6 ปัจจัยเร่ง Deep Tech สตาร์ทอัพในไทย
สตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานอย่างโดดเดี่ยว เพราะปัจจัยในการขับเคลื่อนนั้นมีมากกว่าแค่เงินทุน
เงินลงทุนของตลาดสหรัฐฯ ในสตาร์ทอัพกลุ่ม Deep Tech เช่น Robotics และ Drones เพิ่มขึ้นจาก 2-3ปีที่ผ่านมาเป็นหลายสิบเท่า
นอกจากนี้ การบ่มเพาะและพัฒนาสตาร์ทอัพในหลายประเทศที่เริ่มเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสตาร์ทอัพ เช่น Bio Tech, AI, Robotics, IoT และ New Materials
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหันมามองการทำงานในไทยว่าพร้อมแค่ไหนกับการผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้เกิดและสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้จริง
ต้องหทัย กุวานนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ กล่าวถึงการสร้างระบบนิเวศ “Deep Tech” ไว้อย่างน่าสนใจ
“บ้านเราถ้าจะหาสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มนี้ยังมีอยู่น้อยมาก อาจมีพบได้บ้างจากงานวิจัยของโครงการที่ทำกันอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดถูกเก็บเอาไว้บนหิ้งเพราะขาดแรงสนับสนุนหรือขาดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานอย่างโดดเดี่ยวได้ เพราะปัจจัยในการขับเคลื่อนนั้นมีมากกว่าแค่เงินทุน”
โดยระบบนิเวศสำหรับ Deep Tech Startup ต้องอาศัยโครงสร้างที่มีการเชื่อมโยงกันหลายส่วน
1. Tech Experts สตาร์ทอัพที่มีทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีแต่ละด้าน
2. Industry Experts ผู้มีประสบการณ์และมี Insights ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
3. Corporate หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรม
4. องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสถาบันการศึกษาที่มีทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ สถานที่
5. โครงการบ่มเพาะที่ต้องเน้น Accelerator Program สำหรับ Deep Tech
6. วิสัยทัศน์และความเข้าใจวงจรการเติบโตของสตาร์ทอัพในกลุ่มที่เป็น Deep Techของนักลงทุน
ทั้งนี้ หากผลักดัน Deep Tech สตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นได้นั้นจะเกิดข้อดีในด้านการสร้างนวัตกรรมบนเทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถสร้างความแตกต่าง และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย
หนึ่งในความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับการผลักดัน Deep Tech สตาร์ทอัพเกิดจากความร่วมมือของ 5 หน่วยงานที่ร่วมตัวกันในชื่อ SPRINT
SPRINT เป็นการร่วมตัวกันระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซล (TCELS) , บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (SCG Chemicals), สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , Houston Technology Center (HTC ASIA) Incubator ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนา Deep Tech Startup ในสหรัฐอเมริกา และ KX Knowledge Exchange for Innovation
ทำหน้าที่เป็น Platform สำหรับการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตให้กับ Deep Tech Startupโดยเฉพาะ
SPRINT ถือเป็น Accelerator รายแรกของอาเซียนที่ออกแบบมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม ในการพัฒนาศักยภาพของ start up ในกลุ่ม Deep tech
การทำงานจะโฟกัสในกลุ่มสินค้าและเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ด้านสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ (Robotics) และ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ครั้งนี้พาร์ทเนอร์แต่ละคนเอาองค์ความรู้ และเน็ตเวิร์คที่ต่างกันมาช่วยกัน อย่างเช่น ศศินทร์ มีคอร์สสอนทางด้านผู้ประกอบการ ส่วนทางผมก็มีบุคลากรและเน็ตเวิร์คที่มีประสบการณ์เข้ามาเป็นเมนเทอร์ได้ ขณะที่ทาง HTC จะนำเน็ตเวิร์คจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุน” ดร. สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา หัวกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด กล่าว
ในมุมของการทำงานจากองค์กรขนาดใหญ่เช่น ดร.สุรชา มองว่า SPRINT เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยกัน Incubate และ Scale up
“ภายหลังการเข้าโครงการเป็นเวลา 3 เดือนก็ Raise money ซึ่งเราจะมองหาคนที่สนใจลงทุนในสเตจนี้
หากเป็นโปรเจ็คที่น่าสนใจและตรงกับสิ่งที่เรามองไว้ก็อาจมีการใส่เงินเข้าไปเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้น หากไม่ใช่ก็ยังมีคนในเน็ตเวิร์คที่สนใจลงทุน”
นี่ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่องค์กรต่างๆ หันมาจับมือเพื่อผลักดัน Deep Tech ให้เกิดขึ้น ดร.สุรชา บอกในต่างประเทศตื่นตัวและลงทุนกับสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้กันมากแล้ว ซึ่งสำหรับในไทยมองว่ามีความสำคัญอย่างมาก
“ผมคิดว่า ถ้าเราบอกจะเป็น 4.0 ควรจะมีนวัตกรรมที่จับต้องได้เป็นของตัวเอง ซึ่งต้องใช้เวลา 3-5 ปีในการจะเห็นนวัตกรรมขึ้นมา แต่ก็เชื่อว่ามีผู้ลงทุนที่เห็นถึงโอกาสตรงนี้
เพราะเชื่อว่า ในไทยมีองค์ความรู้ดีๆ อยู่อีกเยอะที่ซ่อนอยู่ในมหาวิทยาลัยซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ต้องการระบบนิเวศมาช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการสร้าง Prototype และ Scale up ในเชิงพาณิชย์”
โดยทาง เอสซีจี มองเป้าหมายไว้ 2 เรื่องหลักคือ การหาสตาร์ทอัพเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ และผลักดันไปตลาดต่างประเทศ
อีกส่วนเป็นการเร่งสร้างพันธมิตรให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ
ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การผลักดัน Deep Tech สตาร์ทอัพให้เกิดได้นั้นต้องใช้ทั้ง Passion และองค์ความรู้เป็นส่วนประกอบ รวมทั้งต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี การรวมตัวกันของเน็ตเวิร์คในการสร้างระบบนิเวศให้แข็งแรงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในไทย
โดยเป้าหมายการสร้าง Deep Tech Startup ก็คือการได้เห็นการเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ให้ก้าวไปถึง Unicorn ที่มีรายได้ระดับ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ SPRINT ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับ start up ในส่วน early stage ไปจนถึง seed stage (early series A)ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมคอร์สอบรมเป็นเวลา 3 เดือน โดยมุ่งเน้นการเติมความรู้ในเรื่องของธุรกิจ เช่น ด้านการเงิน การตลาด ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งมีความสำคัญสำหรับ start up ในกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก
รูปแบบการเรียนรู้จะเน้นให้แต่ละทีมได้ลงสนามจริง หาข้อมูลตลาดจริง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกทีมสามารถเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจตัวเองได้ในอนาคต นอกจากนี้ระหว่างการอบรมเราก็จะจัดให้มี one on one mentor เพื่อดูแลแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด
และสุดท้าย SPRINT จะช่วยเป็นตัวกลางที่จะเชื่อม start up ไปสู่กลุ่มผู้ลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจของ start up เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มีแผนที่จะเปิดรับสมัคร batch แรกในช่วงเดือนสิงหาคม โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ Facebook Page Sprint Accelerator Thailand