อุตฯ-ทส.เร่งแผนสิ่งแวดล้อม

อุตฯ-ทส.เร่งแผนสิ่งแวดล้อม

กระทรวงอุตฯ-กระทรวงทรัพยากรฯ จับมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หวังโรงงานอยู่ร่วมชุมชนได้ นำร่อง 6 ศูนย์เฝ้าระวังทันสมัยทั่วประเทศ เร่งแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี กำจัดขยะ บำบัดน้ำเสีย มอบ กนอ.ผลักดันตัวชี้วัด "อีโค ทาวน์"

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้หารือแนวทางขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม 6 แนวทาง คือ 1.การผลักดันศูนย์เฝ้าระวังแบบทันสมัย 6 ศูนย์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ราชบุรี ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี

2.การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะมีการผลักดันให้เกิดการตั้งโรงงานตัดหรือแปรรูปไม้ไผ่ ซึ่งจะเป็นการกระจายป่าไผ่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจได้ไปในตัว 3.การทำเหมืองแร่และการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่อย่างยั่งยืน
4.การจัดเก็บข้อมูลโครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งจะผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน เช่น ข้อมูลคุณภาพน้ำที่ออกจากโรงงาน

อุตฯ-ทส.เร่งแผนสิ่งแวดล้อม

5.การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยไปแล้ว 70 เรื่อง
6.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม

เร่งแผนสิ่งแวดล้อม“อีอีซี”

นายพสุ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเสนอขอตั้งงบประมาณโครงการที่หน่วยงานในสังกัดเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับแผนสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ได้มีการเร่งรัดดำเนินการโครงการภายใต้แผนสิ่งแวดล้อมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี2561-2564 ที่จะช่วยกันกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีการดำเนินการในแนวคิดการสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (อีโค ทาวน์) ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการพัฒนาเกณฑ์ตัวชี้วัดเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่กับชุมชนอย่างผาสุกและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เน้นจัดการปัญหามลพิษ

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า แผนสิ่งแวดล้อมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกปี 2561-2564 ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเน้นการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้น และปัญหาเดิม ปัญหาสะสมในพื้นที่ เป็นปัญหาขยะและน้ำเสีย โดยเน้นจัดหาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบ ให้มีศักยภาพในการรองรับมากขึ้น 8 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน พื้นที่เป้าหมาย จ.ฉะเชิงเทรา

2.โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอย พื้นที่เป้าหมาย จ.ฉะชิงเทรา 3.โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เขตบริการสุขภาพที่ 6 พื้นที่เป้าหมาย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรีและสระแก้ว 4.โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย Cluster2 พื้นที่เป้าหมาย จ.ชลบุรี

5.โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยเกาะล้าน จ.ชลบุรี 6.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดเสียพื้นที่เป้าหมายเมืองพัทยา 7.โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบน้ำเสียรวม พื้นที่เป้าหมาย อ.ปลวกแดง 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง พื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 8 ตำบลในเขตพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด

เล็งทำ“เอสอีเอ”พื้นที่เป้าหมาย

ส่วนการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต จะเน้นการศึกษา และประเมินผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยว เพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศต่อไป 14 โครงการ เช่น โครงการจัดการทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) ในอีอีซีและพื้นที่เป้าหมายพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่อีอีซี

รวมทั้งโครงการการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตอีอีซี โครงการพัฒนาป่าชุมชนเมืองเพื่อลดสภาวะโลกร้อนในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และสมุทรปราการ และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในเขตอีอีซี

ยืนยันมีมาตรการคุมโรงงานเล็ก

นายพสุ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 50 แรงม้า ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่ แต่ก็จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำกับอยู่

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และ สมอ.ได้เสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์มลพิษต่ำ โดยเสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ขนาดเล็ก-ใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิม 1 ปี และพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายให้ความสนใจในแนวทางนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือมาตรการการแก้ปัญหาอ้อยไฟใหม้ ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทำงานร่วมกับทรัพยากรจังหวัด (ทส.) โดยใช้แรงจูงใจมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้เกษตรกร ผู้ประกอบการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาอ้อยไฟไหม้ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น