'ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป' โชว์ทาง 'เทิร์นอะราวด์'

'ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป' โชว์ทาง 'เทิร์นอะราวด์'

เปิดกลยุทธ์เติบโต 'ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป' หุ้นใหญ่ 'วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ' พร้อมปรับตัวสู่ 'ธุรกิจอาหาร' ควบคู่ 'รุกตลาดส่งออก'

แม้ หุ้น ไทยฟู้ดส์ กรู๊ป หรือ TFG ผู้ผลิตอาหารแบบครบวงจรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไก่และสุกร ด้วยการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ของ 'ตระกูลเตียวสมบูรณ์กิจ' ที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคปเป็นบริษัทที่ 3 ต่อจากหุ้น เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE และหุ้น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN จะเปิดซื้อขายวันแรก (8 ต.ค.2558) ต่ำจอง 10.26% จากราคาไอพีโอ 1.95 บาท

หลังในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทแสดงผลขาดทุน 928 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 642 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากธุรกิจไก่ได้รับผลกระทบจากราคาไก่ต่อกิโลกรัมลดลง โดยราคาหุ้นที่ซื้อขายต่ำจองในวันแรก 'วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ' และลูกชาย 'นัฐวุฒิ เตียวสมบูรณ์กิจ' พร้อมใจเข้าเก็บหุ้นตัวเองในสัดส่วน 209.32 ล้านหุ้น และ 298.06 ล้านหุ้น ราคาสูงสุด 1.83 และ 1.96 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ

ทว่า บล.ทรีนีตี้ กลับเชื่อว่า ในปี 2559 ผลการดำเนินงานของบริษัทจะกลับมาเป็น 'บวกอีกครั้ง' หลังในปี 2558 อาจแสดงผลขาดทุนประมาณ 319 ล้านบาท ขณะเดียวกันในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทอาจมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ในระดับ 20% และอาจมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 2.5% ต่อปี

'หุ้นเติบโต หรือ Growth Stock คือ เป้าหมายของหุ้น TFG เราจะสร้างผลประกอบการให้ขยายตัวปีละ 20-30%' ของ 'วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรู๊ป บุรุษที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกว่า 25 ปี แสดงจุดยืนผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' 

ผู้ก่อตั้ง ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป เล่าว่า เริ่มต้นทำธุรกิจเลี้ยงไก่ขายในอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ตามคำชักชวนของเพื่อน แรกเริ่มสามารถขายไก่ได้วันละ300-400 ตัว หรือสัปดาห์ละ 2 พันตัว ก่อนจะเดินหน้าขยายตลาด ด้วยการออกไปขายตามอำเภอเฉลี่ยวันละ 700-800 ตัวต่อวัน

ต่อมาในปี 2546 ตัดสินใจลงทุนในโรงผลิตชิ้นส่วนสัตว์ กำลังการผลิตเนื้อไก่ 1.39 แสนตัวต่อวัน เปิดดำเนินการได้เพียง 6 เดือน เจอวิกฤติไข้หวัดนก แต่โชคดีเสียหายไม่มากนัก เนื่องจากบริษัทยังไม่มีการเพาะพันธุ์ไก่ ซึ่งวิกฤติครั้งนั้น ถือเป็นโอกาสในการเข้า 'ซื้อกิจการ' ตอนนั้นเราซื้อฟาร์มไก่พ่อ-แม่พันธุ์ 3 ฟาร์ม และโรงฟักไข่ 1 แห่ง

หลังจากนั้นในปี 2547 บริษัทเข้าดำเนินธุรกิจฟาร์มสุกรปู่-ย่าพันธุ์ โดยมีกำลังการผลิต 1.9 พันตัว และดำเนินธุรกิจโรงผลิตอาหารสัตว์ โดยโรงแรกมีกำลังการผลิตอาหารสัตว์ 3 หมื่นตันต่อเดือน จากนั้นในปี 2556 บริษัทได้เข้าดำเนินธุรกิจฟาร์มสุกรปู่ยาพันธุ์ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 1.4 พันตัว

ปัจจุบันบริษัทดำเนิน 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจไก่ ซึ่งดำเนินการเพาะพันธุ์ไก่ ผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่ ลูกไก่ ไก่พันธุ์เนื้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่ 2.ธุรกิจสุกร ดำเนินการเพาะพันธุ์สุกรและจำหน่ายสุกรมีชีวิต 3.ธุรกิจอาหารสัตว์ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำหรับไก่และสุกร และ 4.ธุรกิจอื่นๆ คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์ ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสัตว์ และอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ทำจากพลาสติก

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2562)? 'นายใหญ่' อธิบายว่า สำหรับแผนงานธุรกิจไก่ ที่ผ่านมาสร้างรายได้มากถึง 65% โดยภายใน 3 ปีข้างหน้า เราจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20% เฉลี่ย 3.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตเนื้อไก่ 3 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ถือเป็นเบอร์ 2 ของอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นบริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจออกไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะนำวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready to eat) หรือธุรกิจอาหาร (ฟู้ดส์) ถือเป็นการเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำ จากปัจจุบันที่ดำเนินการเพียงธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำ
ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2559 โรงงานผลิตไส้กรอกไก่จะแล้วเสร็จ กำลังการผลิตประมาณ 3 หมื่นกิโลต่อวัน ฉะนั้นในอนาคตบริษัทจะมีโปรดักส์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกรด A,B ,C ล่าสุดเมื่อ 3-4 เดือนก่อน บริษัทได้วางขายลูกชิ้นไก่และไส้กรอก ภายใต้ยี่ห้อ 'ไทยอร่อย' ซึ่งเป็นสินค้าเกรด B แล้ว

ตามแผนระยะสั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเนื้อไก่ดิบ จากเดิมเน้นขายในประเทศ 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' ล่าสุดได้ส่งออกไปขายในต่างประเทศ เริ่มต้นจาก 100 ตันต่อเดือน มาเป็น 1.1 พันตันต่อเดือน เติบโตขึ้น 10 เท่า ภายใน 6 เดือน และมีแนวโน้มจะโตต่อเนื่อง เรายังเป็นน้องใหม่ในอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อไก่ดิบ

นอกจากนี้บริษัทยังวางแผนจะขยายสาขาเข้ามาในกรุงเทพ โดยเน้นขายให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มกำไรขั้นต้นทางหนึ่ง ส่วนสาขาต่างจังหวัด ปัจจุบันเรามีสาขาครอบคลุมภาคตะวันออกแล้ว แต่ในอนาคตจะมีสาขาภาคเหนือ และตะวันออกตกเพิ่มเติม

ส่วนตลาดส่งออกจะเน้นจับมือกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย เช่น ทำแบรนด์ร่วมกัน หรือผลิตสินค้าร่วมกัน ส่วนการส่งออกไปในแถบยุโรป เนื่องจากยังเป็นระบบโคต้า ฉะนั้นเราอาจส่งสินค้าปรุงสุกไปจำหน่าย

'บริษัทจะตั้งศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มอีก 3 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 50% ภายในปี 2561 จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 10%'

เขา เล่าต่อว่า สำหรับแผนงานธุรกิจสุกร ที่ผ่านมาสร้างรายได้ในสัดส่วน 25% ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยครอบคลุมตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การเลี้ยงเพื่อจำหน่ายสุกรมีชีวิต

แบ่งเป็นฟาร์มสุกรทวดพันธุ์จำนวน 1 ฟาร์ม กำลังการผลิต 450 ตัว แต่จะขยายเพิ่มอีก 1 ฟาร์ม ในจังหวัดสระแก้ว ขณะที่ฟาร์มสุกรปู่ย่าพันธุ์ มีจำนวน 7 ฟาร์ม ซึ่งเป็นของบริษัทจำนวน 3 ฟาร์ม และเช่าจากผู้อื่นอีก 3 ฟาร์ม รวมทั้งมี 1 ฟาร์มในประเทศเวียดนาม

โดยในช่วง 4 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีการขยายกำลังการผลิตสุกร จาก 5 หมื่นตัวต่อเดือน เป็น 1.5 แสนตัวต่อเดือน และจะลงทุนในโรงผลิตชิ้นส่วนสุกรและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ลูกชิ้นหมู และไส้กรอกหมู เป็นต้น

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา บริษัทได้ทำสัญญาระบบเกษตรกรแบบพันธะสัญญา (Contract Farms) กับเครือข่ายเกษตรกรรวม 260 ราย แบ่งเป็นในไทย 247 ราย เวียดนาม 13 ราย เพื่อให้ช่วยเพาะเลี้ยงสุกรขุน ล่าสุดมีกำลังการผลิตมากกว่า 2.26 แสนตัว โดยบริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตอีก 8.2 หมื่นตัว ภายในปี 2559 ผ่านรูปแบบการขยายเครือข่ายเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ส่วนแผนงานธุรกิจอาหารสัตว์ ที่ผ่านมาสร้างรายได้ในสัดส่วน 10% ในอนาคตอาจมีการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 1.2 แสนตันต่อเดือน จากฐานการผลิตของโรงงาน 3 แห่ง เพื่อป้อนความต้องการให้แก่ฟาร์มเลี้ยงไก่และสุกรของบริษัท รวมถึงจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่น และขยายฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่ สุกร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบรองรับแผนงานในอนาคต

'อนาคตสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนไป โดยจะมีรายได้จากธุรกิจแปรรูปสินค้า10% เนื้อหมู 30-35% อาหารสัตว์10-15% และเนื้อไก่ 45-50%' 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิเคราะห์ทิศทางอุตสาหกรรมเนื้อไก่และสุกรในประเทศว่า ปัจจุบันแนวโน้มราคาอยู่ในช่วง 'ขาขึ้น' หลังราคาเนื้อไก่และสุกรได้ผ่าน 'จุดต่ำสุด' มาแล้วในไตรมาสแรกของปีนี้ เห็นได้จากราคาที่ได้ทยอยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวยังช่วยหนุนศักยภาพการส่งออกเนื้อไก่สดไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ TFG สามารถแข่งขันด้านการส่งออกได้ดีขึ้นด้วย

ฉะนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง ผลประกอบการของเราจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ในไตรมาส 3/2558 ยังคงขาดทุน แต่จะขาดทุนลดลง ล่าสุดบริษัทได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจใหม่ ด้วยการเน้นตลาดส่งออกมากขึ้น โดยได้ส่งเนื้อไก่สดไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น

“ทิศทางราคาเนื้อไก่ภายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัว หลังประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาไข้หวัดนก ทำให้ปริมาณลูกไก่ในตลาดมีจำนวนลดลง ดังนั้นผลการดำเนินงานน่าจะพลิกเป็นกำไรได้”

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2558 คาดว่าจะมีรายได้รวมใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ 1.7 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปริมาณการขายจะเติบโตขึ้น แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาผันผวน ส่งผลให้รายได้คงทำได้เพียงทรงตัว แต่บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจในระยะยาว

'วินัย' ทิ้งท้ายว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินงานแบบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง การผลิต การแปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไก่ทั้งตัวและชิ้นส่วนไก่ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่