ศคง.โชว์สถิติ ‘ภัยการเงิน’ ถูกขโมยบัตรไปใช้ยังแชมป์

ศคง.โชว์สถิติ ‘ภัยการเงิน’  ถูกขโมยบัตรไปใช้ยังแชมป์

ศคง. เผยยอดร้องเรียน-รับคำปรึกษา ช่วงไตรมาส 2 ปี 59 ที่บันทึกในระบบมีกว่า 1.39 หมื่นรายการ ชี้ส่วนใหญ่ร้องเรียนด้านบริการการเงิน

 โดยเฉพาะเงินให้สินเชื่อ รวมทั้งเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมไม่เป็นธรรม ขณะสถิติด้านภัยการเงิน ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องการถูกขโมยบัตรไปใช้งาน ก่อนเจ้าของอายัด

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานผลการดำเนินงานในการให้ข้อมูล คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนไตรมาส 2 ปี 2559 โดยระบุว่าจากข้อมูลที่บันทึกในระบบมีจำนวน 13,991 รายการ ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามข้อมูลและคำปรึกษา 13,517 รายการ คิดเป็น 96.6% รองลงมา คือ ร้องเรียน 362 รายการ 2.6%เรื่องอื่นๆ เช่น ข้อเสนอแนะ แจ้งเบาะแส 70 รายการ 0.5% และขอความอนุเคราะห์ 42 รายการ หรือ 0.3%

สำหรับในเรื่องสถิติร้องเรียนและขอความอนุเคราะห์ ซึ่งมีจำนวน 404 รายการ แบ่งออกเป็น ด้านบริการทางการเงินของสถาบันการเงิน 369 รายการ ซึ่งแยกเป็น 2 หมวด คือ การร้องเรียนบริการทางการเงินของสถาบันการเงิน 327 รายการ ขอความอนุเคราะห์จากสถาบันการเงิน 42 รายการ โดยเป็นเรื่องภัยทางการเงิน 20 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบัตรอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำไปใช้โดยบุคคลอื่นและถูกสวมรอยหรือปลอมแปลงเอกสาร

นอกจากนี้เป็นเรื่องเครดิตบูโร 3 รายการ โดยเป็นการขอให้ลบประวัติเครดิตบูโร เนื่องจากขอสินเชื่อไม่ผ่าน เรื่องอื่นๆ 12 รายการ เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

รายงานข่าวจากศคง. ระบุด้วยว่า การร้องเรียนด้านเงินให้สินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 2559 มีจำนวน 152 รายการ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 9 รายการ โดยเรื่องร้องเรียน 3 ลำดับแรก ได้แก่ เรื่องเงินต้นและยอดหนี้ไม่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจไม่ถูกต้องในวิธีการคำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยบัตรเครดิต เป็นต้น

รองลงมาเป็นเรื่องค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยส่วนใหญ่ผู้ร้องเรียนเห็นว่าสถาบันการเงินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลเช่นเดียวกับไตรมาสที่ผ่านมา ถัดมาคือเรื่อง เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้า โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการล่าช้าในเรื่องที่ลูกค้ามีการร้องขอไป

ทั้งนี้เมื่อแยกเรื่องร้องเรียนด้านเงินให้สินเชื่อตามผลิตภัณฑ์ พบว่า เรื่องร้องเรียนด้านสินเชื่อบัตรเครดิตมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตามลำดับ

ส่วนการร้องเรียนด้านเงินฝากและตั๋วเงิน ในไตรมาส 2 ปี 2559 มีจำนวน 87 รายการ ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว 1 รายการ โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนมากยังคงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการฝาก ถอน โอนเงิน โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือตู้ฝากเงินสดอัตโนมัติ เช่น ถอนเงินแล้วไม่ได้รับเงิน หรือได้รับเงินแต่ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ถอน

รองลงมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินฝากถูกถอนโดยบุคคลอื่น เช่น ผู้ร้องเรียนได้รับข้อความแจ้งว่ามีการถอนเงินโดยบัตรเอทีเอ็ม ทั้งที่สมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มอยู่ที่ตัวเอง และปัญหาการอายัดหรือหักบัญชีเงินฝากเพื่อชำระหนี้โดยไม่แจ้งให้เจ้าของบัญชีทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ปัญหาเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่มีจำนวนสูงเป็นอันดับสองในไตรมาสที่แล้ว ในไตรมาสนี้จำนวนลดลงจาก 14 รายการ เหลือ 4 รายการ คิดเป็น 71.4%

ศคง. ระบุว่า ในส่วนของสถิติเกี่ยวกับภัยทางการเงิน ช่วงไตรมาส 2 ปี 2559 มีการให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน และรับแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวกับภัยการเงินจำนวน 146 รายการ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 6 รายการ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำไปใช้โดยบุคคลอื่น โดยเฉพาะบัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้งาน ก่อนที่เจ้าของจะอายัดบัตร

รองลงมา เป็นการหลอกลวงทางอีเมล์ โซเชียลมีเดีย เช่น การถูกหลอกลวงทางเฟสบุ๊ค โดยบอกว่าจะได้รับเงินหรือของมีค่าจากต่างประเทศแต่ต้องโอนเงินค่าธรรมเนียมไปชำระก่อน

ทั้งนี้พบว่า เรื่องที่มีมูลค่าความเสียหายสูงในไตรมาสนี้ เกิดจากการถูกหลอกลวงดดยคนรู้จักหรือคนใกล้ชิด เช่น การขอกู้ยืมเงินโดยผู้กู้แจ้งว่ามีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารหลายแห่ง แต่ไม่สามารถถอนมาคืนได้เนื่องจากติดอยู่ที่ ธปท. โดยมีมูลค่าความเสียหานสูงสุดประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายได้มีการโอนเงินให้ผู้กู้มาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2555

อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงทางโทรศัพท์มีจำนวนลดลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่ยังคงรูปแบบการหลอกลวงเช่นเดิม โดยอ้างว่าโทรมาจากธนาคารกลาง เพื่อขออายัดบัญชีเนื่องจากมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มิได้หลงเชื่อมิจฉาชีพ แต่ติดต่อมายัง ศคง. เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและแจ้งเบาะแส