ADVANC - ถือ

ADVANC - ถือ

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกับอัตราการจ่ายปันผลที่อาจจะลดลงในปี 2560

ประเด็นการลงทุน

กำไรสุทธิมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 3/59 (จากการบันทึกค่าเช่าอุปกรณ์และเสาสัญญาณ 2 จีจากทีโอทีรวมถึงค่าตัดจำหน่ายของค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซ) และกำไรสุทธิคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4/59 (จากค่าโรมมิ่งคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ซของทีโอที) กำไรสุทธิในปี 2560 จะยังคงถูกกดดันต่อไปด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับดีลพันธมิตรกับทีโอทีที่จะบันทึกเข้ามาเต็มปี (9.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2560 จนถึงปี 2568) และค่าตัดจำหน่ายของค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซ (5 พันล้านบาทต่อปีจนถึงปี 2574) รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมะเฮิร์ซจะยังคงไม่เร็วมากที่จะชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วง 2-3 ปีแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะที่การแข่งขันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งยังคงรุนแรง (ซึ่งทรูโมบายตั้งเป้าที่จะเพิ่มส่วนแบ่งรายได้บริการให้ถึง 33% ภายในปี 2561) ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของหุ้น ADVANC ได้แก่ แนวโน้มของการปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผลลงจากเดิมตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป เรายังคงคำแนะนำ “ถือ” เพื่อรับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่ดีสำหรับในปี 2559 เท่านั้น (บนสมมติฐานของอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 100% ในปี 2559)

ส่องกล้องไตรมาส 3/59 - กำไรหลักลดลง

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/59 ที่ 7.24 พันล้านบาท ลดลง 16% YoY และ 25% QoQ ถ้าไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 42 ล้านบาทในไตรมาส 3/59 เราคาดกำไรหลักที่ 7.2 พันล้านบาท ลดลง 18% YoY และ 24% QoQ สาเหตุที่กำไรหลักปรับตัวลดลงเนื่องจาก 1) การรับรู้ค่าใช้จ่ายของใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซซึ่งได้แก่ ค่าตัดจำหน่ายค่าใบอนุญาต (เพิ่มขึ้นจำนวน 1.2 พันล้านบาท) และต้นทุนทางการเงินจากมาตรฐานบัญชีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาต 900 เมกะเฮิร์ซ (เพิ่มขึ้นจำนวน 375 ล้านบาท) ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.2559 เป็นต้นไป และการรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับดีลพันธมิตรกับทีโอทีซึ่งได้แก่ ค่าเช่าอุปกรณ์ 2 จีของทีโอที (เพิ่มขึ้นจำนวน 498 ล้านบาท) และค่าเช่าเสาสัญญาณ 2 จีของทีโอที (เพิ่มขึ้นจำนวน 900 ล้านบาท) ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.2559 เช่นกัน 2) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (จากค่าใช้จ่ายด้านการตลาด) รวมถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเช่นกัน (จากการใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นเพิ่มเติมอีกจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท) และ 3) การพลิกกลับมาเป็นขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ QoQ เนื่องจากการให้ส่วนลดปกติสำหรับค่าเครื่องโทรศัพท์ที่เพิ่มมากขึ้นกับลูกค้าระบบโพสต์เพด เราประเมินว่าปัจจัยลบข้างต้นกลบผลกระทบทางบวกของรายได้บริการที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและต้นทุนด้านกฎระเบียบที่ลดลงอย่างมาก


ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 3/59

เราคาดรายได้บริการ (ที่ไม่รวมไอซี) ในไตรมาส 3/59 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5% YoY และ 0.8% QoQ รายได้บริการเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากได้ครอบครองใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซ เงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์สำหรับลูกค้า 2 จีที่ลดลงในไตรมาส 3/59 จะถูกแทนที่ด้วยส่วนลดปกติสำหรับค่าเครื่องโทรศัพท์ที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนแคมเปญเครื่องโทรศัพท์ราคาถูก และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อสร้างแบรนด์ดิ้งของโครงข่าย 4 จีและการทำการตลาดในวงกว้างมากขึ้นสำหรับธุรกิจบรอดแบนด์ประจำที่ภายใต้แบรนด์ “เอไอเอส ไฟเบอร์” เราคาดผลขาดทุนขั้นต้น 440 ล้านบาท (หรืออัตรากำไรขั้นต้นที่ -8%) สำหรับรายได้จากการขายในไตรมาส 3/59 ซึ่งถือว่าพลิกกลับจากกำไรขั้นต้นที่ 114 ล้านบาท (หรืออัตรากำไรขั้นต้นที่ 2.3%) ในไตรมาส 2/59 ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 95% YoY และ 41% QoQ เนื่องจากต้นทุนดีลพันธมิตรกับทีโอทีที่บันทึกเข้ามาจำนวนมาก ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายมีแนวโน้มลดลง 3% YoY (แต่เพิ่มขึ้น 29% QoQ เนื่องจากค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซดังที่ได้กล่าวข้างต้น) ต้นทุนด้านกฎระเบียบมีแนวโน้มลดลง 46% YoY และ 19% QoQ

ความไม่แน่นอนสูงว่าจะรักษาอัตราการจ่ายปันผลที่ 100% ได้หรือไม่ในปี 2560

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/59 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายดีลพันธมิตรกับทีโอทีอีกหนึ่งรายการสุดท้ายได้แก่ ค่าใช้จ่ายโรมมิ่งคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ซของทีโอที (975 ล้านบาทต่อไตรมาส) โดยจะเริ่มบันทึกตั้งแต่ไตรมาส 4/59 เป็นต้นไปนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซ และค่าเช่าอุปกรณ์และเสา 2 จีของทีโอที ภายใต้สมมติฐานของ เกณฑ์อัตราส่วนภาระหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ 2 เท่าซึ่งเป็นถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม (ซึ่งบริษัทจะต้องตัดสินใจว่าระดับที่เหมาะสมอยู่ที่เท่าไร) และการยังคงอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 100% เราประเมินว่าอัตราส่วนภาระหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของ ADVANC มีแนวโน้มขึ้นไปอยู่ในระดับที่เกิน 2 เท่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป (2.57 เท่า ณ สิ้นปี 2563 และ 2.50 เท่า ณ สิ้นปี 2564) สำหรับ ณ ปัจจุบันเราใช้สมมติฐานอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 80% ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป