นับตั้งแต่ปี 2562 หลังเผชิญปัจจัยลบซัดเข้ามาไม่หยุด ! ไล่มาตั้งแต่ กำลังซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน หลังตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูง , ค่าเงินบาทแข็งค่า , สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างจีน–สหรัฐ

สะท้อนผ่านฐานะการเงินและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของเหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปรับตัว 'ลดลงถึงขั้นขาดทุน' ต่อเนื่อง ในช่วง 2 ปีย้อนหลัง (ปี 2561-2562) โดยเฉพาะ 3 ผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่าง บมจ.อาปิโก ไฮเทค หรือ AH , บมจ.สมบูรณ์แอดวานซ์ หรือ SAT บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า หรือ STANLY

โดย 'หุ้นAH' มี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 1,299.16 ล้านบาทในปี2561 และขาดทุน 181.11 ล้านบาทในปี2562 ขณะที่มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 6,129.09 ล้านบาทในปี2561 และ 4,774.24 ล้านบาทในปี2562 , 'หุ้น SAT' มีกำไรสุทธิ 915.60 ล้านบาท และ 894.64 ล้านบาท มีมาร์เก็ตแคป 6,505.47 ล้านบาท และ 6,633.02 ล้านบาท ,'หุ้น STANLY' มีกำไรสุทธิ 1,658.66 ล้านบาท และ 1,977.76 ล้านบาท ล่าสุดไตรมาส 3 (1 ต.ค.-31 ธ.ค.2562) อยู่ที่ 1,395.22 ล้านบาท ขณะที่มาร์เก็ตแคป 16,321.12 ล้านบาท และ 13,792.50 ล้านบาท ตามลำดับ

158652018995

ตารางผลประกอบการย้อนหลัง 'กลุ่มชิ้นส่วนฯ

สารพัด 'ปัจจัยลบ' กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนฯ ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยหลากหลายภาคส่วนออกมาประเมิน 'ยอดการผลิตรถยนต์' ปี 2563 ของประเทศไทยอยู่ที่จำนวน 2 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าปี 2562 ที่ทำได้ 2.01 ล้านคัน ขณะที่ปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ ! จากการแพร่ระบาด 'ไวรัสโคโรนา' สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) จนถึงปัจจุบันการระบาดของโรคยังไม่ยุติ ส่งผลให้หลายประเทศตัดสินใจประกาศ 'ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ' เพื่อหวังหยุดยั้งการแพร่ระบาด

หันมามองเมืองไทย ! ในแง่ของภาคธุรกิจไม่ต้องพูดถึง เมื่อ 'มาตรการลดความเสี่ยง' ของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยภาครัฐประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ไปจนถึง 30 เม.ย. นี้ สิ่งที่ตามมานั่นคือ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนเป็นวงกว้าง เงินหมุนเวียนในระบบหยุดชะงัก แรงงานขาดรายได้ หลังผู้ประกอบการหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว!

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศเดือนก.พ.2563 พบว่า ยอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 150,604 คัน ลดลง 17.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นยอดผลิตประจำเดือน ก.พ. ที่ถือว่ามีตัวเลข 'ต่ำสุดในรอบ 10 ปี !'

โดยมี 'ปัจจัยลบ' ที่กดดันยอดผลิตรถยนต์ คือ 'ยอดขายในประเทศ' ที่ปรับตัวลดลง 17.1% มาอยู่ที่ 68,271 คัน สาเหตุการลดลงเกิดจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน (แบงก์) ในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อรถยนต์ใหม่หดหายไปอย่างชัดเจน และ 'การส่งออก' (Export) ลดลง 5.3% เป็น 95,101 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปัจจัยลบดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยอยู่ในสภาวะ 'เสือลำบาก' ! จากยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2555 ที่ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 'ระดับ 2.4 ล้านคน' นับเป็นสถิติสูงสุด !

เมื่อย้อนดูอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนฯ ยังถือเป็นอุตสาหกรรม 'อันดับ 1' ที่สร้างการลงทุนและเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศไทยในแง่ของ 'ส่งออก' (Export) หรือคิดเป็น 10% ของ 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี'

ทว่าวันนี้ 'โจทย์' การทำธุรกิจเปลี่ยนไป หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการต้องเร่งปรับแผนธุรกิจฉบับใหม่ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้

**ติดไฟแดงไม่พอแล้ว ต้อง..ใส่เกียร์ถอย !

'นฤดม มุจจลินทร์กูล' ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ บอกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การชะลอตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ ! เมื่อต้นปี 2563 จากปัญหาของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านการซื้อรถยนต์ใหม่ภายในประเทศและการส่งออก ทำให้ปรับประมาณการยอดขายรถยนต์รวมในปีนี้อีกครั้งจาก 1.95 ล้านคัน ลดลง 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็น 1.75 ล้านคัน ลดลง 15.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

เป็นตัวเลข 'ต่ำสุดในรอบ 10 ปี !' นับตั้งแต่สมัยน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 และตัวเลขประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ต่ำกว่าที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดไว้ที่ 1.9 ล้านคันค่อนข้างมากด้วย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการ 'ลดความเสี่ยง' การแพร่ระบาดด้วยการปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เป็นระยะเวลาราว 20 วัน จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนเป็นวงกว้าง ทำให้คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือน มี.ค.-พ.ค. 2563 (เป็นอย่างน้อย) จะ 'ลดลงรุนแรง' ที่ระดับ 25-30% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ประเทศคู่ค้ารถยนต์ของไทยก็ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเริ่มมีมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน อย่างประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของไทย ที่เริ่มปิดประเทศ เป็นต้น

ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ 'ร่วง' รุนแรงกว่า 60% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทำให้มองว่าทวีปตะวันออกกลาง ทวีปที่ประเทศไทยส่งออกรถยนต์สูงเป็นอันดับที่ 3 อาจมีการชะลอซื้อรถยนต์ใหม่ เหมือนกับสมัยปี 2558-2559 ที่จำนวนรถยนต์ส่งออกลดลงระดับ 20-30% เทียบกับช่วงเดียวกัน เป็นระยะ 2 ปีติดต่อกัน ทำให้เชื่อว่าด้านการส่งออกรถยนต์ของไทยจะลดลงราว 20-25% เทียบกับช่วงเดียวกันในเดือน มี.ค.-พ.ค. (เป็นอย่างน้อย)

อย่างไรก็ตาม คงน้ำหนักการลงทุน 'น้อยกว่าตลาด' หรือควรหลีกเลี่ยงการลงในระยะสั้น เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง มี.ค.-เม.ย. 2563 ได้รุนแรงมากที่สุด ! โดยยังคงแนะนำให้ติดตามยอดผลิตรถยนต์ในเดือน มี.ค. อีกครั้งก่อนตัดสินใจการลงทุนอีกครั้ง

158652047057

นฤดม มุจจลินทร์กูล

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า 'หุ้นกลุ่มยานยนต์' ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน และคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ชะลอตัวจาดช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดส่งออกที่ 'ต่ำสุดในรอบ 7 ปี' โดยการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ขณะที่แนวโน้มในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คาดยังแย่ต่อ! โดยประมาณการยอดผลิตรถยนต์ไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 470,000 คัน ลดลง 16% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน ปรับลดลง 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำกว่าที่ ส.อ.ท. คาดที่ 1.9 ล้านคัน รวมทั้งปรับลดประมาณการกำไรหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์จากเดิม 11% สะท้อนผลกระทบโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าคาด หลังค่ายรถประกาศหยุดการผลิตใน เม.ย. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงมากขึ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ด้วยกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับภาครัฐประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทางค่ายรถยนต์เลื่อนจัดงานมอเตอร์โชว์ ที่เดิมจะจัด ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-5 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายในเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะมีตัวเลข 'ติดลบสองหลัก' (double-digit)

ขณะที่สถานการณ์การลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ลดลง หลังจากที่ทางค่าย GM ประกาศยกเลิกสายการผลิตทั้งหมดในประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ 7 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ อย่าง อีซูซุ , โตโยต้า , ฮอนด้า , มิตซูบิชิ , ฟอร์ด , มาสด้า และ นิสสัน ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวในเดือน เม.ย เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม คงมุมมองเป็นลบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ จากผลประกอบการที่อ่อนแอในปีนี้ ทว่าราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับลดลงต่อเนื่องสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควร

สอดคล้องกับ 'เอกชนรายใหญ่' อย่าง 'เย็บ ซูชวน' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อาปิโก ไฮเทค หรือ AH เล่าให้ฟังว่า คาดว่าภาพรวมยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ปี 2563 จะมีจำนวน '2 ล้านคัน' โดยเป็นยอดขายในเมืองไทย 1 ล้านคัน และต่างประเทศ 1 ล้านคัน ซึ่ง 'ลดลง' จากปี 2562 โดยมองว่าปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในกลุ่มทวีปยุโรป และสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่ในประเทศจีน ปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นแล้ว หลังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะต้องมีการรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้งว่าจะยืดเยื้อยาวนานมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันบริษัทยังไม่มีแผนจะขยายไปยังตลาดใหม่ๆ ท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ยังคงประเมินได้ยากมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป และ สหรัฐ ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะจบในระยะสั้น หรือไม่เกินช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเห็นจากตัวอย่างของประเทศจีนที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

'ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 นี้ เรายังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้น หลังจากในกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐ และอื่น ๆ อีกมาก ที่มีการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างรุนแรง' เจ้าของ AH ย้ำเช่นนั้น

สำหรับ ผลการดำเนินงานปีนี้บริษัทคาดการณ์ ว่า จะกลับมามีกำไรสุทธิได้ หลังจากปี 2562 มีผลประกอบการขาดทุนอยู่ 181.11 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้จะไม่มีการตั้งสำรองรายการพิเศษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเหมือนกันในงวดปีก่อนแล้ว ที่ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และด้อยค่าสินทรัพย์ ประมาณ 1,000 ล้านบาท

158652059016

ยอดผลิตรถยนต์เมืองไทย

ด้าน 'ณัฐขจร ญาณภิรัต' รองกรรมการผู้อำนวยการ สายการเงิน บัญชี และเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SAT คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน จากปีก่อนที่มียอดการผลิตราว 2.01 ล้านคันซึ่งทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะ 'ลดลง 5-7%' รวมถึงคาดว่ายอดการผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตรจะลดลงเล็กน้อย จากปีก่อน เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ดังนั้น บริษัทคาดรายได้ปี 2563 ลดลง 7-10% จากงวดปี 2562 ที่มีรายได้ 8,257 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ด้วยการบริหารต้นทุนด้านการผลิต รวมถึงหากลยุทธ์หาคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากลูกค้าในกลุ่มเดิมเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของชิ้นส่วนยานยนต์ในรูปแบบของโมเดลแบบใหม่ และเน้นการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น

แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 คาดว่าจะต่ำกว่าไตรมาส 1 ปี 2562 ประมาณ 10% เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีปริมาณการผลิตรถยนต์ที่มากกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามภาวะของการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ส่วนโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในรถยนต์ประเภท EV (รถยนต์ไฟฟ้า) นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อะไหล่ยานยนต์สำหรับบริษัทสามารถใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้

'เราคาดว่าปีนี้รายได้น่าจะลดลงจากปีก่อน เป็นไปตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ปรับตัวลง จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงเป็นหลัก ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรายังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ'

+++++++++++++++++++

7 ค่ายรถยนต์ ปิดโรงงานชั่วคราว

ในช่วงที่ผ่านมา มีค่ายรถยนต์ที่ประกาศปิดโรงงานทั้งหมดและปิดโรงงานบางส่วน พร้อมปรับแผนการดำเนินงาน ในช่วงที่รัฐประกาศภาวะฉุกเฉินช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว '7 ค่าย' ด้วยกัน (ข้อมูลวันที่ 2 เม.ย.2563) และคาดว่าในอนาคตอาจจะมีอีกหลายแห่งที่ต้องปรับแผนงานเช่นกัน

สำหรับ 7 ค่ายรถยนต์ที่ประกาศ ได้แก่ อีซูซุ , โตโยต้า , ฮอนด้า , มิตซูบิชิ , ฟอร์ด , มาสด้า และ นิสสัน ซึ่งแต่ละค่ายรถยนต์ต่างประกาศหยุดในช่วงเวลาแตกต่างกัน เริ่มจาก 'ค่ายอีซูซุ' ประกาศจะระงับการผลิตรถในไทยชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13-30 เม.ย. 2563 โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ชิ้นส่วนต่างๆ ขาดแคลนทั่วโลกรวมทั้งความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกหดตัวลง

'ค่ายโตโยต้า' ได้ประกาศหยุดไลน์การผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7-17 เม.ย. 2563 โดยให้พนักงานติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมกลับมาทำงานทันทีที่ได้รับแจ้งจากบริษัท 'ค่ายฮอนด้า' แจ้งหยุดการเดินสายประกอบรถยนต์ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

'ค่ายมิตซูบิชิ' ปิดไลน์ผลิตชั่วคราว สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทประกาศหยุดแต่ละโรงงานโดยมีไทม์ไลน์แตกต่างกัน โรงงานที่ 1 หยุดตั้งแต่วันที่ 1-26 เม.ย. 2563 โรงงานที่ 2 หยุดบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. โรงงานที่ 3 หยุดบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เม.ย. 2563 ส่วนโรงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 4 แห่งหยุดกิจการบางส่วนเหลื่อมวันช่วงระหว่างวันที่ 1-22 เม.ย. เป็นต้น

'ค่ายฟอร์ด' ปิดโรงงานชั่วคราว 2 แห่ง ได่แก่ ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-20 เม.ย. 2563 'ค่ายมาสด้า' หยุดสายการผลิตชั่วคราวโรงงาน Auto Alliance Thailand (AAT) จำนวน 10 วัน เริ่มตั้งแต่ 30 มี.ค. เป็นต้นไป และ “ค่ายนิสสัน” หยุดไลน์การผลิตชั่วคราวโรงงานที่ 2 ในจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่. 6 เม.ย.-3 พ.ค. 2563 และปรับแผนการผลิตโรงงานที่ 1 ในจังหวัดสมุทรปราการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด