'จรยุทธ์' ปฏิบัติการรบ 'เฮียฮ้อ'

'จรยุทธ์' ปฏิบัติการรบ 'เฮียฮ้อ'

ธุรกิจทีวีตัวทำเงินหลัก โจทย์นี้วางเดิมพันสูง เมื่อเป็นเช่นนั้น 'สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์' เจ้าของ 'อาร์เอส' จำต้องยืดแผน 'สละเก้าอี้บริหาร'

แม้ทีมบริหาร บมจ.อาร์เอส หรือ RS จะพยายาม 'แก้เกมธุรกิจ' มาตั้งแต้ต้นปี 2558 ด้วยกลยุทธ์ 'ยืดหยุ่น' หลังเม็ดเงินโฆษณาหดหาย ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งในและนอกประเทศ แต่ในแง่ของรายได้รวม และรายได้จากการขายโฆษณาของทั้งช่อง 8 ,ช่อง2 ,ช่องสบายดีทีวี,ช่อง You Channel และคลื่นวิทยุคูล 93 ฟาเรนไฮต์ กับไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยตั้งไว้เมื่อต้นปี 2558

'เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์' ประธานกรรมการบริษัท บมจ.อาร์เอส ยอมรับกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ว่า เมื่อปีก่อนอาร์เอสต้องทำงานอยู่บนความยากลำบาก หลังต้องเผชิญหน้าทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ และยังมาเจอเรื่องเซอร์ไพรส์จากภาวะเศรษฐกิจเมืองจีน และความขัดแย้งของบางประเทศตอกย้ำอีก

บทเรียนในครานั้น ทำให้เราตัดสินใจ นำปัจจัยหลากหลายเรื่องของต่างประเทศมาประเมินว่า เรื่องใดจะกระทบต่อการทำธุรกิจมีเดียในปี 2559 ของบริษัทบ้าง ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ ถือเป็น 'ครั้งแรก' ของอาร์เอส เพราะที่ผ่านมา เรามักจะนำเพียงปัจจัยภายในประเทศมาเป็นตัวประกอบหลักในการวางกลยุทธ์เท่านั้น

หากมองย้อนกลับไปในอดีต สัดส่วนรายได้ 80% ของบริษัทมาจากธุรกิจบันเทิง ฉะนั้นปัจจัยนอกบ้านจะส่งผลกระทบต่อเราน้อยมาก แต่วันนี้บริษัทมีรายได้กว่า 70% มาจากธุรกิจมีเดีย ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวเลขจีดีพี ดังนั้นเมื่อเม็ดเงินโฆษณาไม่เข้าสู่ระบบเหมือนเดิม ย่อมส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง

'ภายในปี 2560 ธุรกิจมีเดียอาจมีสัดส่วนรายได้กว่า 80% หากเราไม่มีธุรกิจอื่นเสริมทัพ'

๐ไตรมาส 2 เงินโฆษณาคัมแบ็ค

ในมุมของอาร์เอสมองว่า ปี 2559 สถานการณ์ต่างประเทศจะเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเงิน และภาวะเศรษฐกิจของเมืองจีน ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ในฐานะนักธุรกิจ ต้องการแค่ “ความนิ่ง” ไม่ฟื้นตัวไม่ว่ากัน แต่หากทุกอย่างสงบผู้ประกอบการก็สามารถทำงานต่อได้

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจในเมืองไทย ส่วนตัวมองว่า มีโอกาสฟื้นตัว และอาจดีขึ้นตามลำดับ เมื่อถามถึงสัญญาณที่เป็นตัวบ่งบอก 'เฮียฮ้อ' บอกว่า แน่นอนอันดับแรกเกิดจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อเม็ดเงินลงสู่ภาคประชาชน ดัชนีความเชื่อมั่นย่อมต้องกลับมา นั่นหมายความว่า ประชาชนและเจ้าของสินค้าจะกล้าใช้เงินมากขึ้น

ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาจะค่อยๆมา แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จะยังไม่เห็นเม็ดเงินโฆษณากลับมา หลังผู้ประกอบการหลายรายใช้เวลาในการวางแผนการใช้เงินโฆษณานานกว่าเดิม ซึ่งปกติแผนงานต้องแล้วเสร็จในช่วงเดือนก.พ.หรือมี.ค.

ส่วนตัวคาดว่า เจ้าของสินค้าจะสรุปแผนการใช้เงินโฆษณาได้ในช่วงไตรมาส 2 ส่วนใหญ่ต้องการรอดูสถานการณ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เงินโฆษณาอาจเข้าสู่ระบบอย่างเต็มตัวในช่วงไตรมาสสอง และโอกาสจะเห็นเงินโฆษณาเติบโตเฉลี่ย 3-7% ในปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้

'เมื่อสองปีก่อนเฮียไม่ชอบสถานการณ์ในเมืองไทย เพราะต่อให้เศรษฐกิจดี แต่บ้านเมืองไม่สงบ นักธุรกิจทำงานลำบาก สถานการณ์ในวันนี้ เรารู้สึกพอใจ'

ถามลึกไปถึงวิธีการดึงเม็ดเงินโฆษณาของอาร์เอสในปี 2559 'เฮียฮ้อ' บอกว่า กลยุทธ์ คือ 'การไม่มีกลยุทธ์' (หัวเราะ) สำหรับอาร์เอสเราจะเดินหน้าทำธุรกิจแบบ 'จรยุทธ์' หมายความว่า เราพร้อมจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด ที่ผ่านมาก็ใช้วิธีนี้มาตลอด เพราะพิสูจน์แล้วว่า 'ได้ผล'

แต่จะขอพูดให้เห็นภาพง่ายๆ แบบนี้แล้วกัน อาร์เอสจะเดินหน้าทำงานผ่าน 2-3 มิติ เช่น จะทำเพียงสื่อที่มีศักยภาพเท่านั้น ส่วนสื่อตัวใดที่ยังแข็งแรงไม่พอ หรือยังไม่ถึงเวลา เราจะหยุดหรือชะลอการทำสื่อนั้นออกไปก่อน เมื่อปลายปีก่อน บริษัทตัดสินใจหยุดดำเนินการคลื่นวิทยุ 88.5 แบบถาวร เพราะไม่คุ้มค่าต้องการลงแรง

นอกจากนั้นยังได้หยุดการดำเนินการชั่วคราว สำหรับรายการเพลินทีวี แม้เรตติ้งรายการจะดีมากระดับหนึ่ง หลังเปิดตัวมาได้ 5-6 เดือน แต่มองว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับของดีชิ้นนี้ เราตั้งใจจะกลับมาอีกครั้ง เมื่อมีความพร้อมมากกว่านี้

๐ ลุ้น 'ช่องทางใหม่' ดันธุรกิจเพลง

'หุ้นใหญ่' เล่าถึงแผนงานในธุรกิจเพลง และธุรกิจอีเวนต์ว่า ปีนี้สองธุรกิจนี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทเฉลี่ย 35% ปัจจุบันทั้งสองอุตสาหกรรมตกอยู่ในลักษณะ “นิ่ง” และการแข่งขันไม่สูง ไม่รุนแรงเหมือนในอดีต ทำให้บริษัทสามารถควมคุมได้ ฉะนั้นการทำธุรกิจนี้ท่ามกลางเศรษฐกิจเช่นนี้ ไม่น่ายากเท่าไรนัก เพราะเราได้วางแผนสอดรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

ปัจจุบันผู้บริโภคยังคงมีพฤติกรรมฟังเพลงมากขึ้น เพียงแต่อุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ เพราะเพลงยังเป็นอุตสาหกรรมเดียวในโลกที่ยังต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแพร่กระจายของสังคมออนไลน์ รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ทุกวันนี้ยังคงไม่หยุดนิ่ง

ที่ผ่านมาอาร์เอสมีการปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะในแง่ของ 'ช่องทางการหารายได้' และการวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับรายได้ที่จะเข้ามา รวมถึงการจัดโครงสร้างของพนักงานให้มีความคล่องตัว ซึ่งเราจะปรับเรื่องนี้กันทุกๆ 6 เดือน

ธุรกิจเพลงของบริษัทมีรายได้บางส่วน จากผู้ให้บริการ Music Streaming แต่ตอนนี้กำลังจะมี 'ช่องทางใหม่' เกิดขึ้น นั่นคือ 'รายได้จากการโฆษณาสินค้าผ่าน Youtube' ซึ่งเราจะได้ส่วนแบ่งจาก Youtube ตามยอดวิวและยอดโฆษณาที่เข้ามาแทรกในมิวสิควีดีโอ

ช่องทางการหารายได้ดังกล่าว เพิ่งเข้าสู่ตลาดไทยอย่างจริงจังเมื่อปีก่อน ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสเติบโต และอาจผลักดันให้อุตสาหกรรมเพลงสามารถประคองตัวไปได้ระยะหนึ่ง แต่จะทำให้อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกฟื้นตัวหรือไม่ คงต้องจับตาดูต่อไป

เมื่อก่อนอุตสาหกรรมเพลงเคยคาดหวังกับยอดดาวน์โหลด แต่ฮิตได้เพียง 2-3 ปี ก็หายไป จากนั้นก็คาดหวังต่อว่า Music Streaming จะมาพลิกฟื้นอุตสหกรรมเพลงทั่วโลก แต่สุดท้ายก็ไม่มา วันนี้อุตสาหกรรมเพลงเปลี่ยนจากการหารายได้ จาก 'ผู้ฟัง' มาเป็น 'เจ้าของสินค้า' แทน ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่า จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

'แม้อุตสาหกรรมเพลงจะนิ่ง แต่ในแง่ของกำไรขั้นต้นยังทำได้สูงถึง 50-60%' 

'เจ้าของอาร์เอส' ทิ้งท้ายว่า แม้ 'กลุ่มคิง เพาเวอร์' จะเข้ามาซื้อหุ้นบิ๊กล็อตอาร์เอส 94 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา จากกลุ่มเชษฐโชติศักดิ์ แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร แม้แต่ 'เคน-โสรัตน์ วณิชวรากิจ' ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับสอง และกรรมการ อาร์เอส เขาก็ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานเช่นกัน

ใครจะเข้ามาลงทุนในอาร์เอส ต้องเข้าใจเนื้อธุรกิจ และต้องเชื่อมั่นในแผนธุรกิจและศักยภาพขององค์กร ที่ผ่านมานักลงทุนหลายรายที่เข้ามาถือหุ้นอาร์เอส มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ซื้อหุ้น เพราะ Believe (เชื่อ) ในตัวของชายชื่อ 'สุรชัย'

หากวันหนึ่งผู้ถือหุ้นรายใดคิดจะขายหุ้นอาร์เอสย่อมทำได้ แต่ถ้าจะขายให้เฮียก็ยินดีรับซื้อคืน เพราะทุกวันนี้ก็ซื้อผ่านกระดานตลอด หลังราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐานมาก

วันนี้เฮียมีภาพอาร์เอสในช่วง 5 ปีข้างหน้าแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเล่าให้ฟังได้ บอกได้เพียงว่า อาจมี 'ธุรกิจใหม่เกิดขึ้น' และจะเป็นตัวทำเงินที่ดี ตลอดสิบปีที่ผ่านมา เฮียจัดองค์กรมาตลอด โดยจะพยายามมองอาร์เอสให้หลุดออกจากกรอบเดิม ด้วยการใช้สองขาแข็งแรงที่ได้จากการทำสองธุรกิจนี้มาต่อยอดกำไรขั้นต้น

ครึ่งปีหลังของปี 2559 เราอาจมี 'สตอรี่ใหม่' เกิดขึ้นก็ได้ใครจะรู้ ซึ่งเรื่องนี้เฮียคิดมาตั้งแต่สิบปีก่อน วันนี้อาจถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว เพราะเราพิสูจน์มาแล้วว่า ทีมงานของบริษัทมีศักยภาพในการออกไปทำงานนอกสาย

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เฮียสนุกกับการทำงานมีเดียมากๆ เดิมตั้งใจจะถอยจากทีมบริหารตอนอายุ 55 ปี (เขาเกิด 5 พ.ย.2505) และปล่อยให้ทีมงานทำงานแทน เพราะช่วงนั้นทำงานแล้วไม่รู้สึกท้าทาย แต่เมื่อโดดเข้ามาทำธุรกิจทีวีดิจิตอลเต็มตัว กลับรู้สึก 'สนุก' ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเดิมพันของเฮียวางไว้สูงมาก (หัวเราะ)

'องค์กรจะเติบโต ผู้บริหารต้องมี Mindset (กรอบความคิด) ที่ดี การหันมาทำธุรกิจมีเดีย ถือว่าถูกจริตอาร์เอส เพราะรายการออกอากาศวันนี้พรุ่งนี้รู้ผลเรตติ้งเลย' 

๐ ปีแห่งการลงทุน 'ทีวีดิจิทัล' 

แม้เม็ดเงินโฆษณาจะยังไม่คืนกลับมา แต่เหล่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหญ่ ต่างพร้อมใจพากันออกมา 'ปรับทัพ' หวังชิงเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีที่มีอยู่กว่า 8 หมื่นล้านบาท และสายตาคนดู รวมถึงตำแหน่ง 'ผู้นำอุตสาหกรรมทีวีเมืองไทย'

ฟาก บมจ.เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป แสดงจุดยืนชัดเจนว่า 'ปีแห่งการลงทุนด้านคอนเทนท์' จะเกิดขึ้นในปี 2559 ล่าสุดพร้อมทุ่มเงินลงทุน สำหรับทีวีสองช่อง นั่นคือ สถานีข่าวเนชั่นทีวี และ ช่องวาไรตี้ NOW26 มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท

ตามแผนการลงทุน บริษัทจะคัดสรรคอนเทนท์คุณภาพระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสารคดี และซีรีส์ที่การันตีด้วยรางวัลระดับโลกมาให้คนไทยได้รับชม นอกจากนั้นเครือเนชั่นยังมีแผนจะลงทุนผลิตสารคดี ทั้งผลิตเอง โดย NOW Studio และสนับสนุนผู้ผลิตสารคดีในประเทศให้เติบโตไปพร้อมกับช่อง 

ขณะเดียวกันยังมีแผนจะสนับสนุนผู้ผลิตสารคดีในประเทศที่มีฝีมือทัดเทียมกับสตูดิโอสารคดีระดับโลก โดยตั้งงบประมาณไว้ระดับ 60 ล้านบาท

ส่วน สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 ในฐานะเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล3ช่อง คือ ช่องเอชดี33,ช่อง28เอสดี และช่อง13แฟมิลี่ ล่าสุดเตรียมเสริมคอนเทนท์รายการกลุ่มกีฬา เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร2016 และซีรีส์การ์ตูนระดับโลก 

ด้าน บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี วางแผนจะเพิ่มทุน จาก 1,500 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันปี 2559 ยังเดินหน้าทำงาน ด้วยการจับมือกับพันธมิตรกลุ่มต่างๆ 

นอกจากนั้นยังจะเพิ่มรายการทั้งละคร ข่าว กีฬา และบันเทิง ทุกช่วงเวลา ล่าสุดได้จับมือกับ ไลน์ ประเทศไทย เพื่อนำละครไทยมานำเสนอผ่านไลน์ทีวี

สำหรับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในฐานะเจ้าของช่องวันและจีเอ็มเอ็ม25 เตรียมทุ่มงบลงทุนด้านการผลิตคอนเทนท์ 3,000 ล้านบาท ส่วนบมจ.อสมท จะลงทุนด้านการผลิตคอนเทนท์ 700-800 ล้านบาท โดยจะเน้นรายการกลุ่มบันเทิง เกมโชว์ ข่าว และสารคดี

ด้าน บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จะทุ่มเงินลงทุนผลิตรายการ 600-700 ล้านบาท เพื่อเสริมผังรายการใหม่ในทุกช่วงเวลา ส่วน บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน มองว่า ธุรกิจทีวีดิจิทัลยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก