‘วินิจฉัย-ตัดสินใจ’ สูตรบริหารโรงพยาบาลยันฮี

‘วินิจฉัย-ตัดสินใจ’ สูตรบริหารโรงพยาบาลยันฮี

หมอ7คนลงขันธุรกิจ'ยันฮี โพลีคลินิค'ก่อนเอาดีความสวยงามด้านนามรพ.ยันฮีโด่งดัง 30 ปีเส้นทางหมอสู่นักบริหารวิถีคุณภาพของนพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา

มีใครเคยตั้งคำถามบ้างไหมว่าบรรดาหัวกะทิที่สวมเสื้อกาวน์เป็น “คุณหมอ” คอยรักษาคนไข้ ทำงานยากไหม ยิ่งยากขึ้นหรือไม่เมื่อหมอต้องมาสวมบทบาทเป็น “นักธุรกิจ” ครั้นมีโอกาสสนทนากับ “นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี หรืออีกฐานะหนึ่ง เขาคือหนึ่งใน “ผู้ก่อตั้ง” โรงพยาบาลยันฮี ที่ไม่ได้โดดเด่นแค่การรักษาพยาบาลโรคทั่วไป 

แต่ขึ้นชื่อในด้านการให้ “รักษาความงามอย่างครบวงจร” “เป็นนักธุรกิจ นักบริหาร ท้าทายกว่ายากกว่า” คำตอบเปื้อนยิ้มของนายแพทย์สุพจน์ เปรียบเทียบบทบาทการทำงานภายใต้การสวมหมวก 2 ใบ

เขาบอกว่า ความยากของการเป็นนักบริหารคือการ “ตัดสินใจทุกเรื่อง” ขณะที่การตรวจรักษาคนไข้ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในทุกเรื่อง เพราะหากวินิจฉัยแล้วพบโรคอื่นที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ ก็จะ “ส่งต่อ” ผู้ป่วยไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลอื่นอีกทอดได้

เช่น ถ้าตรวจเจอโรคหัวใจ ใจสั่น ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ก็รักษา แต่ถ้าเจอหัวใจรั่ว ต้องส่งต่อให้หมอหัวใจรักษาง่ายกว่า หากตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง จะให้เคมีบำบัด (คีโม) หรือตัดเนื้อร้าย ก็ต้องส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งจัดการ

“แต่ถ้าเป็นนักธุรกิจไม่รู้จะให้ใครตัดสินใจ” หมอสุพจน์ บอก

5 ปีที่ผ่านมา หมอสุพจน์วางมีดหมอผ่าตัด เข็มฉีดยา เพื่อทุ่มเทให้กับการบริหารแบบเต็มตัว

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นบนเส้นทางแพทย์ หลังหมอสุพจน์ จบการศึกษาแพทย์ศาสตร์ทางธรรมชาติบำบัด สหรัฐฯ และแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2526-2527 เริ่มเข้ามาเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพียง 1 ปี หมอก็มาเอาดีด้านการเปิด “ยันฮีคลินิค” แห่งแรกที่บางกรวย จังหวัดนนทบุรี

ธุรกิจดังกล่าวเกิดจากการลงขันกับเพื่อนหมอ รวม 7 คน ด้วยเงินทุนก้อนแรก 2 ล้านบาท ผ่านไป 5 ปี เริ่มมีสาขาที่ 2 กระทั่งปี 2540 จากคลินิคความงาม ก้าวสู่การเป็น “โรงพยาบาลยันฮี”

ที่เลือกใช้ชื่อ “ยันฮี” คุณหมอเล่าว่า เพราะธุรกิจคลินิคแรก ตั้งอยู่หน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเดิมคือ การไฟฟ้ายันฮี

ปีแรกๆ ช่วง 2541-2542 ของการเปิดโรงพยาบาล เป็นช่วงที่ลำบากไม่น้อย “โรงพยาบาลไม่มีคนไข้เลย เพราะคนไม่รู้จักยันฮี” หมอเล่า ก่อนขยายความว่า กว่าจะสร้างการรับรู้ ทำให้ผู้คนรู้จักต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี

ไร้คนไข้ว่าหนักแล้ว หนักยิ่งกว่าเมื่อการรักษาพยาบาลความงาม และศัลยกรรม หรือสวยด้วยแพทย์ในอดีตไม่ใช่เรื่องที่สังคมไทยยอมรับนัก 

ใครที่พึ่งพามีดหมอกรีดตาสองชั้น ทำจมูกให้โด่งได้รูป มักจะถูกตั้งคำถามกลับว่า “สิ่งที่พ่อแม่ให้มา..ไม่พอใจเหรอ” ยุคนั้นอยากสวยเลยต้องบินไกลถึงฮ่องกง ญี่ปุ่นและสหรัฐเพื่อให้หมอแต่งเติมเสริมสวยให้ ไม่ก็ต้องไปร้านเสริมสวยแทน 

“นอกจากพ่อแม่รู้แล้ว ยังโดนว่าเสียเงิน เสียเวลา ทำทำไมสวยอยู่แล้ว” หมอย้อนทัศนคติยุคเก่าก่อน

หมอมองกลับกันว่า “คนเราเกิดมา ถ้ามีโอกาสสวย ทำไมไม่ทำให้สวย” เมื่อตลาดต่อต้านการเสริมแต่งให้หล่อสวย เลยต้องหาช่องว่างสร้างการรับรู้ให้ได้ 

การรณรงค์ “สวยอย่างปลอดภัย” ต้องอาศัยการรับรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่จบศัลยกรรมโดยเฉพาะ นั่นเป็นกลยุทธ์แรก

“คนสมัยนั้นยังไม่รู้ว่าจะผ่าตัดเสริมหน้าอก เสริมจมูกต้องไปทางไหน จึงรณรงค์ให้สวยอย่างปลอดภัย สวยด้วยแพทย์สวยที่ยันฮี” จนผ่านจุดสร้างการรับรู้มาได้ กระทั่งโด่งดังในปี 2544-2550 ที่สำคัญเป็นโมเดลที่ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลต่างๆ ต้องมีแผนกความงาม ศัลยกรรมมารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความสวยหล่อในสังคมเปลี่ยนไป บริษัทจะรับคนเข้าทำงานดู “บุคลิกภาพที่ดี” มาเป็นตัวชี้วัดด้วย จากเดิมดูระดับการศึกษา เกรดเฉลี่ย เพื่อประมวลผลความรู้ความสามารถ 

“แตกต่างจาก 10 ปีก่อนเยอะเลย บริษัทจะไม่พูดตรงๆว่าอยากได้คนสวย แต่อยากได้คนบุคลิกภาพดี จริงๆก็คือความสวย เพราะคนสวยคือหน้าตาบริษัท”

30 ปีบนวิถี “หมอทำธุรกิจ” ไม่ง่าย เพราะแต่ละปีต้องเผชิญปัจจัยลบหลากหลาย ที่หินสุดหมอยกให้ปี 2554 วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ แม้ว่าโรงพยาบาลจะถูกปกป้องจากมหันตภัยครั้งนั้น แต่น้ำท่วมก็ทำให้คนไข้ไม่สามารถเข้ามารับบริการทางการแพทย์ได้ เป็นระยะเวลา 4 เดือนเต็ม จึงพิสูจน์ฝีมือการบริหาร “รายจ่าย” ล้วนๆ

ขณะที่ช่วง Peak (สูงสุด) ของธุรกิจโรงพยาบาลเกิดขึ้นในปี 2551-2555 (ยกเว้นน้ำท่วม) โดยด้านรายได้เติบโต 15-20% ต่อเนื่อง แต่มาปีนี้ดูเหมือนว่า “โลกป่วย” จนลุกลามเศรษฐกิจไทย ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลโตต่ำที่ 5% ต่ำสุดรอบ 5 ปี จนต้องปรับตัวด้วยการหานวัตกรรมการรักษาพยาบาล มาจูงใจผู้ป่วย 

ยกตัวอย่างแผนกทันตกรรม ที่ต้องเป็น one stop service ผู้ป่วยมารักษาฟันได้ครบทุกอย่าง โดยไม่ต้องส่งผ่านไปให้โรงพยาบาลอื่น หรือกระทั่งความงาม ศัลยกรรมครบวงจร “ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า” แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย ซึ่งเป็น “1 ใน 3” โรงพยาบาลระดับ “เอเชีย” ที่ทำได้สำเร็จ ถึงขั้นชาติเกาหลี ญี่ปุ่น ต้องบินมาไทยเพื่อผ่าตัด

ทว่า ความท้าทายปีหน้า หมอสุพจน์ยังให้ความสำคัญกับการรักษาปริมาณคนไข้เดิมไว้ เพื่อต่อยอด เช่น จากทำจมูก หากอนาคตต้องการทำตาต้องมายันฮี ไม่หนีไปโรงพยาบาลอื่น

จากเม็ดเงิน 2 ล้านบาท ทุนตั้งต้นสานอาณาจักโรงพยาบาลให้เติบใหญ่ จนสร้างรายได้เกือบ 2,500 ล้านบาทในปัจจุบัน กุญแจความสำเร็จเกิดจาก “คุณภาพการรักษา” ซึ่งต้องเน้นมากกว่า “ทำกำไร” ให้กับโรงพยาบาล “หมอสุพจน์” เผย

“คนไข้ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาล อย่างแรกคือทำอย่างไรให้เขาหายจากการเจ็บป่วย เพราะถ้ารักษาไม่หาย เขาจะไม่มาอีก คนไข้หายหมด มาแล้วดีขึ้น เรื่องที่สอง คือ ราคา คนไข้มาแล้วต้องไม่หมดตัว รักษาเสียเงินเท่านี้คุ้มไหม สามการรับประกัน อย่างความงามถ้าไม่ดีขึ้น เราแก้ไขให้ฟรี ต้องซื่อสัตย์ต่อคนไข้ สร้างความพึงพอใจให้เขาคุ้มกับเงินที่เสียไป” หมอสุพจน์ ทิ้งท้าย

++++++++++++

เมื่อ “หมอ” วินิจฉัยเศรษฐกิจไทย

พิษ “เศรษฐกิจ” ถดถอยทำให้ทั้งโลกเจ็บป่วยเรื้อรังหลายปี และยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวเร็วๆนี้ สถานการณ์ดังกล่าว ไทยเลี่ยงยากที่จะได้รับผลกระทบ “นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา” วิเคราะห์ว่า กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้คงต้องใช้เวลา“อีก 2 ปี” 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจ กำลังซื่อที่ชะลอตัว ยังกระทบรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลยันฮี เลยต้อง “ฉีดยาแรง” อัดโปรโมชั่นหั่นราคาค่ารักษาพยาบาลลง 10-50% ขึ้นอยู่กับแต่ละแผนก เพื่อจูงใจให้คนป่วยยังเข้ารับการรักษาอยู่

ในภาวะเช่นนี้ ใช่ว่าหมอจะกลัว “ความเสี่ยง” เลี่ยงลงทุน ตรงข้าม สัญญาณสังคมสูงอายุ ทำให้ทุ่มงบ 1,500 ล้านบาท ขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างโรงพยาบาล “ยันฮี เนิร์สซิ่งโฮม” เพื่อเปิดให้บริการในปี 2560

เมื่อคนเราเข้าสู่ “วัยชรา” สิ่งที่ตามมาคือ อาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ยันฮี เนิร์สซิ่งโฮม เลยสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ข้อนี้ และจะรองรับผู้สูงวัยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่แค่ยันฮี ที่มองเป็นโอกาสธุรกิจ ธุรกิจโรงพยาบาลหลายแห่งก็มุ่งไปทางนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ยันฮียังขยายการลงทุนสร้างอาคารอินเตอร์ 3 เพื่อรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มด้วย หากทุกอย่างแล้วเสร็จจะดับเบิ้ลรายได้เป็น 5,000 ล้านบาทในอนาคต