วิทย์ดันผลไม้ฉายรังสีเข้าออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

วิทย์ดันผลไม้ฉายรังสีเข้าออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

กระทรวงวิทยาศาสตร์ โชว์ผลสำเร็จจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ฉายรังสีผลไม้ เปิดทางนำ "ลำไย-ลิ้นจี่" ฝ่ากำแพงกีดกันทางการค้านิวซีแลนด์และออสเตรเลีย

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ล่าสุดประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นตลาดใหม่อีก 2 แห่งที่ติดต่อนำเข้าผลไม้ไทยที่ฉายรังสี โดยนำร่องที่ลำไยและลิ้นจี่

ทั้งสองประเทศนี้ตั้งกำแพงกีดกันทางการค้าสูงมาก ผ่านเงื่อนไขเข้มงวดในการนำเข้าผลไม้มากมาย กระทั่งสหรัฐอเมริกาไฟเขียวผลไม้ฉายรังสีจากไทย จึงมีผลให้เงื่อนไขการค้าของทั้งคู่คลายตัวลง ปี 2557 ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจเยี่ยมและรับรองกระบวนการฉายรังสีของศูนย์ฉายรังสี ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จากนั้นตรวจรับรองสุขอนามัยของลำไยและลิ้นจี่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

"ปัจจุบันกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการฉายรังสีเป็นที่ยอมรับจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้ว เหลือเพียงผู้ประกอบการไทยจะต้องยื่นขอมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice, GAP) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สองประเทศนี้กำหนด พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจเพราะถือเป็นตลาดใหม่ที่ดีมานด์สูง คาดว่าปีนี้ลำไยและลิ้นจี่ฉายรังสีของไทยจะพร้อมส่งไปขายในสองประเทศนี้" นายพิเชฐกล่าว

ความพยายามแก้ปัญหาการกีดกันการนำเข้าอาหาร สมุนไพรและผลไม้ส่งออกไทยในตลาดสหรัฐและยุโรปด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์นี้ โดยเฉพาะเมื่อเปิดตลาดใหม่ในประเทศที่ไม่เคยนำเข้าผลไม้ไทยมาก่อนได้ คาดจะทำให้มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยเพิ่มเป็น 2.3 พันล้านบาทจากปี2557 ที่มีมูลค่าราว 1 พันกว่าล้านบาท

นางสาวอรรจยา มาลากรอง ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สทน. กล่าวเสริมว่า สหรัฐยังมีแผนเพิ่มการนำเข้าผักและผลไม้สดไทย อาทิ ส้มโอ ฝรั่ง มันหรือเผือก ขณะนี้ กำลังพิจารณาความเสี่ยงของโรคและแมลง

ทั้งนี้ การส่งออกผลไม้สดในหลายประเทศต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันการนำเข้า เนื่องจากปัญหาแมลงศัตรูพืชที่ปะปนในผลไม้ เกรงว่าจะกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์ในประเทศนั้นๆ กระทั่งปี 2550 มีความร่วมมือระหว่างกระทรวงการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และศูนย์ฉายรังสี สทน. เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

“สหรัฐสนใจผลไม้ไทย เมื่อศึกษาวิธีต่างๆ ในการกำจัดแมลงผลไม้พบว่า การฉายรังสีสามารถกำจัดแมลงได้ทุกชนิด จึงตกลงใจที่จะใช้วิธีการฉายรังสีนำร่องในผลไม้สด 6 ชนิดคือ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด เงาะ สับปะรดและมะม่วงสุก ต่อมาเพิ่มอีก 1 ชนิดคือ แก้วมังกร”