ธรรมะง่ายๆ เติมสุขให้ชีวิตทำงาน

ธรรมะง่ายๆ เติมสุขให้ชีวิตทำงาน

การทำงานไม่เพียงสร้างรายได้ แต่ยังสร้างความสุขใจ จากการได้ใช้ความสามารถศักยภาพของตัวเอง

คำว่า "ผลิตภาพ" แยกไม่ออกจากคำว่า "ประสิทธิภาพ" เพราะประสิทธิภาพช่วยทำให้เกิดผลิตภาพ ขณะเดียวกันประสิทธิภาพก็ไม่อาจแยกจากคำว่า "ความสุข"

คำสอนของ "พระไพศาล วิสาโล" เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ภายใต้หัวข้อ "เติมเต็มความคิด เติมชีวิตการทำงานให้เป็นสุข ด้วยธรรมะง่ายๆ" ในงาน Productivity Talk ซึ่งจัดโดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคำก็ล้วนสร้างความท้าทายให้เหล่ามนุษย์เงินเดือน ว่าต้องทำงานอย่างไรที่นอกจากจะได้มาซึ่งคำว่าผลิตภาพ ประสิทธิภาพแล้ว ยังเต็มเปี่ยมและอบอวลไปด้วยความสุขอีกด้วย

แต่ที่แน่ๆ ความสุขไม่ได้เกิดจากวิธีหักดิบ ด้วยการลาออก หรือหันหลังให้ชีวิตการทำงาน

"การพูดถึงความสุข หลายคนนึกว่าแยกจากการทำงาน ถ้าอยากมีความสุขก็ต้องไม่ทำงาน ถ้าทำงานก็จะไม่มีความสุข ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น แม้ว่าหลายคนทำงานเพราะความจำเป็นต้องการมีเงินมาเลี้ยงชีพ แต่จากประสบการณ์ของหลายๆ คนกลับพบว่าการไม่ทำงานต่างหากที่เป็นทุกข์ การทำงานมีความสุข ขณะที่การทำงานไม่เพียงสร้างเงินเดือน สร้างรายได้ แต่งานยังสร้างความสุขใจ จากการได้ใช้ความสามารถศักยภาพของตัวเอง ตลอดจนยังได้เพิ่มพูนมันอีกด้วย"

ทั้งนี้พระไพศาลได้สอนว่า นอกเหนือ อิทธิบาท 4 นั่นคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่เป็นหลักธรรมแล้ว การทำงานอย่างมีความสุขสามารถเกิดขึ้นจากการฝึกฝนใน 4 เรื่อง ได้แก่

ข้อแรก ต้องมีใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่า ต้องทำให้ใจมุ่งมั่นอยู่กับงานที่ทำ เพราะคนจำนวนไม่น้อยมักเกิดความเครียดกับการทำงาน อันเนื่องมาจากใจที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวไม่คิดถึงงานเบื้องหน้าแต่กลับเตลิดคิดไปถึงเหตุการณ์อื่นๆ เช่น หวนคิดถึงอดีตที่แสนเศร้าใจ เสียใจ หรือไปกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง กลัวว่างานที่ทำตอนเช้าจะออกมาไม่ดีในตอนบ่าย ฯลฯ ทางที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ได้ก็คือ เมื่อกำลังทำงานก็ต้องวางเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากงานลง หรือเวลาอยู่กับครอบครัวก็ต้องวางเรื่องของงานลง สนใจแต่ในสิ่งที่มีอยู่ตรงงานเบื้องหน้า

" มีคำพูดที่ว่า เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ถ้าทำหลายอย่างพร้อมกันก็เครียด เหมือนการกินอาหารให้ดีต้องซอยอย่ากินทีเดียวเป็นคำโต ไม่งั้นก็กลืนลงคอไม่ได้ หรือเช่นเดียวกับ นักปีนที่เขาพูดถึงประสบการณ์เวลาปีนว่าถ้ามัวมองไปที่ยอดเขาที่อยู่สูงชันและไกลลิบก็จะท้อ และยาก ทว่าที่ทำให้ประสบสำเร็จได้ก็เพียงสนใจแค่พื้นดินที่อยู่ตรงใต้ฝ่าเท้า และค่อยๆ เดินไปทีละก้าวๆ อย่าหยุด การทำงานก็เหมือนกัน ไม่ว่างานจะใหญ่แค่ไหนก็ซอยงานและจดจ่อกับงานตรงหน้าเท่านั้น งานใหญ่ก็จะลุล่วงในที่สุด"

ข้อสอง รู้จักมองในแง่บวก ในความหมายของพระไพศาล ก็คือ ต้องลองมองหาว่าสิ่งแย่ๆ มีข้อดีอะไรบ้าง เมื่อเราพบเจอความล้มเหลวหรือสิ่งแย่ๆ ระหว่างทำงาน ให้มองแง่บวกแล้วความทุกข์จะลดน้อยลง เมื่อพบเจอกับอุปสรรค แทนที่จะตีโพยตีพาย แต่ให้มองเป็นประสบการณ์

นอกจากนั้นต้องมองว่าคำวิจารณ์นั้นมีประโยชน์ อย่าคิดเพียงว่าเพราะคนไม่ชอบเลยพูดเสียดแทงใจ แต่หากมองอีกมุม เป็นคำตำหนิช่วยทำให้ได้เห็นข้อผิดพลาด ทำให้เราลดอัตตา ยิ่งคนที่มีตำแหน่งใหญ่โตมักติดอยู่ในความประมาทด้วยเผลอนึกว่าตัวเองไม่ธรรมดา "กูเก่งเลยไม่ฟังใคร " เกิดอาการหลงตัวลืมตนก็อันตราย

"พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่วิจารณ์เราคือ ผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์"

ทางตรงข้าม คำวิจารณ์คล้ายกับทุเรียน แม้เปลือกนอกจะมีหนามแหลมคอยทิ่มแทง แต่เนื้อภายในนั้นอร่อยดีมีประโยชน์

"เวลาที่เราพบเจอความล้มเหลวก็อย่ากลัว เพราะมันมีข้อดี ถ้ามัวแต่ทุกข์จะไม่ได้อะไร คนฉลาดจะเรียนรู้จากความล้มเหลว นำมาเป็นบทเรียน คนล้มแล้วต้องรีบลุกและต้องหยิบจับอะไรขึ้นมาจากการล้มได้บ้าง บางคนไม่ยอมลุก แต่คนฉลาดจะรีบลุกและยังไม่พอเขาต้องหยิบอะไรติดขึ้นมาด้วย หมายถึงต้องได้บทเรียนจากมัน"

นอกจากนั้น มีคำพูดที่บอกว่า ความสำเร็จมักเกิดจากการตัดสินใจที่ถูกต้อง และการตัดสินใจที่ถูกต้องมักเกิดจากประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์ได้มาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดมาก่อน

"แต่ความผิดพลาดก็มีทั้งความผิดพลาดที่ถูกต้อง ที่สรุปบทเรียนและมีการแก้ไขที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็มีความผิดพลาดที่ผิดพลาด ซึ่งไม่เกิดบทเรียน และทำให้คนเราผิดพลาดได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า"

อีกกรณีของการมองแง่บวกที่พระไพศาลยกตัวอย่าง ก็คือ กระดาษเปล่าซึ่งมีกากบาทสีดำขนาดเล็กอยู่ตรงกลาง เวลาที่ยกขึ้นให้หลายๆ คนมองแล้วถามต่อว่ามองเห็นอะไรบ้าง คำตอบของคนส่วนใหญ่มักมองเห็นแต่กากบาท ซึ่งหมายถึงการมองแง่ลบ มีส่วนน้อยที่มองเห็นกระดาษสีขาวที่รายล้อมกากบาทซึ่งเป็นการมองแง่บวก

ข้อสาม การเปิดใจเรียนรู้ หรือต้องทำงานด้วยความใฝ่รู้ และต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว เพื่อพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น

"หลายคนนึกว่าการเรียนรู้มีเฉพาะในห้องเรียน ความจริงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน แม้กระทั่งเจ็บป่วยเรายังได้แง่คิดจากมัน โดยสอนธรรมให้กับเราเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของสังขาร สอนให้เราไม่ประมาทในชีวิต ถ้าเราทำเงินหายถ้ามองแง่ธรรมะ จะสอนว่าไม่มีอะไรเป็นของเราแท้จริง ทุกอย่างที่อยู่กับเราเป็นแค่ชั่วคราว ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความเสียหาย ความผิดพลาด"

ข้อสี่ ทำใจให้ปล่อยวาง ขณะเดียวกันต้องไม่ปล่อยปละละเลยในการทำงาน หมายถึง การวางเรื่องอื่นๆ ลืมทุกเรื่องเวลาที่ทำงาน วางสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะได้ไม่ต้องเสียใจและวางสิ่งที่ยังมาไม่ถึงจะไม่กังวล วางจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกับคนปีนเขาที่สนใจแต่ตรงเท้าเท่านั้น

"การทำงานต้องวางสิ่งยึดมั่นในจิตใจ อย่ายึดมั่นถือมั่น ยอมให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ หรืออย่าผูกขาดผลงานความสำเร็จมาเป็นของตัวเอง แต่ต้องมองถึงส่วนรวม ขององค์กร ของทีม"