กกพ.ทดสอบซื้อขายไฟเสรี ดึงบล๊อกเชนนำร่อง 8 พื้นที่

กกพ.ทดสอบซื้อขายไฟเสรี ดึงบล๊อกเชนนำร่อง 8 พื้นที่

กกพ. เผย การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ – เอ็นเนอร์ยี่สตอเรจ ต้นทุนถูกลง กระทบแผนการผลิตไฟฟ้า จับมือสตาร์ทอัพ 8ราย ทดสอบ ERC Sandboxนำเทคโนโลยี Blockchainทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชน หากประสบผลสำเร็จกระจายใช้ทั่วประเทศ

นายประสิทธิ์ สิริทิพย์รัศมี ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เปิดเผยในงานเสวนา “Blockchain กับอนาคตพลังงานไทย จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ  ว่า ภาคเอกชนและประชาชนหันมาใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้น จะทำให้ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบหลักลง 

โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ทำให้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเดิม 80-90% ถือเป็นความท้าทายซึ่งกกพ. ยังคงมุ่งสู่จุดหมายใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางด้านพลังงาน, สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รวมถึงกระตุ้นให้กับหน่วยงานต่างๆ เข้ามารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

สำหรับกลไกที่ กกพ. อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คือ โครงการทดสอบนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน หรือ ERC Sandbox โดยมีการเปิดให้ผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามายื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการ 

หนึ่งในเรื่องที่อยู่ในโครงการดังกล่าว ก็จะมีการศึกษาโครงสร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Peer to peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะทำให้ลดความสูญเสียไฟฟ้าในระบบสายส่ง โดยเทคโนโลยี Blockchain จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การซื้อขายแบบ Peer to Peer สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไปได้

สำหรับ โครงการ ERC Sandbox มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 34 โครงการ จาก 183 โครงการที่สมัครเข้ามา ซึ่งเห็นได้ว่าคนที่ทำธุรกิจได้และสนใจพลังงานรูปแบบใหม่นี้ ขณะนี้มีการอนุมัติไปแล้ว 8 โครงการที่เป็น Peer to peer Energy Trading ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ทั้ง 8 โครงการ จะใช้เวลาทดสอบระบบประมาณ 3 ปี หากประสบผลสำเร็จก็จะขยายไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในภาพรวม การไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องปรับตัว เพราะการควบคุมจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นการเปิดเสรีจะทำให้แรงดันไฟฟ้าในพื้นที่มีปัญหา จะต้องพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจนว่าช่วงไหน พื้นที่ใด มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลเข้าระบบมากน้อยแค่ไหน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักให้เพียงพอ โดยในอนาคตสัดส่วนการแชร์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้ง 3แห่ง จะเปลี่ยนไปมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นความท้าทายในการวางแผนการผลิตเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

นายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Blockchain Review กล่าวว่า ประโยชน์ของเทคโนโลยี Blockchain คือ ทำให้ข้อมูลเชื่อถือได้ โดยใช้กระบวนการ และขั้นตอนที่น้อยลง ซึ่งในด้านพลังงาน ถือว่ามีจุดอ่อนอยู่ 2 ด้าน คือ ระบบ Infrastructure และการทำ Energy Trading เนื่องจากอุปกรณ์จะเชื่อมไปยังตัวกลางทั้งหมด ทำให้เสี่ยงต่อการโดนแฮกข้อมูล หรือโดนแทรกแซงตัวเลข ส่งผลต่อเรื่องของความปลอดภัย อีกทั้งในภาคของการกำกับดูแล มองว่าก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีการร่างกฎระเบียบให้รองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และกว่าจะเกิดการใช้งานได้จริงในระดับที่ประชาชนซื้อขายไฟฟ้าให้กันได้ ก็น่าจะอีกนาน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า เมื่อมีพลังงานทดแทนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย กกพ. จะต้องรีบกำหนดกติกาให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ด้านต้นทุนโครงสร้างไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

“เราลงทุนไป 100 แต่อยู่ๆ ใช้เหลือ 80 ก็กระทบกับต้นทุน ซึ่งต้องสร้างความเป็นธรรม แล้วก็ต้องกำหนดล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าลงทุนไปแล้วมาเก็บทีหลัง และการใช้สายส่ง เนื่องจากช่วงกลางคืนที่ไม่มีไฟใช้ ก็ต้องไปขอใช้ไฟจากการไฟฟ้า และต้องมาเช่าสายส่งแล้วจะคิดอย่างไร ซึ่งเรื่องของต้นทุนมันต้องศึกษาเรื่องโครงสร้างไฟฟ้า เพื่อสร้างความเป็นธรรม”