‘ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์’ตัวตนใต้เงาคิง พาวเวอร์
ไทยแอร์เอเชีย แชมป์โลว์คอสต์ ในคิงพาวเวอร์ถือหุ้นใหญ่แทน ‘ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์’ซีอีโอคนเดิมใช้กลยุทธ์เดิมเพิ่มเติมคือรักษาแชมป์-แบรนด์ตั๋วถูก
ในงานอบรมหลักสูตร “ผู้นำธุรกิจระดับโลก“(Global Business Leaders Program) หรือ GBLโดยสถาบันลีก บิซิเนส (Lead Business Institute) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ซึ่งมีนักธุรกิจมีชื่อเสียงไปร่วมอบรมกว่า50คน
โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้เชิญ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ซีอีโอบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย มาบอกเล่าเส้นทางการเติบโตธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) ภายใต้การแข่งขันรุนแรง รวมถึงหลักการบริหาร เพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อยอดโมเดลธุรกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลง
“ธรรศพลฐ์” เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจไทยแอร์เอเชียในไทยว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้งแอร์เอเชีย โลว์คอสต์แอร์ไลน์สัญชาติมาเลเซีย เข้ามาบุกเบิกธุรกิจในไทยเมื่อปี 2546 โดยเข้าร่วมทุนกับ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)ในขณะนั้น จัดตั้งบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ก่อนที่กลุ่มชินฯจะขายหุ้นให้ผู้บริหารในปี 2550 ทำให้เขาและครอบครัวก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในที่สุด
ล่าสุด ยังเกิดดีลประวัติศาสตร์เมื่อวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจคิง พาวเวอร์ เข้าซื้อหุ้น 39% ทำให้เขาต้องลดบทบาทจากผู้ถือหุ้นใหญ่ลง ถือเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลง
ทว่า สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือตัวเขายังคงเป็น “แม่ทัพใหญ่”
“คิง พาวเวอร์บอกว่าสนใจลงทุนธุรกิจนี้ และเห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเปลี่ยนอะไร วันแรกที่อยู่ในไทยแอร์เอเชียผมถือ 1% และเพิ่มขึ้นเป็น 20%ไม่ว่าสัดส่วนหุ้นเท่าไหร่ แต่ทัศนคติทำงานและมุมมองกับไทยแอร์เอเชียยังเหมือนเดิม ไม่มีความกดดัน เป็นตัวของตัวเอง เพราะผู้ถือหุ้นใหม่เห็นว่ากลยุทธ์ธุรกิจดีอยู่แล้ว” เขาเล่า
การหลอมรวมผนึกกำลัง (Synergy) ระหว่างไทยแอร์เอเชีย และคิง พาวเวอร์ สำหรับเขายังจะเป็น “แต้มต่อ”เสริมจุดแข็งทางการตลาด อาทิ การออกแคมเปญ โปรโมชั่น และกิจกรรมเรียกลูกค้า โดยเฉพาะเป้าหมายลูกค้าจีน
“หลายอย่างสามารถเชื่อมโยงโปรโมชั่นกันได้ ทำให้ผู้โดยสารรักเรามากขึ้น อาจจะซื้อตั๋วไปลดราคาสินค้าเมื่อชอปปิง เป็นต้น”
ทว่า แม้เจ้าตัวจะออกตัวว่าไร้แรงกดดันในการบริหารงาน แต่ก็ไม่วายหลุดแสดงความกังวลเล็กๆออกมาว่า
“เราขึ้นมาเป็นที่หนึ่งโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในไทย ที่ถือว่าได้มายากแล้ว แต่ยากยิ่งกว่าคือการรักษามัน”
ความยากที่ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆของการเริ่มต้นธุรกิจ ที่จำไม่ลืมคือ “เครื่องบินเก่า” เพราะเริ่มต้นธุรกิจด้วย“เครื่องบินมือสอง”
“วันแรกที่เปิดใช้เครื่องบินเก่าโบอิ้ง 747 จำนวน 2 ลำ ดีเลย์ครั้งเดียว 6-7 ชั่วโมง ถูกด่ายันบรรพบุรุษ จนต้องเปลี่ยนเครื่องเป็นเครื่องบินป้ายแดง”
นับจากวันนั้น ไทยแอร์เอเชียให้บริการการบินด้วยเครื่องบินใหม่ จนปัจจุบันใช้เครื่องบินใหม่ทั้งหมด 50 ลำ แต่ละลำอายุการใช้งาน 12 ปี จึงเริ่มสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ แอร์บัส นีโอ เอ็นจิ้น ซึ่งเป็นเครื่องบินประหยัดพลังงานได้ถึง15% โดยมีแผนส่งมอบเครื่องบินให้ทันกับเครื่องบินเดิมที่่กำลังปลดประจำการในอีก 5 ปีข้างหน้า
เขาบอกว่า เมื่อเครื่องบินรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนผสม สัดส่วนครึ่งหนึ่ง นั่นหมายถึง แต้มต่อธุรกิจจะเพิ่มมากขึ้น จากประสิทธิภาพของการประหยัดน้ำมัน
“ประหยัดน้ำมันได้แค่ 10% เราก็ยิ้มแล้ว เพราะต้นทุนน้ำมันปีละ 12,000 ล้านบาท หากเราประหยัดได้ 5% ถือว่าประหยัดได้อย่างน้อยราว 500 ล้านบาท”
เขาอธิบายต่อว่า วันที่น้ำมันแพงที่สุด 146 ดอลลาร์ต่อบาเรล เกิดขึ้นเมื่อ5 ปีที่แล้ว หวุดหวิดปิดกิจการหากน้ำมันไม่ลดลงภายใน 3 เดือน เพราะต้นทุนน้ำมันพุ่งเป็น 52% เป็นผลกระทบหลักธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ฯ
ผู้บริหารไทยแอร์เอเชีย ยังเล่าถึงวิถีไทยแอร์เอเชีย ในการก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ด้วย 2 กลยุทธ์คือ สินค้าและบริการ (Product & Service) และการสื่อสาร (Communication) เพื่อสร้างแบรนด์
อย่างแรก ในแง่สินค้าและบริการ ไทยแอร์เอเชียเป็นสายการบินชัดเจนเรื่อง “ตั๋วถูก” และ “บินตรงเวลา” ที่มาจากการบริหารจัดการองค์กรภายในแบบลดการสูญเสีย หรือเรียกว่าไขมัน (Lean)ได้มากที่สุดในโลก (CASK -Cost Average per seat Kilometre) ด้วยค่าใช้จ่าย 1 ที่นั่งมูลค่า 2.7 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมค่าน้ำมัน หากรวมค่าน้ำมันราคา 4.3 ดอลลาร์สหรัฐ
“วันนี้เราสร้างมาตรฐานตัวเอง เราเริ่มใหญ่ขึ้น ต้องหาวิธีไม่ให้มีไขมันเป็นหมูอ้วน ทำให้ต้นทุนถูกเพื่อขายตั๋วได้ถูก ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ซึ่งเป็นเรื่องยาก คู่แข่งมาทีหลังก็ใช้โลว์คอสต์พรีเมี่ยม และเพิ่มเงินเดือนจูงใจพนักงานจากอุตสาหกรรมการบินที่เผชญปัญหาขาดแคลนนักบิน เราก็ต้องหาวิธีทำให้คนรักองค์กร"
ขณะที่การสื่อสาร ชัดเจนที่สุด คือการโปรโมทเครื่องบินใหม่ แต่เก่ากัปตัน ที่มีความเชี่ยวชาญ
ส่วนประเด็นเรื่องการพัฒนาคน เขาบอกว่า ในอุตสาหกรรมการบินมีผู้เล่นหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้เผชิญภาวะแย่งลูกค้าและชิงตัวพนักงานและกัปตัน ดังนั้นไทยแอร์เอเชียก็ต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่า หรือไม่ต่างกัน
“พนักงานออฟฟิส เราจ่ายสูงกว่าที่อื่น10% แต่ช่างซ่อมและกัปตัน เท่ากันกับที่อื่น เพียงแต่ต้องคุยกับพวกเขาให้รู้เรื่อง สำหรับพนักงานในออฟฟิศ เรามีวัฒนธรรมการทำงานไม่มีขั้นมากมาย และห้องผู้บริหารไม่มีประตู มีปาร์ตี้บ่อยมากถึงบ่อยที่สุด ทำงานให้มีความสุข ให้ทุกคนเป็นดาว (all star) มีเวทีแสดงออก เพราะเราให้รางวัลคนด้วยโบนัส ไม่ใช่ตำแหน่ง ไม่เช่นนั้นถีบหัวกัน ไม่มีขั้น ไม่มียูเนี่ยน มีแต่เธอกับฉัน"