ถอดโมเดลประชารัฐภูเก็ต สมาร์ทซิตี้คู่วิถียั่งยืน

ถอดโมเดลประชารัฐภูเก็ต สมาร์ทซิตี้คู่วิถียั่งยืน

ถอดโมเดลทำงานกับชุมชน 1 ปีประชารัฐ นำร่องบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต แก้สมการเพิ่มรายได้คนฐานรากลดเหลื่อมล้ำปั้นสินค้า

จากวันแรกของการริเริ่มโครงการ ประชารัฐ รักสามัคคี ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้ชื่อบริษัท “ประชารัฐรักสามัคคี” จำกัด ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยิ่งเศรษฐกิจพัฒนาไปเท่าใด กลับพบว่าประชากรฐานรากจำนวนมาก กลับมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียง 30% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่เหลือตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ 

ภูเก็ตคือจังหวัดนำร่อง จัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต ครบ 1 ปี ของความร่วมมือ 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ และภาคราชการลงขันปั้นธุรกิจ ยกระดับรายได้ประชาชนระดับฐานราก แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการเพิ่มรายได้ในกระเป๋าชาวบ้านให้รู้จักคำว่า คิดแบบนักธุรกิจ พึ่งพาตัวเอง ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาต่อยอด ผ่านสินค้าเกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวยั่งยืน

โดยมีบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เชื่อมโยงหาตลาด แนะนำสินค้าให้ตรงกบความต้องการลูกค้า ยกระดับมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น รวมถึงสร้างแบรนด์ และการรับรู้ปลุกกระแสนักท่องเที่ยวมาเยือน เกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกระจายไปสู่ชุมชน 

และนี่คือเสียงจากชุมชนที่พร้อมเดินหน้าไปพร้อมประชารัฐ !

วิชัย แซ่ตัน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสับปะรด จังหวัดภูเก็ต เจ้าของไร่สับปะรดที่ปลูกมายาวนานถึง 25 ปี เล่าว่า แม้ชื่อเสียงของสับปะรดภูเก็ตที่ปลูกเฉพาะบนเกาะจะมีรสชาติแตกต่างเป็นอัตลักษณ์ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนปลูกสับปะรดอยู่รอดได้จากการเผชิญภาวะผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ และตัดราคากันเอง ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก พร้อมไปกับมีสับปะรดต่างถิ่นเข้ามาแข่งขายตัดราคา โดยที่ผู้บริโภคจะแยกแยะไม่ออกว่าระหว่างสับปะรดที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กับสับปะรดต่างถิ่นราคาถูก 

จุดอ่อนอยู่ที่การบริหารจัดการวัตถุดิบ เพราะแม้สินค้าจะมีขึ้นชื่อระดับ GI ที่สร้างมูลค่าราคาสูงได้แต่สับปะรดภูเก็ตก็ยังราคาตก 

ประชารัฐ จึงมาช่วยเรื่องการบริหารจัดการตลาด สอนให้เกษตรกรแทนที่จะเก่งเรื่องเพาะปลูกอย่างเดียวต้องรู้จักตลาด ความต้องการซื้อ (Demand) และปริมาณสินค้า (Supply) เมื่อเข้าใจภาพของกำลังซื้อและผลผลิต ก็จะทำให้เกษตรกรเข้าใจระบบค้าขาย 

ต้องยกย่องด้านการตลาดของกลุ่มบริษัทประชารัฐ ที่เชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้าหาพื้นที่ให้กลุ่มสับปะรดเข้าไปขายในเซ็นทรัล รวมถึงโรงแรมต่างๆ"

ก้าวย่างของปีแรก ที่ทำให้เข้าใจกระบวนการตลาด และการเพาะปลูก โดยไม่ต้องไปขายแข่งกับสับปะรดเกลื่อนตลาด 

ผลงานชูโรงที่ประชารัฐฯยกระดับแบรนด์และมูลค่าสับปะรดภูเก็ต คือจัดกิจกรรม แคมเปญอ่องหลาย โป๊ปี่เปงอ๊าน คัดลูกที่สวยและดีที่สุด 100 ลูกจำหน่ายในราคา 1,543 บาท เป็นแคมเปญนำร่องที่จะสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์สับปะรดประจำจังหวัดให้น่าสนใจและน่าเชื่อถือมากขึ้น 

ผ่านไป 1 ปี กระแสสับปะรดภูเก็ตเริ่มขยายการรับรู้กว้างขึ้น มีตลาดหลากหลายช่องทาง ปีที่ 2 จึงต้องตอกย้ำกลยุทธ์และแก้โจทย์ที่ยังต้องเดินหน้ายกระดับสับปะรด ผลไม้ที่มีอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นเป็นหนึ่งสิ่งที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนภูเก็ต

สิ่งที่กลุ่มสับปะรดจังหวัดภูเก็ต เดินหน้าร่วมทำงานบริษัทประชารัฐฯ คือการรวมกลุ่มสับปะรดในจังหวัดให้เข้มแข็ง เพราะยังมีหลายรายที่แอบตัดราคากันอยู่ โดยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ย้อนศรกลับมาทำลายตลาดตัวเอง รวมไปถึงต้องเพิ่มจุดจำหน่ายสับปะรดท้องถิ่น มีใบรับรองว่าเป็นผลผลิตท้องถิ่นแท้ๆ

ด้านจุฑาทิพย์ รองพล ตัวแทนจากกลุ่มผ้าบาติก กระเป๋ากระจูดบาติก เปิดใจว่า การทำงานกับบริษัทประชารัฐฯพาไปหาตลาดใหม่ จากการนั่งหลังขดหลังแข็งได้ค่าเพนท์ในราคาผืนละ 150 -200 บาท 

ประชารัฐจึงคิดใหม่แทนที่ขายเป็นผ้าผืนก็ไปทำเป็นกระเป๋ากระจูดลายผ้าบาติก จากราคากระเป๋าที่วางเรียงรายเหมือนกันหมดผืนละ 250-300 บาท เมื่อติดลวดลายผ้ามาติกและสายหูหิ้วจากภูเก็ต ขายใบละ 750 บาทแบบที่ลูกค้าไม่ต้องต่อรองราคา 

“แรกๆ ตอนประชารัฐมาสอนเราก็ทำไม่เป็น แต่เมื่อเริ่มเปิดใจแม้จะมีปัญหาและต้องปรับตัวยอมรับความเปลี่ยนไป หันไปพัฒนาสินค้ามีดีไซน์ ยอมรับความรู้ใหม่ๆ ทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น” ชาวบ้านเล่า

ทางบริษัทประชารัฐฯยังเชื่อมโยงให้ไปขายสินค้าในงานอีเวนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานของข้าราชการ และงานออกบูทในห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงจัดอีเวนท์ขึ้นมาเอง ปีที่ผ่านมามีการจัดการแฟชั่นวีค ในจังหวัดภูเก็ต เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ และสร้างแบรนด์ยกระดับสินค้าสู่กลุ่มตลาดแฟชั่น

ขณะที่พรรธน์รวี จิตตาปัญญานุกูล ตัวแทนผู้เลี้ยงกุ้งมังกร และชาวบ้านชุมชนชาวเลบ้านมอแกน ที่หันมาเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสี (ภูเก็ต ล็อบเตอร์) รองรับนักท่องเที่ยว หลังจากจัดงาน ภูเก็ต ล็อบเตอร์ เฟสติวัล ตลอดเดือนสิงหาคม เชื่อมโยงกับร้านอาหารโออิชิแกรนด์ รวมถึงโรงแรม ภัตตาคาร ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและกรุงเทพฯ ปลุกกระแสให้คนหันมากินกุ้งมังกรผ่านเมนูพิเศษ

บริษัทประชารัฐฯ เข้ามาปลุกให้ชุมชนตื่นตัว จากที่เลี้ยงกุ้ง แล้วไม่รู้จะไปขายใคร ก็มีตลาด จนปีที่ผ่านมากุ้งล็อบเตอร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการเพราะแรงโปรโมทที่เชื่อมโยงกับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ขยายไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

บริษัทประชารัฐฯ เข้ามาส่งเสริมโฮมสเตย์ จัดโปรแกรมท่องเที่ยว เติมเต็มองค์ความรู้เรื่องความปลอดภัยและการบริการที่ถูกสุขลักษณะให้กับนักท่องเที่ยว

จึงเป็นเวลาของการลงทุนขยายการเพาะพันธุ์กุ้ง เพื่อเตรียมพร้อมปีที่ 2 ในปีนี้  

ทางฟากคนทำงานขับเคลื่อนอย่าง อรสา โตสว่าง กรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด เล่าว่า ผลลัพธ์หลังผ่านการทำงานกับชุมชน 1 ปี ประเมินในเชิงการสร้างรายได้ และแก้ปัญหาชุมชนตามเป้าหมายของคณะทำงานประชารัฐ เริ่มต้นจากกกลุ่มเลี้ยงกุ้งล็อบเตอร์มียอดขาย 4.5 ล้านบาท มีเงินสะพัดในจังหวัด 100 ล้านบาท จากการหาพันธมิตรร้านจำหน่ายเข้าร่วม 35 ร้าน จึงจัดต่อเนื่องเป็นปีที่2 ขยายเป็น 200 ร้านค้า มีพันธมิตรเซ็นทรัลมาช่วยโปรโมทระหว่างช่วงอีเวนท์ 9 วัน 

ชาวบ้านได้เรียนรู้การขายของและเข้าใจตลาดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เมนูสร้างสรรค์ที่เราพัฒนาและแนะนำให้นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาด ผ่านสมาคมร้านอาหารและภัตตาคาร โรงแรม เป็นการผนึกกำลังกันที่ทำให้ชื่อของภูเก็ตล้อบเตอร์เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง” 

ส่วนสับปะรด การคิดแคมเปญสับปะรดอ่องหลาย" ลูกละ 1,543 บาท โดยกลุ่มนักธุรกิจและข้าราชการระดับสูง รวมถึงสถานทูตเข้ามาซื้อทำให้บริษัทประชารัฐฯมีรายได้จากการจำหน่ายสับปะรด ที่เป็นต้นทุนในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัด 

จากจุดเริ่มต้นของการดีลกับหลากหลายกลุ่มผู้ให้การสนับสนุน จึงเกิดการต่อยอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาชุมชนกับต่างประเทศ เริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เชิญชวนให้กลุ่มชุมชนบินไปเปิดโลกวิถีการพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ในแดนปลาดิบ

อรสา ยังสรุปบทเรียนหลังทำงานกับชุมชนว่า ไปก่อนเจ็บตัวก่อน ตั้งบริษัทก่อนจึงเจออุปสรรคตอนลงพื้นที่ เมื่อเริ่มต้นไปแบบโครมครามขนทีมเอกชนล้วนๆ ทำให้ชาวบ้านงงไม่รู้จักบริษัทนี้คือใคร จนค้นพบคำตอบว่า ต้องเดินไปพร้อมข้าราชการเพื่อให้แนะนำตัวก่อน

เดินแบบไม่ดูซ้ายขวา เริ่มทันทีก็ไม่มีคนเข้าใจและให้ความร่วมมือ จึงแชร์ประสบการณ์ให้จังหวัดอื่นเดินไปพร้อมกับหน่วยงานข้าราชการ

เช่นเดียวกันกับทำให้ชุมชนเปิดใจไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงจัดกิจกรรมรับซื้อสินค้าไปพัฒนาต่อยอดและเอาไปขายก่อน ล็อตแรกขายได้หลักแสน นั่นทำให้ชุมชนเริ่มเห็นผลลัพธ์เชิงมูลค่า

เราจ้างเขาทำสินค้า แล้วช่วยขายได้เกือบแสน จึงเริ่มเชิญว่าถึงเวลาร่วมมือกันทำงานได้หรือยัง? ทำงานกับชาวบ้านต้องทำผลงานโชว์ก่อน เราถนัดอยู่แล้วเรื่องหาตลาด และประชาสัมพันธ์ก่อน เมื่อเขาเริ่มเห็นตังค์ ก็เริ่มอยากมาทำงานกับเรา 

นรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ฉายภาพถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องของการแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำ เพราะประชากรกว่า 3.9 แสนคนนักท่องเที่ยวกว่า 13 ล้านคน แต่คนฐานรากกลับยังได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตที่ไม่ทั่วถึง 

ชุมชนเป้าหมายในภูเก็ตมี 56 ชุมชน 9 หมู่บ้าน ที่จะกระจายผลประโยชน์การพัฒนาให้ลงตัว โดยเริ่มต้นจากหลักของในหลวงคือ ระเบิดจากภายในเริ่มต้นจากชุมชนที่มีความพร้อมเป็นต้นแบบขยายไปชุมชนอื่นๆ” 

สำหรับภูเก็ตมีต้นทุนที่ดีในด้านการถูกยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นหนึ่งใน “เมืองสร้างสรรค์” จาก 18 เมืองทั่วโลก เพราะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอาหาร ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะผสมผสานจากท้องถิ่นและต่างชาติ จึงมีแผนโปโมทให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน  

ภูเก็ตยังเป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการนำร่องเป็นเมืองอัจฉริยะ" (สมาร์ทซิตี้) ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเชิดชูให้เป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเป็นจังหวัด“ต้นแบบ” รูปธรรมโครงการประชารัฐ 

อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าถึงการทำงานประชารัฐว่า ไม่มีสูตรตายตัว และเป็นมิติใหม่ของการร่วมมือกัน โดยมีภาคประชาสังคม และประชาชนเป็นคนทำ ภาคเอกชนขับเคลื่อนและภาครัฐสนับสนุน ช่วยกันค้นหาจุดเด่นสินค้าในชุมชนและในจังหวัด เป้าหมายระยะยาวเพื่อให้จังหวัดเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนและผนึกกำลังข้ามจังหวัด ผ่านการเล่าเรื่อง ดีไซน์ และมีการเพิ่มมูลค่าผ่านมาตรฐานต่างๆ รวมถึง การใช้ประโยชน์จากโลกการค้าออนไลน์ 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ที่มีกว่า 2.7 ล้านราย เป็นเศรษฐกิจฐานราก(Local Economy) ที่แข็งแกร่งที่สร้างเครือข่ายอนาคตเศรษฐกิจให้กับประเทศ” 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เล่าถึงกรอบความคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีคนดีเป็นผู้นำและดึงคนเก่งๆ เข้ามาร่วมผนึกกำลังกันทำงาน โดยร่วมกันเดินไปพร้อมกัน

อยากไปเร็วให้เดินคนเดียว เพราะกำลังแต่ละคนมีไม่เท่ากัน แต่เราเน้นทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค ประชารัฐอาจจะไม่ใช่เรือที่เร็วที่สุดแต่เป็นเรือที่แล่นพาเราเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน