บอนด์ยิลด์สหรัฐทะลุ 3% จับตาแรงขายพันธบัตรทั่วโลก

 บอนด์ยิลด์สหรัฐทะลุ 3% จับตาแรงขายพันธบัตรทั่วโลก

ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยิลด์) สหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 3% เป็นระดับ “สูงสุด” ในรอบ 4 ปี สร้างแรงกดดันต่อการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนค่อนข้างมาก

โดยนักลงทุนกังวลว่า การปรับขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐในรอบนี้ อาจกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา


ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา “บอนด์ยิลด์” ของสหรัฐอยู่ในช่วง “ขาลง” เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) เมื่อปี 2551 พร้อมกับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจนแตะระดับ 0-0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เฟด ก็เริ่มทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงด้วยการ โดยค่อยๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.75% พร้อมกับการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรจากมาตรการคิวอีลง ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกค่อยๆ ปรับลดลงต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อบอนด์ยิลด์ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บอนด์ยิลด์ สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เร่งขึ้น จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกลาง ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐอาจส่งผลกระทบกับไทยใน 2 มุม โดยมุมแรก คือ บอนด์ยิลด์ที่สูงขึ้นทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อเงินบาทที่อ่อนค่าลง ในช่วงนี้จึงเห็นว่าเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว

“พอเงินบาทอ่อน คนที่กังวลก็จะเริ่มขายบอนด์ระยะสั้น ตรงนี้ถือเป็นผลกระทบแรก แต่แรงขายที่ออกมาเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยิลด์ระยะสั้นของเราจนปรับเพิ่มขึ้นไปมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดเรามีค่อนข้างสูง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตัวยิลด์มากนัก”

สำหรับผลกระทบในอีกมุม คือ การปรับขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐในรอบนี้มาจากหลายปัจจัย และเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากกว่าในรอบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ซึ่งครั้งก่อนราคาน้ำมันปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ไม่สามารถยืนได้นานก็ค่อยๆ อ่อนตัวลง ในขณะที่รอบนี้ราคาน้ำมันปรับขึ้นจนยืนเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยังมีแนวโน้มว่าจะทรงตัวในระดับนี้ได้ต่อเนื่อง

จิติพล บอกด้วยว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และการเพิ่มขึ้นในรอบนี้ถือเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน โดยมีแนวโน้มว่าจะเป็นขาขึ้นไปจนถึงกลางปี กดดันให้ เฟด อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดประเมินเอาไว้ จึงส่งผลกระทบต่อบอนด์ยิลด์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับประเด็นที่ต้องจับตา “จิติพล” บอกว่า ต้องระวังแรงขายพันธบัตรในตลาดบอนด์โลก เพราะการที่บอนด์ยิลด์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าผู้ลงทุนย่อมขาดทุน จึงอาจมีแรงขายบอนด์ในตลาดอื่นๆ เพื่อมาชดเชยผลขาดทุนจากส่วนนี้ และการปรับขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐ ยังอาจทำให้บอนด์ยิลด์ประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามได้ด้วย

“คนที่ซื้อบอนด์ในตลาดโลกมีโอกาสขาดทุนจากบอนด์ยิลด์สหรัฐ เมื่อขาดทุนก็อาจต้องขายที่อื่นมากลบ ตรงนี้จะส่งผลกระทบกับบอนด์ยิลด์ตัวยาว ดังนั้นถ้าบอนด์ยิลด์สหรัฐขึ้นไปแตะระดับ 3.2-3.3% คิดว่าบอนด์ยิลด์บ้านเราก็คงโดนแรงเทขายด้วยเช่นกัน”

“ธาดา พฤฒิธาดา” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มองว่า การที่บอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่งทะลุระดับ 3% ไม่น่ากระทบต่อฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ลงทุนอยู่ในตลาดตราสารหนี้ไทยให้ไหลออก เพราะปัจจุบันระดับเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐ จึงส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงของพันธบัตรไทยยังดีกว่าสหรัฐ

ประกอบกับสภาพคล่องในประเทศยังมีระดับค่อนข้างสูง ซึ่งหากมีทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติมีสัญญาณไหลออกก็คาดว่าจะมีเงินจากภายในประเทศที่พร้อมจะไหลเข้ามาชดเชย

ทั้งนี้เชื่อว่าปรากฎการณ์บอนด์ยิวสหรัฐฯที่พุ่งขึ้นแรง เกิดจากการที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีนิติบุคคลและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้กำลังการผลิตปรับตัวเต็มที่แล้วและกดดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติจะไม่ขยับออกไปเร็ว เพราะทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯยังมีแนวโน้มขาขึ้นอยู่

“โอกาสที่เงินต่างชาติจะไหลออกไปยังค่อนข้างน้อยอยู่ เพราะอัตราเงินเฟ้อของเรายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงยังดีกว่า ขณะที่การที่จะทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลออกได้บอนด์ยิวสหรัฐต้องขยับขึ้นไปมากกว่าระดับปัจจุบัน หรือต้องรอให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมากกว่านี้และกดดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามองว่าการบริโภคภายในประเทศยังไม่ค่อยไปไหน เพราะราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้รายได้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก”