'แกร็บ' เนื้อหอม 'แบงก์ไทย' แห่ร่วมลงทุน

'แกร็บ' เนื้อหอม 'แบงก์ไทย' แห่ร่วมลงทุน

“กรุงศรี” มีแผนเข้าลงทุนใน “แกร็บ” ผ่าน“ กรุงศรีฟินโนเวท” ตาม MUFG บริษัทแม่จ่อเข้าลงทุนกว่า  700 ล้านดอลลาร์  วางเป้าขยายให้บริการลูกค้าของแกร็บในไทย ด้าน “กสิกรไทย” ซึ่งเข้าลงทุนในแกร็บมาก่อน ไม่หวั่นมีคู่แข่งเพิ่ม เดินหน้าพัฒนาโปรดักส์

แกร็บ (Grab) เดินหน้าทำธุรกิจการเงินในไทย ผ่านแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย จากฐานลูกค้าผู้ขับขี่และร้านค้าจำนวนมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์หันมาลงทุนในแกร็บ เพื่อหวังจับมือเป็นพันธมิตรขยายธุรกิจในไทย โดย ธนาคารกสิกรไทยเข้าลงทุนในแกร็บ 50 ล้านดอลลาร์ ผ่านบริษัทลูก "บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล" ล่าสุดธนาคารกรุงศรีอยุธยาเตรียมเข้าลงทุนในแกร็บ ผ่านกรุงศรีฟินโนเวท

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า  ธนาคารมีแผนเข้าลงทุนใน Grabผ่านกรุงศรี ฟินโนเวท ซึ่งการลงทุนของธนาคารครั้งนี้ มาจากการที่ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ( MUFG) บริษัทแม่ในญี่ปุ่น มีแผนเข้าลงทุนใน Grab มากกว่า 700  ล้านดอลลาร์  เพื่อขยายบริการทางการเงินใหักับผู้ใช้งานของ Grab เช่น การให้บริการทางการเงินให้กับลูกค้า  Grabในประเทศไทยได้ในระยะข้างหน้า

ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย   กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้กังวล แม้จะมีธนาคารอื่นๆ เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน จากการที่ธนาคารเป็นพันธมิตร Grab อยู่แล้ว  เนื่องจากมองว่าการแข่งขันในธุรกิจแบงก์ถือเป็นเรื่องปกติ ในทางกลับกันจะช่วยให้แบงก์เร่งพัฒนาบริการ และโปรดักท์ กับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ Grab เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพันธมิตรรายอื่นๆด้วย เพื่อนำเสนอบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

การจับมือกับพันธมิตร ทั้ง  Grab ,Line  และ Facebook จะขยายโอกาสการต่อยอดดิจิทัลแบงกิ้ง เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีฐานลูกค้าผู้ใช้งานจำนวนมาก โจทย์ของธนาคาร คือการเข้าถึงฐานลูกค้าของแพลตฟอร์ตเหล่านี้ให้มากที่สุด   ผ่านการเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีระหว่างแพลตฟอร์มกับธนาคาร  ช่วยธนาคารสร้างฐานลูกค้าใหม่ และเป็นแหล่งรายใหม่ให้กับธนาคารในอนาคต

“เราไม่ได้กังวล จากการที่มีธนาคาร หรือผู้ให้บริการทางการเงิน มาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่เราเข้าไปอยู่แล้ว เพราะเหล่านี้คือการทำธุรกิจ การแข่งขัน ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น หน้าที่เราคือการพัฒนาตัวเอง พัฒนาการให้บริการให้มีเสถียรภาพและสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าให้ได้มากที่สุด ส่วนการลงทุนใน Grab วันนี้ เรายังไม่มีแผนเพิ่มทุนเพิ่มเติม"

เขากล่าวว่า ภายในไตรมาส 2ปีนี้ ธนาคารมีแผนเปิดให้บริการสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้งอย่างเป็นทางการบนแพลตฟอร์มของไลน์ ผ่านบริษัทกสิกรไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารและไลน์ หลังจากช่วงที่ผ่านมา ธนาคารมีการทดลองการให้บริการในเบื้องต้น และพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562

 เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ค  ล่าสุดธนาคารพัฒนาการให้บริการบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊คต่อเนื่อง หลังจากช่วงที่ผ่านมา เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างธนาคารและผู้ประกอบการร้านค้าให้มาขึ้น เนื่องจากการให้บริการที่ผ่านมา ยังไม่ตอบโจทย์ร้านค้าในเฟซบุ๊ค  แต่ปัจจุบันให้บริการครบวงจรมากขึ้น  ทั้งการชำระเงิน ทำธุรกรรมการเงิน จบในแพลตฟอร์ม โดยไม่ต้องออกจากแฟลตฟอร์ม