มูลนิธิ 'ปิดทอง' ดึงสติคนไทย ยึด 'ศก.พอเพียง' ลดก่อหนี้

มูลนิธิ 'ปิดทอง' ดึงสติคนไทย ยึด 'ศก.พอเพียง' ลดก่อหนี้

“ปิดทอง” แนะเร่งแก้หนี้ครัวเรือน หวั่นพุ่งเกิน 80% กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจแนะรัฐส่งเสริมการออมให้ประชาชนเพิ่มเติม “ดิศนัดดา” เตือนสติยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่ากู้เงินเพื่อใช้ในการบริโภคเกินจำเป็น

นายชาติชาย ณ เชียใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่าอยู่ในระดับสูง78.7% ของจีดีพีซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขเพราะนอกจากเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ยังเป็นโจทย์ปัญหาทางสังคมที่สำคัญ

 

 โดยเมื่อหนี้ครัวเรือนเกินกว่า 80% ของจีดีพีจะทำให้องค์กรที่มีหน้าที่ติดตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อาจจะลดระดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของไทยได้ ขณะที่นักเก็งกำไรก็อาจจะเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วตอนวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจของเราอ่อนแอ ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ

 

“การที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน รัฐบาลก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการก่อหนี้จนเกินความสามารถในการชำระขณะเดียวกันควรจะมีการส่งเสริมค่านิยมการออมให้ประชาชนมีการออมอย่างต่อเนื่องจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้”

 

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯกล่าวว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ต้องยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าการกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดีเพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน โดยพระราชดำรัสดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 9 ท่านไม่ได้ห้ามให้เกิดการกู้ แต่ทรงแนะนำให้เมื่อกู้แล้วให้นำไปทำในสิ่งซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโต

 

“คนเรามักจะกู้เพื่อการบริโภคกันเป็นส่วนใหญ่คนในชนบทยังกู้เพื่อการเกษตรอีกด้วย แต่ทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เสียมากยิ่งขึ้นพระราชดำรัสที่ยกมา รวมไปถึงแนวพระราชดำริต่างๆของพระองค์ เกิดขึ้นจากการสังเกตและวิเคราะห์ จึงทำให้มีความสอดคล้องและตอบโจทย์สถานการณ์บ้านเมือง”