'TK park' เมื่อห้องสมุดเป็นมากกว่าศูนย์เรียนรู้

'TK park' เมื่อห้องสมุดเป็นมากกว่าศูนย์เรียนรู้

TK park“ห้องสมุดมีชีวิต”ที่จะสลัดการเรียนรู้ในโลกยุคเก่าให้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง นี่ไม่ใช่แค่ห้องสมุดแต่คือโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“คงเป็นการยากที่จะบอกว่าเราสำคัญอย่างไร แต่อยากให้ลองมองประเทศที่มีความก้าวหน้า ไม่ว่าจะในเอเชียหรือเพื่อนบ้านอาเซียนเอง นโยบายของทุกๆ รัฐบาล เขาจะมุ่งเน้นในการสร้างแหล่งเรียนรู้สาธารณะให้มากขึ้น เขาทำห้องสมุดด้วยทุนมหาศาล ทำพิพิธภัณฑ์ด้วยทุนที่ประมาณการไม่ได้ ทำศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้จะตอบเราได้เองว่า ทำไมเขาถึงคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ แล้วเราสำคัญอย่างไร ก็ขอให้ดูประเทศเหล่านี้”

คำของ “ราเมศ พรหมเย็น” รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park คนใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา

 ท่ามกลางกระแสข่าวการ “ยุบ-ไม่ยุบ” สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) พ่วงด้วย มิวเซียมสยาม และ TK park เมื่อปลายปีก่อน ถึงตอนนี้จะพอหายใจสะดวกขึ้น เมื่อรัฐบาลออกมายืนยันว่า จะยังไม่มีการยุบใดๆ เพียงแต่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประเมินผลงาน และบุคลากร ในการใช้งบประมาณให้ตรงตามวัตถุประสงค์เท่านั้น

แต่นี่ก็เป็นพันธกิจสำคัญของผู้นำอย่างเขา ที่จะทำให้คนทั่วไปได้รู้จัก TK park มากขึ้น

อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันนี้ผ่านมา 11 ขวบปี มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 5.3 ล้านคน มีสมาชิกว่า 4.9 หมื่นคน การยืม-คืนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ประมาณ 4 แสนครั้งต่อปี (ณ 31 ธันวาคม 2558)

พันธกิจหลักของห้องสมุดมีชีวิต คือ สร้างและพัฒนาต้นแบบสิ่งเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ และเป็นเวทีให้เด็กและเยาวชนได้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกัน ซึ่งความต้องการเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมรองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ เป็นหนึ่งเหตุผลที่พวกเขาเลือก “ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์” มาสร้างอาณาจักร TK park ทว่าก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่า ที่นี่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองชนชั้นกลางในเมืองกรุงเท่านั้น

“TK park ไม่ได้ทำเพื่อชนชั้นกลางในกรุงเทพเท่านั้น เพราะว่างานส่วนใหญ่ของเราปัจจุบันเกินกว่า 90% อยู่ต่างจังหวัด”

เขาอธิบายว่า ปัจจุบัน TK park มีเครือข่ายรวม 34 แห่ง อยู่ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป้าหมายคือ ต้องการกระจาย TK park ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2559 นี้ จะเปิดได้อีก 21 แห่ง อาทิ ที่ ร้อยเอ็ด, ภูเก็ต, กระบี่ และ ปัตตานี พร้อมทยอยเปิดให้มากขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลจะได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้มีชีวิต

“เราเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่าย ก็เพื่อทำให้องค์ความรู้หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ TK park ทำ เราไม่ได้ใช้เงินของหน่วยงานกลางเพื่อที่จะไปสร้างสาขาในต่างจังหวัด แต่เป็นการไปโน้มน้าวผู้บริหารท้องถิ่นให้สร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นด้วยตัวเขาเอง ในพื้นที่ของเขา การทำงานของ TK park ในงานหนึ่งชิ้น ด้วยเงินจำนวนหนึ่งหน่วย จึงสามารถกระจายผลสู่เครือข่ายได้ถึง 34 แห่ง นั่นแปลว่า ต้นทุนเราลดลงถึง 34 เท่า”

ราเมศ บอกข้อดีของกระบวนการทำงานในลักษณะเครือข่าย ที่เขาให้นิยามว่า

“เพื่อนร่วมทางในการทำงานร่วมกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน”

นอกจากการเรียนรู้ผ่านพลังของเครือข่ายในต่างจังหวัด พวกเขายังพัฒนาสื่อเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึง TK park ง่ายขึ้น แม้ไม่ได้เดินทางมาที่ห้างฯ กลางกรุง โดยการสร้างห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศ ณ เวลานี้ ในชื่อ “TK Public Online Library” กับหนังสือกองโตที่มีให้เลือกเสพมากกว่า 7,000 เล่ม

“นั่นจะทำให้ไม่ใช่แค่เด็ก ที่จะแสวงหาองค์ความรู้ จาก TK park ได้ แต่หมายถึงประชาชนทุกคนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่สามารถเข้าถึงเราได้ ทุกที่ ทุกเวลา และทุกโอกาสที่เขาต้องการ”

รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาด้านการบริการ การออกแบบการบริการและการทำงานใหม่ๆ เพื่อสนองตอบกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เขาว่า มุ่งหมายเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ TK park เป็นต้นแบบของห้องสมุดมีชีวิตในระดับสากล ระดับนานาชาติ และหากเป็นได้ก็อยากให้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของต่างชาติในอนาคตด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้เรารู้จัก TK park ในฐานะแหล่งเรียนรู้มีชีวิต จากนี้เราจะได้เห็นบทบาทของพวกเขาที่มากขึ้น ในการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกันในสังคม และ “เติมเต็ม” สังคมผ่านเครื่องมือต่างๆ

เขายกตัวอย่าง โครงการ Seen & Teen space เครื่องมือที่จะส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ของคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่ง Seen คือตัวแทนของกลุ่มผู้ใหญ่ที่รู้แจ้งเห็นจริง ส่วน Teen ก็คือกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยพวกเขาจะทำพื้นที่ทดลองให้คนสูงวัยและเด็กๆ ได้มาอยู่ร่วมกัน มาทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อจะได้เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

“ทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่า ที่มีองค์ความรู้ มีของ กับเด็กรุ่นใหม่ที่กระหายอยากที่จะเรียนรู้ผ่านเครื่องมือสมัยใหม่ ได้มาเจอกัน แล้วสร้างกระบวนการเรียนรู้นี้ขึ้นมา โดยผู้ใหญ่อาจบอกว่าฉันจะเข้าใจเด็กมากขึ้น ในขณะเด็กเองก็จะรู้ได้ว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่มีคุณค่าและซ่อนอยู่ในผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านี้ นี่เองที่เราจะทำเพื่อเติมเต็มสังคม”

ขณะเดียวกันก็ต่อยอดจากการเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ค้นหาความรู้และแรงบันดาลใจ ด้วยการพัฒนา TK park สู่การเป็นพื้นที่แห่ง Maker Space และ Meeting Space ดึงคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน เข้ามาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ หรือทำโครงงานร่วมกันให้เกิดขึ้นจริง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเป็นพื้นที่ในการประชุมพูดคุย เพื่อต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในสังคมมากขึ้น เขาบอกว่า เชื่อว่ากระบวนการอ่านต้องประกอบด้วยการมีชุมชน (Community) ของกลุ่มคนในสังคมเป็นที่ตั้ง

“จะเห็นแนวโน้มอย่างหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ว่า เขาต้องการทำงานประจำน้อยลง แต่ต้องการแสวงหาสิ่งที่จะเติมเต็มความชอบ ความสุข และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ มากขึ้น ซึ่ง TK park จะเป็นสถานที่ที่เขาจะได้ทดลอง หาตัวตน มาทำเวิร์คช้อป ฟังเสวนาต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินอะไรบางอย่างกับชีวิตของเขา”

11 ปีของการทำงาน ผู้นำคนใหม่บอกเราว่า TK park เป็นความสำเร็จที่เกินฝัน โดยหากเป็นภาคเอกชน Business Model ของ TK park จากยุคเริ่มต้นในการจัดตั้งองค์กร ก่อร่างสร้างตัว จนมาอยู่ในช่วงของการขยายผลเช่นวันนี้นั้น นับเป็นความสำเร็จที่เกินฝันสำหรับเขา

“ที่บอกว่าเกินฝัน เพราะในช่วงของการขยายผลนั้น เราไปได้รวดเร็วมาก ด้วยการตอบสนองของท้องถิ่น เหตุผลเพราะลักษณะของการทำงาน การที่เรามุ่งมั่นที่จะทำงานจากฐานรากทางความคิดร่วมกัน ทำให้การขยายผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันประชาชนในท้องถิ่นได้ประโยชน์ ผู้บริหารของท้องถิ่นต่างๆ ก็เริ่มเห็นว่า ทำงานในลักษณะนี้ประชาชนชื่นชม ก็เข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น”

ยังมีความท้าทายรออยู่ในวันหน้า เขาบอกแค่ว่า ขอทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่า กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

“ผมคิดว่าผลงานของ TK park จะเป็นส่วนตอบสนอง และช่วยเป็นลมใต้ปีกให้กับตัวองค์กร ในการที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป เชื่อว่า รัฐบาลเองเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีว่า สิ่งใดคือสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ และชื่นชอบ เป็นทางเลือกหรือทางออก ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง”

  และนั่นคือวิสัยทัศน์ของเขา ในวันที่ห้องสมุด จะเป็นมากกว่าศูนย์เรียนรู้ แต่คือผู้เติมเต็มสังคม