“รุก รับ ปรับเกมรบ” สูตร 'รอด' ผู้ค้าสยาม

“รุก รับ ปรับเกมรบ” สูตร 'รอด' ผู้ค้าสยาม

หลายปีมาแล้วที่ผู้ค้าสยามต้องเผชิญสถานการณ์บอบช้ำ ทั้งวิกฤติการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจกับสารพัดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ติดตามสูตรสู้ศึกผู้ค้าสนามร้อน

“สยามสแควร์” คือหนึ่งในย่านการค้าประวัติศาสตร์ของไทย ศูนย์กลางแฟชั่นที่รวมเอาสินค้าและบริการอันหลากหลายมาสนองใจขาช้อปตลอดกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่นี่มีจุดเด่นคือเป็นศูนย์การค้าแนวราบ (Low Rise) และเปิดโล่งขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง มีอาคารพาณิชย์ 463 คูหา มีร้านค้าอยู่เกือบ 2 พันราย วันธรรมดามีผู้ใช้บริการเฉลี่ยกว่า 7 หมื่นคน ส่วนวันหยุดขยับมาสูงกว่า 9.5 หมื่นคน ต่อวัน

แม้ขึ้นชื่อเรื่องค่าเช่าแสนแพง แต่ที่นี่ก็เป็นแหล่งรวมพลคนมีกำลังซื้อ และนักช้อปที่พร้อมจัดหนักจัดเต็มให้กับสินค้าและบริการที่ถูกใจ ในอดีตผู้ประกอบการจึงยัง “แฮปปี้” และน้อยรายที่จะโบกมือบ๊ายบายจากที่นี่

ทว่าวิกฤติการเมืองเมื่อหลายปีก่อน ที่เข้ามาสั่นคลอนผู้ค้าสยาม จนถึงเหตุการณ์เผาโรงหนังสยาม เมื่อปี 2553 ทำให้การค้าต้องชะงัก และปัญหาก็ยังลากยาวมาอีกหลายปี ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซึมเซาทั้งในและต่างประเทศ กระทบสาหัสกับทั้งผู้ค้าที่นี่

“เปิดร้านที่นี่มากว่า 30 ปี หนักสุดก็ตอนเจอวิกฤติการเมืองนี่แหล่ะ ตั้งแต่ตอนไฟไหม้สยาม ยอดขายก็เริ่มตกลงมา หนักสุดทำรายได้หายไปเลย 80% จากนั้นก็ค่อยๆ ฟื้นกลับมา แต่พอปรับตัวได้ก็มาเจอม็อบอีก ยังซ้ำเติมอยู่เรื่อยๆ”

“สมศรี วงษ์โชติ” เจ้าของร้าน LA DOUCE ธุรกิจให้เช่า ตัดชุดราตรี ชุดแต่งงาน สยามสแควร์ ซอย 9 บอกเล่าสถานการณ์หลังธุรกิจเคยหอมหวาน มีรายได้เฉลี่ย 6-7 แสนบาท ต่อเดือน แต่วันนี้สูงสุดที่ทำได้ก็แค่ประมาณ 5 แสนบาท ส่วนต่ำสุดก็ได้แค่แสนนิดๆ เท่านั้น จากลูกค้าที่มาช็อปกันชนิดคนละ 5-10 ชุด ทว่าวันนี้แทบไม่มีภาพนั้นให้เห็นอีกแล้ว!

อีกส่วนที่หายไปคือ บายเออร์ต่างชาติ ที่เคยมาช็อปสินค้าสยามไปทำตลาดโลก อย่างเช่น ผู้ค้าส่งจากอิตาลี ที่เธอว่า เคยเข้ามาเมื่อหลายปีก่อน แต่หลังเจอสถานการณ์บั่นทอนความเชื่อมั่น ก็ไม่มาให้เห็นกันอีก

เวลาเดียวกับลูกค้าที่หดหาย รายได้ที่ลดลง ผู้ค้าสยามยังต้องรับมือกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นไปตามยุคสมัย ทั้งค่าเช่าที่ ค่าส่วนกลาง ค่าที่จอดรถ และค่าใช้จ่ายจิปาถะ ที่พร้อมผลักให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ทวีความท้าทาย “ขั้นกว่า” สู่ธุรกิจ

“ที่พวกเรายังอยู่ได้ เพราะอยู่กันมานาน มีฐานลูกค้า และมีทุนรอนมาพอสมควร แต่ถ้าร้านใหม่ ก็คงหนักกว่านี้”

เธอบอกสถานการณ์ช้ำ ก่อนอธิบายวิธีปรับตัวเพื่ออยู่รอด อย่างจากเคยทำร้านขายเสื้อผ้าหรู ราคาแพง ปีที่ผ่านมาร้าน LA DOUCE ขยายมาทำร้านให้เช่าชุดราตรีเป็นที่แรกในสยาม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก จนฉุดธุรกิจที่เคยเงียบเฉา ให้สดใสขึ้นอีกครั้ง บวกกับการเข้ามาสานต่อธุรกิจของทายาท เราเลยได้เห็น LA DOUCE วันนี้มีการพัฒนาแบรนด์ พัฒนาช่องทางออนไลน์ และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับตลาดอาเซียน สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับพวกเขา

“ไม่เคยคิดไปจากสยาม เพราะที่นี่มีการใช้เงินมหาศาล คนที่มาสยาม กำลังซื้อสูง และไม่ได้มาแค่เดินเล่น แต่เขาตั้งใจมาใช้จ่ายจริงๆ” เธอบอกเหตุผลที่แม้เจอโจทย์สาหัส แต่ก็พร้อมที่จะปรับตัว เพื่ออยู่มั่นคงในสนามนี้

เช่นเดียวกับ “ศรีลักษณ์ พรหมพล” ผู้ดูแลร้านแพร (PRAYER TEXTILE GALLERY) ร้านเก่าแก่ที่อยู่คู่สยามมากว่า 50 ปี เริ่มจากเป็นร้านตัดเสื้อและโรงเรียนสอนตัดเสื้อที่นิยมชมชอบของลูกค้าชนชั้นสูงในยุคนั้น จนเข้าสู่เจเนอเรชั่น 2 ก็มาทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น โดยมีจุดเด่นคือ การผสมผสานความเป็นผ้าไทย เข้ากับดีไซน์ที่ทันสมัย โดยลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงประมาณ 80% ขณะส่วนหนึ่งก็ส่งออกไปต่างประเทศด้วย

ในช่วงวิกฤติร้านที่เคยโด่งดัง ทำยอดขายหายไปถึง 80% ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ เหตุระเบิดตรงราชประสงค์ ฉุดยอดขายมาแตะระดับ “0” คือ ขายไมได้เลยสักชิ้น!

“โจทย์ยากของการทำธุรกิจสยามสแควร์วันนี้ คือ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้เร็ว และตื่นตัวอยู่ตลอด” เธอบอกโจทย์หินในสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน

ก่อนเล่าวิธีปรับตัว ที่ทำตั้งแต่การ “หาตลาดใหม่” โดยจากรอลูกค้าอยู่ที่ร้าน ก็เริ่มออกไปเสนอขายสินค้ากับลูกค้าข้างนอกมากขึ้น เวลาเดียวกันจากที่โฟกัสแต่ลูกค้าไฮเอ็นด์ ก็ขยับมามองกลุ่มรองลงมาด้วย

3 ปีก่อน ในช่วงที่การค้าเงียบเหงา ร้านแพรมีไอเดียหารายได้เพิ่มเก๋ๆ โดยขยายมุมกาแฟที่เคยใช้ต้อนรับลูกค้า มาเป็นร้านกาแฟที่เปิดให้บริการแก่คนทั่วไปด้วย เลยมีรายได้จากช่องทางอื่นเข้ามาไม่จำกัดแค่เสื้อผ้า แม้แต่วันที่มีการปิดถนนชุมนุมกัน ก็ปรับตัวโดยนำเสื้อยืดมาขาย เพื่อดึงขาช็อปหน้าใหม่ให้เข้ามาที่ร้าน ผลพลอยได้คือมีคนเห็นสินค้าของพวกเขา เลยรู้จักและให้การอุดหนุนตามมา สะท้อนการปรับตัวที่ “รวดเร็ว” และ “คิดบวก” ในทุกวิกฤติ

ผู้ประกอบการสยามเขาเข้มแข็ง และปรับตัวเก่ง แม้แต่เถ้าแก่รุ่นใหม่ อย่าง “วิชพล พ่วงแต้ม” ผู้ประกอบการร้าน UNDRESS รองเท้าและกระเป๋าแฟชั่น ที่อยู่คู่สยามมา 13 ปี วิกฤติที่โถมใส่ ฉุดให้ยอดขายหายไปถึง 70% ซ้ำเติมด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ยังไม่มีสัญญาณรุ่งทั้งในและนอกบ้าน เขาว่า สยามสแควร์ ช่วงที่ขายดิบขายดี หายไปหลายปีแล้ว และทุกวันนี้หลายคนล้มหายตายจากไป ส่วนพวกที่อยู่ก็ต้องปรับตัวกันในระดับ “สุดยอด”

เช่นเดียวกับ UNDRESS ที่ปลดล็อกวิกฤติด้วยการพัฒนาช่องทางขายผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อไม่ต้องนั่งกุมขมับในวันที่เกิดวิกฤติแล้วลูกค้าไม่กล้ามาที่ร้าน ก็เมื่อผู้คนยังช็อปสินค้าของพวกเขาได้สบายผ่านช่องทางออนไลน์

ขณะที่ร้าน FLU ของ “ชนธัญ ศิลปานันทกุล” ที่เปิดมาได้ 12 ปี และกำลังเผชิญเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำรายได้หายไป 30-40% ก็หันมาปรับเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าใหม่ ให้บริการที่ดี และซื่อสัตย์กับลูกค้า เพื่อให้แบรนด์ของพวกเขาเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคให้ได้ เขาว่านี่แหล่ะ สูตรอยู่รอดอย่างยั่งยืนในถิ่น

ปิดท้ายกับ “โมลี มณีโชติ” กรรมการผู้จัดการ “มณีศิลป์” รองเท้าฝีมือไทยที่มีช็อปทั้งในไทยและมิลาน ประเทศอิตาลี วันนี้เขาสวมหมวกประธานเครือข่ายผู้ประกอบการแฟชั่นย่านสยามสแควร์(Siam Zeeed) ซึ่งรวมตัวกันมาได้ประมาณ 6 เดือน ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อแบ่งปันความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ ตลอดจนเทคนิคการผลิต และการใช้วัตถุดิบต่างๆ ร่วมกัน เป้าหมายก็เพื่อพัฒนาสินค้าแฟชั่นย่านสยามให้กลับมาคึกคัก และมีโอกาสเติบใหญ่ไปในระดับโลกได้

มณีศิลป์ อยู่มา 25 ปี เขาว่า กิจการขาขึ้นมาตลอด เพิ่งได้เจอวิกฤติหนักก็เมื่อ 5 ปีก่อน ทั้งสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ไฟไหม้สาขา เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ ที่มาของการปรับตัว ตั้งแต่มาเน้นส่งออกมากขึ้น พร้อมหาช่องทางทำตลาดใหม่ๆ โดยได้อานิสงห์จาก การมีฐานธุรกิจที่อยู่มานาน มีหลายสาขา และมีโรงงานของตัวเอง ทำให้ยังพอบริหารจัดการอะไรได้อยู่บ้าง ส่วนผู้ค้าที่อยากเข้ามาสยาม เขาย้ำแค่ว่า สนามนี้ “ไม่ง่าย”

“สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือเลย คือหนึ่ง ค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง โดยควรพยายามติดต่อสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ โดยตรง เพื่อที่จะได้พื้นที่มือหนึ่ง ไม่ใช่การเช่าช่วง เพราะราคาอาจจะสูงเกินเอื้อม และวิกฤติช่วงนี้อาจไม่ได้ขายดีอย่างที่คิด ฉะนั้นถ้าจะมาทำจริงๆ ต้องทำการบ้านมาดีพอสมควร และต้องแข็งแรงมากพอด้วย” เขาย้ำ

อยู่สยามให้รอดว่ายากแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ทำธุรกิจในสยามไปได้นานๆ พวกเขาบอกว่า ต้องมีสินค้าที่ออกแบบและผลิตเอง มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ซื้อมาขายไป หรือจะหาที่ไหนก็ได้ สินค้าต้องมีคุณภาพ และมีบริการที่ดี อย่าดูถูก และเอาเปรียบลูกค้า เพราะคนสยามมีความรู้ ถ้าเจอไม่ดี เขาก็จะไม่กลับมาซื้อซ้ำ ทำธุรกิจในช่วงเริ่มต้น ต้องสร้างฐานลูกค้า ภายใต้การแข่งขันที่สูง ทำไประยะหนึ่ง ก็ต้องรับมือกับต้นทุน โดยเฉพาะ ค่าเช่า ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจ ฉะนั้นต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ดี ขณะที่ต้องปรับตัวให้เร็ว ยืดหยุ่น และตื่นตัวอยู่เสมอ

เพื่อฟันฝ่าทุกอุปสรรค มาเป็นผู้ค้าที่อยู่รอด เติบใหญ่ และมีชัยในสยาม

................................

Key to success
สูตรอยู่รอด เหนือวิกฤติ ฉบับผู้ค้าสยาม


๐ หาตลาดใหม่ ขยายกลุ่มสินค้าและบริการ
๐ ใช้โซเชียลมีเดีย แก้ปัญหาการเข้าถึงลูกค้า
๐ หารายได้จากช่องทางอื่น นอกเหนือจากธุรกิจหลัก
๐ บริหารจัดการต้นทุนให้ดี
๐ คิดบวก ปรับตัวเร็ว และตื่นตัวอยู่เสมอ
๐ รวมตัวเข้มแข็ง เพื่ออยู่รอดไปด้วยกัน