พลังงานถกรับมือวิกฤติซ่อมท่อก๊าซ

พลังงานถกรับมือวิกฤติซ่อมท่อก๊าซ

กระทรวงพลังงาน นัดถกผู้บริหารซ้อมรับมือวิกฤติก๊าซพม่าและเจดีเอ มั่นใจไฟฟ้าภาคใต้ไม่ดับ หลังจะนะโรงที่2 เปลี่ยนใช้น้ำมันเตาทดแทนได้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรับมือวิกฤติก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น 2 ครั้ง ในปีนี้ คือ 1.กรณีก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาและเยตากุน ของประเทศพม่า จะปิดซ่อมบำรุงระหว่างวันที่ 10-19 เม.ย.2558 และ 2. กรณีก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) A18 จะปิดซ่อมบำรุงใน 2 ช่วง คือประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค.2558 และเดือน ส.ค.2558


สำหรับกรณีก๊าซฯจากแหล่งของพม่า จะปิดซ่อมบำรุงดังกล่าว จะส่งผลให้ก๊าซฯหายไปจากระบบของไทย 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติประเทศไทยใช้ก๊าซฯอยู่ประมาณ 4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยผลิตได้จากอ่าวไทยประมาณกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือนำเข้าจากพม่าและเจดีเอ


ก๊าซที่หายไปจากระบบจากการปิดซ่อมบำรุงดังกล่าว ถือเป็นกรณีชั่วคราว โดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนรับมือเบื้องต้น ทั้งการเตรียมสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล มาป้อนให้กับโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตก เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเชื่อว่าราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ที่จะใช้แทนก๊าซฯในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากนัก เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาอยู่ในอัตราต่ำ


ส่วนกรณีที่ก๊าซฯจากแหล่ง ซอติก้า หรือเอ็ม 9 ของพม่า ซึ่งผลิตก๊าซฯส่งมายังไทย 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะปิดซ่อมบำรุงภายหลังจากซ่อมบำรุงแหล่งยาดานาและเยตากุน เสร็จแล้วนั้น ทางกระทรวงพลังงานเห็นว่า บริษัทซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งดังกล่าว ควรจะปิดซ่อมทั้งหมดในช่วงเดียวกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 10-19 เม.ย. 2558 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับตัวแทนของฝ่ายพม่า


ส่วนกรณีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี)อาจได้รับผลกระทบในช่วงดังกล่าวบ้าง เนื่องจากปั๊มเอ็นจีวีในพื้นที่ฝั่งตะวันตก จะประสบปัญหาขาดแคลนเอ็นจีวีบ้าง แต่เบื้องต้นกระทรวงพลังงานหารือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เพื่อเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยจะให้ปตท. เก็บก๊าซเอ็นจีวีค้างท่อเอาไว้ก่อนที่ก๊าซฯจากพม่าจะหยุดส่ง


สำหรับกรณีก๊าซฯแหล่งเจดีเอ ที่จะปิดซ่อมบำรุง 2 ช่วงเวลานั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อโรงไฟฟ้าจะนะ จ. สงขลา เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ต่อท่อรับก๊าซฯจากเจดีเอโดยตรง ซึ่งจะทำให้ปริมาณไฟฟ้าภาคใต้หายจากระบบ 700 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แล้ว โดยเชื่อว่าจะรับมือกับสถานการณ์วิกฤติก๊าซฯครั้งนี้ได้ เนื่องจาก กฟผ.ได้เร่งปรับเปลี่ยนระบบโรงไฟฟ้าจะนะ ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ระบบคือ น้ำมันดีเซลและก๊าซฯ


"กฟผ.ได้เตรียมแผนสำรองน้ำมันดีเซลไว้ให้โรงไฟฟ้าจะนะแล้ว และเชื่อว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 350 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัย แม้จะผลิตได้ไม่ถึง 700 เมกะวัตต์ก็ตามและมีแผนสำรองกรณีฉุกเฉินคือ การซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียมาใช้แทน เชื่อว่าไฟฟ้าภาคใต้จะไม่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับ "


นอกจากนี้เพื่อไม่ประมาทกับสถานการณ์วิกฤติก๊าซฯในครั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานเตรียมซ้อมแผนฉุกเฉินวิกฤติก๊าซฯและไฟฟ้า ในเดือนมี.ค. 2558 โดยจะจำลองสถานการณ์วิกฤติพม่าและเจดีเอที่จะเกิดขึ้นจริง ผสมกับสถานการณ์อื่นๆที่รุนแรงขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาเสมือนจริง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ได้อย่างรอบคอบมากขึ้น