สั่งปตท.นำเข้าเพิ่มแอลเอ็นจี3ล้านตัน

สั่งปตท.นำเข้าเพิ่มแอลเอ็นจี3ล้านตัน

"พลังงาน" เตรียมสั่งปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีปีนี้เพิ่มอีก 3 ล้านตัน เต็มศักยภาพของคลัง

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ เจดีเอ B17 ที่จะต้องส่งคืนให้กับทางมาเลเซีย ตามสัญญา โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลที่จะนำเสนอ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ก๊าซจากแหล่งเจดีเอ ตามสัญญา ทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียจะแบ่งกันคนละครึ่ง แต่ในช่วงแรกที่มาเลเซียยังไม่มีความต้องการใช้ ฝ่ายปตท.ในฐานะผู้ซื้อจึงทำข้อตกลงที่จะรับซื้อมาทั้งหมด จำนวน 370 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน โดยสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่1 เม.ย. 2558 นี้ หลังจากนั้น ปตท.จะเหลือก๊าซที่จะรับจากแหล่งดังกล่าวเพียง 70 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่ก๊าซจำนวน 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะถูกดึงกลับไปใช้ยังมาเลเซีย ที่มีการสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเข้ามาเชื่อมต่อแล้ว ดังนั้นฝ่ายไทยจึงต้องหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3ก.พ. ที่ผ่านมา นายอารีพงศ์ได้ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยเห็นว่าในช่วงที่ราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกมีราคาถูก ควรจะต้องมีการเร่งนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาใช้ให้เต็มศักยภาพของคลังแอลเอ็นจี ที่สามารถจะรองรับได้ในขณะนี้ จำนวน 5 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่ปตท.มีสัญญาระยะยาว กับทางการ์ต้าแก๊ส ที่จะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาแล้ว จำนวน2ล้านตันต่อปี ยังเหลือที่จะรองรับได้อีกประมาณ3ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้การนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามา จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาก๊าซจากแหล่งเจดีเอ B17 ที่จะต้องคืนให้มาเลเซีย ไปตามสัญญาด้วย นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำลังพิจารณาถึงการรับซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย ตามสัญญาขั้นต่ำ หรือ Daily Contract Quantity-DCQ ว่าผู้รับสัมปทานจะสามารถลดปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในแต่ละแหล่งลงได้ เท่าไหร่ เพื่อที่จะสามารถนำเข้าแอลเอ็นจี เข้ามาทดแทนในส่วนนี้ด้วย โดยปัจจุบัน สัญญาก๊าซฯตามDCQในอ่าวไทยจากแหล่งต่างๆอยู่ที่ 2,949 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่ในปี 2557 ผลิตจริงอยู่ที่ 3,698 ล้านบูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น ส่วนที่เกินสามารถที่จะนำเข้าแอลเอ็นจีช่วงที่มีราคาต่ำ ช่วยยืดอายุของปริมาณสำรองก๊าซที่คาดว่าจะเหลืออีก 7 ปีออกไปได้อีก

สำหรับข้อมูลล่าสุดเดือนม.ค. 2558 ราคาก๊าซได้ลดลงตามราคาน้ำมัน โดยราคาแอลเอ็นจี ราคาก๊าซเจดีเอ และอ่าวไทยอยู่ในราคาใกล้เคียงกัน ประมาณ 7-8 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนแหล่งพม่าอยู่ที่ประมาณ 12 ดอลลาร์/ล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ราคาแอลเอ็นจีเคยขึ้นไปอยู่ในระดับ 12-15 ดอลลาร์/ล้านบีทียู

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ปตท. กล่าวถึงนโยบายของผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ที่ให้ศึกษาเรื่องการชะลอการผลิตปิโตรเลียมในประเทศแล้วให้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทนว่า เรื่องนี้คงต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะราคาแอลเอ็นจี แม้ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ แต่เมื่อนำมาใช้ในไทย ต้องมีค่าขนส่งและค่าแปลงสภาพจากของเหลวเป็นก๊าซฯ ในขณะนี้ ก๊าซแอลเอ็นจีจะใช้ได้เฉพาะผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงเท่านั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียกเหมือนในอ่าวไทย ซึ่งหากลดกำลังผลิตก๊าซในอ่าวก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะจะกระทบต่อการจ้างงานมหาศาลที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปิโตรเคมี รวมไปถึงรัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีและค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี