“ป้าปุ้ม” สู่ “PINYA” พลิกภูมิปัญญา บุกตลาดโลก

“ป้าปุ้ม” สู่ “PINYA” พลิกภูมิปัญญา บุกตลาดโลก

ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดในขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่เด่นไม่คูลเลยสักนิด ได้เวลาทายาทสลัดภาพแบรนด์“ป้าปุ้ม”สู่“PINYA” พลิกภูมิปัญญาไทย บุกตลาดโลก

น้ำมันนวดขึ้นชื่อ สรรพคุณลือลั่นไปทั้งตำบล มีคนทำคือ “ป้าปุ้ม-อาภา ปรีชากูลย์” วัย 68 ปี ประธานเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้แพทย์พื้นบ้าน วิสาหกิจชุมชนอาภานวดแผนไทย  ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

ทำของดี มีคนนิยมชมชอบ ทำให้ “แบรนด์ป้าปุ้ม” ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะกับกลุ่ม “ผู้สูงวัย” ที่แสนจะรักน้ำมันนวดในขวดเครื่องดื่มชูกำลัง กับฉลากสีเหลืองคุ้นตาของป้าปุ้มมากๆ ..แต่กับคนรุ่นใหม่ มีแต่คำถามใส่

“ป้าปุ้มขายอะไรกันแน่?”

คำถามนี้ไม่ได้มาจากแค่คนนอก ทว่ายังรวมถึง “เตชิต ปรีชากูลย์” ลูกชายวัย 38 ปี อดีตพนักงานส่วนบริการร้านค้าของ KTC และ “ชญาพัฒน์ เอี่ยมแสง” สะใภ้วัย 31 ปี อดีตที่ปรึกษางานอะไหล่ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้ามาช่วยธุรกิจเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เลยเป็นที่มาของปฏิบัติการพลิกโฉมแบรนด์ป้าปุ้ม เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

"เมื่อก่อนแม่มีแค่น้ำมันนวด โลชั่นน้ำนมข้าว และโลชั่นมะหาดทอง แค่ 3 ตัว ซึ่งขายดีสุดๆ ก็แค่เดือนละ 500 ขวด แต่พอพวกเรามาทำ เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาเป็นเกือบ 30 ตัว ขายได้รวมๆ กัน ก็เดือนละกว่า 5 พันขวด”

ความเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าคำว่า “ก้าวกระโดด” เกิดขึ้นหลังจากพวกเขามองเห็นศักยภาพของผลิตภัณฑ์ป้าปุ้ม ที่เป็นของดี พิสูจน์ด้วยผู้ใช้แล้วเห็นผล เป็นภูมิปัญญาไทยแท้  ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ทว่าเมื่อเห็นรายได้ที่เข้ามายังน้อยนิด ไม่พอจะเลี้ยงธุรกิจให้โตไปกว่านี้ได้ แถมยังสนองแค่คนบางกลุ่ม เลยมองที่จะเข้ามาปรับปรุง เพื่อขยายตลาดป้าปุ้มให้ใหญ่ขึ้น

แต่คิดเหรอว่าคนรุ่นหนึ่งจะยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ!

“ตอนแรกแม่ใส่ขวดกระทิงแดง เราก็พยายามโน้มน้าวให้เปลี่ยนเป็นขวดพลาสติกมีฝาปิด แรกๆ ท่านไม่ยอมหรอก บอกว่า เปลี่ยนทำไม แบบนี้ก็ขายได้อยู่แล้ว เลยใช้วิธีทำขวดขึ้นมาใหม่ แล้ววางขายคู่กับขวดกระทิงแดงของแม่ไปเลย ปรากฏของเราขายได้มากกว่า แถมยังสามารถส่งไปรษณีย์ให้ลูกค้าได้ด้วย โดยไม่ต้องกลัวตกแตก ท่านเลยเริ่มเห็นชอบ”

ขอแค่ทายาทพิสูจน์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม ก็ไม่ต้องกลัวถูก “สกัดดาวรุ่ง” อีก เราเลยเห็นแบรนด์ป้าปุ้ม พัฒนาจากน้ำมันนวดที่เป็นน้ำ มาสู่เนื้อครีม สเปรย์ฉีด สบู่ น้ำมันนวดสปา พร้อมดีไซน์ขวดใหม่ที่ไฉไล ทันสมัยขึ้น กับโลโก้รูปฝ่ามือ ซึ่งสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญในการนวดและภูมิปัญญาไทยของป้าปุ้ม

สิ่งที่มาพร้อมกันคือสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนยุคนี้ได้มากขึ้น โดยไม่แค่การบำบัดรักษา หากทว่า ยังรวมถึงสรรพคุณด้าน การบำรุงผิวพรรณด้วย จากขายผ่านหน้าร้านในอ่างทอง ออกงานแสดงสินค้าระดับประเทศบ้างประปราย พอทายาทรุ่นใหม่เข้ามาทำ พวกเขาเลยได้พัฒนาช่องทางออนไลน์ พร้อมส่งขายไปทั่วประเทศ ขยับกลุ่มเป้าหมายจากแค่ผู้สูงวัย มาสู่กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานให้มากขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ปีละไม่ต่ำกว่า 5 ตัว

ไอเดียคนรุ่นใหม่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเห็นแสงสว่างในตลาดส่งออก หลังที่ผ่านมามีชาวต่างชาติสนใจน้ำมันนวดป้าปุ้ม และนำสินค้าไปทำตลาดที่จีนมาแล้ว แต่ทายาททั้งสองกลับมองว่า ถ้าจะส่งออกให้ไกล ต้องไปในแบรนด์อื่นไม่ใช่ป้าปุ้ม

“ถ้าจะส่งออกไปในแบรนด์ป้าปุ้ม ไปได้ไม่ไกลหรอก ฝรั่งเขาไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่า เป็นสมุนไพร เราเลยใช้ชื่อคุณพ่อ ภิญญา ซึ่งแปลว่า ความสำเร็จ มาตั้งเป็นแบรนด์ PINYAHERB สำหรับส่งออกโดยเฉพาะ”

แบรนด์ PINYA ถูกวางให้เป็นสินค้าพรีเมียม แบ่งตลาดกันอย่างชัดเจนจากป้าปุ้ม โดยป้าปุ้มขายกันตั้งแต่ขวดละ 100 สูงสุดก็แค่ 300 บาท แต่  PINYAHERB ถูกสุดอยู่ที่ 250 บาท ไปจน 480 บาท และทุกสูตรล้วนเป็นการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่แค่เอาป้าปุ้มมาแต่งตัวใหม่ แล้วมโนเอาเองว่า “พรีเมียม”

PINYA จะเพิ่มสรรพคุณให้ดีขึ้น เนื้อครีมจะเข้มข้นมากขึ้น อย่าง โลชั่นป้าปุ้ม อาจเห็นผลใน 6-7 เดือน แต่ PINYA ต้องเห็นผลตั้งแต่ขวดแรกที่ใช้ คือใน 1-2 เดือน ทุกอย่างต้องดีกว่า ไม่ว่าจะฉลาก แพคเก็จจิ้ง หรือสรรพคุณ จะต้องเหนือกว่า ทุกๆ แบรนด์ ถึงจะเป็นพรีเมียมได้  ไม่ใช่แค่แต่งตัวให้สวย แล้วคิดราคาให้แพงขึ้น” ทายาทสะท้อนความคิด

แผนโกอินเตอร์ของ PINYAHERB เริ่มต้นแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเพิ่งส่งสินค้าล็อตแรกไปเมื่อประมาณต้นปีที่ 2,500 ขวด เพื่อทดสอบตลาด ก่อนตามมาด้วยล็อตสองอีก 2,500 ขวด หลังได้รับการตอบรับดีเกินคาด สำหรับน้ำมันนวดป้าปุ้มซึ่งไปบุกตลาดเมืองจีนมาแล้ว ก็เตรียมพัฒนาให้เป็นผงเพื่อให้ง่ายต่อการส่งออกมากขึ้น พร้อมกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้แบรนด์ PINYA ที่ยังคงพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายของทายาท นอกจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังรวมถึง เตรียมเปลี่ยนพื้นที่บ้านให้กลายเป็น ศูนย์สุขภาพครบวงจร ที่จะมีทั้งนวดแผนไทย นวดสปา ร้านกาแฟ ทำโฮมสเตย์รองรับผู้มาใช้บริการ ขณะปัจจุบันก็ลงทุนไปกว่าล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงงานและหน้าร้านเล็กๆ ซึ่งได้รับสินเชื่อเพื่อขยายกิจการจาก เอสเอ็มอีแบงก์ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้ ที่ 5 แสนบาท ที่เหลือเป็นการลงขันของกลุ่มพี่น้อง

“ผมอยากต่อยอดความเป็นป้าปุ้มให้คงอยู่ตลอดไป เป็นสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยได้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย อยากให้คนไทยได้รู้จักป้าปุ้ม เมื่อคิดถึงเรื่องสุขภาพ เขาคิดถึงป้าปุ้ม อยากหายปวดหายเมื่อย คิดถึงป้าปุ้ม ซึ่งนี่คือคอนเซ็ปต์ที่คุณแม่ตั้งใจไว้ และความตั้งใจนี้ต่อยอดมาถึงพวกผมด้วย” ทายาทบอก

ป้าปุ้ม เป็นต้นแบบของปราชญ์ชาวบ้านที่เรียนรู้และสร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง ถึงวันนี้ท่านก็ยังเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง แม้จะเริ่มธุรกิจเมื่อวัยกว่า 50 ปี แต่ก็ยังฮ็อตเอามากๆ ในวัย 68 ปี อย่างวันนี้  เตชิต สรุปบทเรียนชีวิตจากคนเป็นแม่ให้ฟังว่า

“คนเราสามารถเริ่มธุรกิจในอายุเท่าไรก็ได้ ขอแค่ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เปิดใจเรียนรู้ และพัฒนาต่อไปไม่หยุดนิ่ง เหมือนคุณแม่ที่วันนี้ท่านอายุ 68 ปี แล้ว แต่ก็ยังเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นแบรนด์ป้าปุ้มอย่างวันนี้ได้”

ด้วยความภูมิใจในภูมิปัญญา เราเลยได้เห็นแบรนด์ “ป้าปุ้ม” พลิกโฉมสู่ “PINYA HERB” พร้อมเฉิดฉายในตลาดโลก ด้วยการต่อยอดของทายาท

                .............................

Key to success

สูตรพลิกโฉม "ป้าปุ้ม" สู่ "PINYA HERB"

๐ ภูมิปัญญาคือหัวใจ รักษาไว้ ไม่เปลี่ยน

๐ แต่งตัวใหม่ ดีไซน์ใหม่ ให้ทันสมัยขึ้น

๐  แพคเก็จจิ้ง และสรรพคุณ ต้องดีกว่าเดิม

๐ สินค้ารองรับตั้งแต่ วัยรุ่น จนถึงวัยชรา

๐ ชื่อแบรนด์พร้อมสำหรับส่งออก

๐ พัฒนาไม่หยุดนิ่ง เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ