เปิดสูตรรบปี '58 ธุรกิจ'รุ่นเดอะ' ในมือ 'รุ่นใหม่'

เปิดสูตรรบปี '58 ธุรกิจ'รุ่นเดอะ' ในมือ 'รุ่นใหม่'

ธุรกิจรุ่นเดอะแบรนด์อายุ 50 ปีอัพ ที่ปัจจุบันอยู่ในมือทายาทรุ่นใหม่ ร่วมติดตามเกมรบธุรกิจ กับแผนรับมือปีแพะ

มีสารพัดความท้าทายรออยู่ใน “ปีแพะ” 2558

ทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ความไวว่องของเทคโนโลยี สภาพการแข่งขัน การเข้ามาของเออีซี กับสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ยัง “อึมครึม” ไม่อู้ฟู่

สำหรับแบรนด์เก่าแก่ ที่อยู่ในสนามมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี นี่เป็นความท้าทาย “ขั้นกว่า” ของพวกเขา เพราะระหว่างทางของการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทาย ภารกิจสำคัญกว่านั้น คือ การนำพาแบรนด์รุ่นเดอะในมือรุ่นใหม่ ให้ข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลง พร้อมขึ้นแท่นเป็นธุรกิจแห่งอนาคตให้ได้

“ปีหน้าเราจะขยายโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเม.ย. โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกเท่าตัว จากประมาณ 1 หมื่นโหลต่อวัน เป็นประมาณ สามหมื่นโหล ต่อวัน”

หนึ่งเกมรบฉากใหม่ ของ “ตะขาบ 5 ตัว” ที่จะปรากฏขึ้นในปี 2558 ตามคำบอกเล่าของ “เมธา สิมะวรา” ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ห้าตะขาบ (ซิมเทียนฮ้อ) จำกัด ทายาทรุ่น 3 ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนธุรกิจกว่า 80 ปี ของครอบครัว

หลายปีก่อนเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของยาอมแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว กับการรีแบรนดิ้งเปลี่ยนลุคผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม เฉิ่มเชย มาเป็นบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ในรูปกล่องพลาสติกทรงเพรียวสีสันสดใส พร้อมรสชาติใหม่ๆ อย่าง บ๊วย ตะไคร้ และมินต์ ฯลฯ

เปลี่ยนจากของที่ “อมเป็นยา” ไม่อร่อย ทานแล้วลิ้นดำ มาเป็น ยาอมชุ่มคอที่ให้ ความหวาน ความซ่า และกลิ่นหอม เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซื้อหาได้ง่ายและทานได้บ่อยขึ้น

จากผลิตภัณฑ์ที่อยู่แต่ในร้านขายยา ก็กลายเป็นสินค้าที่พบได้ทุกที่ เรียกว่าไปที่ไหนก็เจอตะขาบ แม้แต่ใน “ร้านสะดวกซื้อ” ที่สำคัญไม่ใช่แค่ไทย แต่ยังสยายปีกไปในหลายประเทศ อาทิ อเมริกา ฮ่องกง มาเก๊า และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยปัจจุบันจดทะเบียนยาไปแล้วใน 8 ประเทศ มีการส่งออกอยู่สูงถึง 40%

ทุกคนอาจคิดว่า ลุคใหม่ของตะขาบ จะเข้ามาแทนที่สินค้าตัวเก่า ที่ดูเชยไม่เข้ายุค ทว่าในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์คลาสสิกของพวกเขายังทำรายได้สูงถึง 85% ของผลิตภัณฑ์ในเครือทั้งหมด ที่สำคัญไม่ใช่แค่ครองใจ “แฟนพันธุ์แท้” ในไทยเท่านั้น ทว่า “ตะขาบ 5 ตัว “ ยังกลายเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมชมชอบ และเติบโตอย่างมากในตลาดท่องเที่ยว

“ทุกคนพูดว่า สินค้าดูเก่าแก่ น่าจะตายไปตั้งนานแล้ว แต่ทำไมตัวเลขยอดขายภายในประเทศยังคงเติบโตอยู่ จน 3-4 ปีก่อน เราก็เริ่มจับสัญญาณได้ว่า ลูกค้าเริ่มไม่ใช่ร้านขายยาแล้ว แต่เป็นตลาดท่องเที่ยว กลายเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีน ซึ่งเขาไม่ได้ซื้อเพราะความคลาสสิกของแบรนด์ แต่ซื้อเพราะแก้ไอได้ ตอบโจทย์การรักษาเขาได้”

ทายาทตะขาบ 5 ตัว บอกเราว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์อยู่มานานกว่า 80 ปี ไม่ใช่เพราะการรีแบรนด์ หรือกลยุทธ์การตลาดใดๆ แต่คือ “คุณภาพ” และ “สรรพคุณ” ของสินค้า ที่ไม่เคยตกหล่นแม้อยู่ในมือของทายาท และแม้จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ในยุคหลัง แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิด “แตกแถว” หรือ ออกนอกกรอบความเชี่ยวชาญของตัวเองนี้

"สินค้าที่อยู่ยงคงกระพันมาถึงทุกวันนี้ได้ เกิดจากคุณภาพเป็นหลัก ทุกอย่างไม่ว่าจะการปรับปรุงคุณภาพการผลิต หรืออะไรต่างๆ เราก็จะอยู่บนจุดยืนเดิมที่ว่า จะไม่ทำให้สรรพคุณ หรือคุณภาพของเราเสียไป เราจะไม่ออกนอกกรอบ หรือทำให้สรรพคุณเปลี่ยนไป เพียงแต่ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น และดีขึ้นเท่านั้น” เขาสะท้อนคมคิดจากการเข้าถึงแก่นธุรกิจ

และนั่นคือสถานการณ์ที่ทำให้แบรนด์ตะขาบฯ ณ วันนี้ ตกอยู่ในสภาวะ “ผลิตไม่ทันขาย” และโรงงานแห่งใหม่ก็เป็นความหวังของพวกเขา

หลังจากการมาถึงของกำลังการผลิตกว่าเท่าตัว ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า มาดูแนวทางการพัฒนาของตะขาบ ที่ไม่เคยทำให้ตัวเองต้อง “ตกยุค” ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษา “Core Business” ไว้ได้

เช่น แผนที่จะพัฒนาจากยาอมมาสู่สเปรย์ โดยใช้ยาก้อนก่อนปั้นเม็ด มาทำเป็นน้ำเข้มข้น เพื่อทำเป็นสเปรย์พ่นโดยตั้งค่าความเข้มข้น 1 สเปรย์ฉีด เท่ากับ 1 เม็ด

ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานให้ ใช้งานง่าย แก้ปัญหาลิ้นดำ ขณะที่สรรพคุณยังคงเดิม

พัฒนาต่อจากยาก้อนตัวเดียวกัน ไปทำเป็นซอฟเจล ยาอมใสๆ ที่อมแล้วแตกในปาก

จากนั้นไปทำให้กลายเป็นผงเพื่ออัดกลับไปในลูกอมชนิดต่างๆ เพื่อให้ง่ายในการกิน และเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ทั้งหมดที่พูดไป ล้วนเกิดจาก “สูตรยาตัวเดียวกัน” ตำรับเดียวกัน ไม่ได้แตกแถวไปจากความเชี่ยวชาญของพวกเขา

“อนาคตเราจะไปได้ไกลอีกมาก นี่ยังไม่ได้พูดถึงรสชาติกับแพ็คเกจจิ้งเลยนะ ซึ่งต้องตามมาอีกแน่ๆ และภาพความเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเห็นได้ภายใน 5 ปี” เขาบอกแผนที่ยังรออยู่ในทางข้างหน้า สะท้อนอนาคตอันก้าวไกลของแบรนด์ 8 ทศวรรษ

กับหมากรบที่เขาบอกว่า ไม่ได้วางกันสั้นๆ หรือมองกันแบบปีต่อปี แต่อยู่ในระยะ 5-10 ปี เพราะนี่คือธุรกิจยา ไม่ใช่สินค้าประเภทคอนซูเมอร์โพรดักส์ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไว และมีของใหม่ออกมาทุกๆ ปี แต่ยาต้องใช้เวลาในการพัฒนา เพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพ และใช้เวลารอขึ้นทะเบียนยาอีกไม่ต่ำกว่าปีครึ่ง ซึ่งนั่นก็จะยืดอายุแผนธุรกิจของพวกเขาไปด้วย

“ใจผม อยากให้แบรนด์ของเรา ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนไทย สามารถก้าวไกลสู่ตลาดสากล อยากเป็นเหมือน สเตร็ปซิล และ ฟิชเชอร์แมนส์ เฟรนด์ ที่เป็นยาอมแก้ไอเหมือนเรา แต่ขายได้ทั่วโลก เราเองก็อยากเป็นอย่างเขา”

เขาบอกความหวังของธุรกิจในมือทายาท ที่แม้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็วนัก แต่ก็ยังอยากเห็นภาพนี้ในยุคของพวกเขา

ในปี 2557 ตะขาบ 5 ตัว มีรายได้อยู่ประมาณ 300 ล้านบาท ธุรกิจยังคงเติบโตทุกปี ที่ประมาณปีละ 12-17% ต่อปี แม้ไม่ได้โตหวือหวาเท่ากับธุรกิจประเภทอื่น แต่เขาบอกว่า “ยังไม่มีปีไหนที่ธุรกิจไม่โต” เพียงแต่จะโตมากโตน้อยเท่านั้น และนี่คือความน่าสนใจของธุรกิจเก่าแก่แห่งนี้

พูดถึงความท้าทายของธุรกิจยาสมุนไพรไทยในยุคต่อจากนี้ เขาบอกว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นอยู่ประมาณ 1,100 ราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่ขับเคลื่อนตลาดอยู่เพียง ประมาณ 10% เท่านั้น ที่เหลือเป็นเพียงรายเล็กรายน้อย ระดับเอสเอ็มอีตัวเล็กๆ ซึ่งความท้าทายนับจากนี้ หลังการเปิดม่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี คือ ไม่ว่าจะกลุ่มสินค้า อาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ หรือ กระทั่งอาหารเสริม ทุกผู้เล่นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับ “มาตรฐานอาเซียน” ตามข้อตกลงร่วมของอาเซียน

ไม่ว่าจะมาตรฐานในเอกสารการขึ้นทะเบียนยา ที่ต้องเหมือนกันทั้งอาเซียน และ มาตรฐานของตัวโรงงาน ที่ต้องได้จีเอ็มพีอาเซียน ซึ่งถ้ายังเมินเฉย ไม่ปรับตัว หรือภาครัฐให้การสนับสนุนไม่ถูกทาง ก็มีสิทธิที่แบรนด์เก่าแก่ของบ้านเรา จะทยอยล้มหายตายจากไปนับจากนี้

“ปีหน้าศรีจันทร์จะเติบโต 50%”

คำประกาศของ “รวิศ หาญอุตสาหะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ทายาทรุ่น 3 “ผงหอมศรีจันทร์” ที่เพิ่งคว้ารางวัล รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 10 จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสดๆ ร้อนๆ

หลังเปิดปฏิบัติการรีแบรนดิ้ง “ศรีจันทร์” จนสร้างความฮือฮาในตลาดปีม้าที่ผ่านมา

ตั้งแต่จ้างมืออาชีพด้านกลยุทธ์ธุรกิจ และ “ค่าตัวแพง” อย่าง “แกะดำทำธุรกิจ” มาช่วยวางหมากรบให้ เวลาเดียวกับดึงผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาระดับมือหนึ่งของโลก “ธนญชัย ศรศรีวิชัย” (ต่อ ฟีโนมีน่า) มาร่วม “พลิกโฉม” ศรีจันทร์ยุคใหม่

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ..“เราไม่ได้เปลี่ยนแค่แพ็คเกจจิ้ง แต่กำลังเปลี่ยนสายตาของผู้บริโภคที่มองศรีจันทร์”

เปลี่ยนสายตาที่มองของโบร่ำโบราณ เป็นสินค้าที่เน้นประโยชน์ในการใช้ (Functional product) มาสู่การเป็นสินค้าที่เน้นคุณค่าด้านอารมณ์ความรู้สึก (Emotional product) โดยสมบูรณ์

แต่ใครจะคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็น จะเป็นเพียง “20%” ของแผนทั้งหมดเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตา กว่านี้ ยังรออยู่ในปีหน้า !

“ปีหน้าเรากำลังเตรียมภาคต่อเวอร์ชั่นแรกของแผนการเปลี่ยนแปลงศรีจันทร์” เขาบอก

ก่อนแย้มว่า จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์ตามมาอีกเยอะมากในปีหน้า เช่น การจัดโครงการไปคัดเลือกสาวงามแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องตามเทรนด์ตามแฟชั่น จากทั่วประเทศ มาถ่ายแฟชั่นโดยช่างภาพมืออาชีพ แล้วทำเป็นโฆษณาบนป้ายบิลบอร์ดให้ เป็นกิจกรรมที่จะทำทั่วภูมิภาค โดยใช้งบประมาณการตลาดตั้งแต่ ต.ค. 2557 ไปจนถึงปีหน้าที่ประมาณ 70 ล้านบาท

“ปีหน้ามีโจทย์ท้าทายเยอะมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงนิดหน่อย ก็คือ อารมณ์ของผู้บริโภค ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมาดีหรือเปล่า แต่เท่าที่คาดการณ์ก็อาจจะยังไม่ค่อยดีนัก การเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ของผู้บริโภค ก็อาจจะยังไม่ดีมาก ซึ่งเราก็ปรับตัว ในแง่ของการพยายามทำราคาให้อยู่ในระดับที่ลูกค้ายังพอจะซื้อได้ ตลอดจนต้องหาช่องทางขยายไปต่างประเทศด้วย”

ปัจจุบันศรีจันทร์เริ่มขยายเข้าไปใน “เออีซี” โดยปล่อยผลิตภัณฑ์ลุคใหม่ ไปขายที่ ลาว และพม่า และกำลังเดินหน้าต่อไป เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ บรรยากาศภายในประเทศก็แสนจะ “ซึมเซา” ของปีม้า 2557

ทว่าพวกเขากลับยังรักษาการเติบโตได้ถึง 30% ขณะที่ปีแพะก็ตั้งเป้าที่จะเติบโตไว้ถึง 50%

“ปีหน้าเราจะมีโปรดักท์ออกมาอีกหลายตัว ซึ่งที่ตั้งเป้าได้สูงขนาดนี้ เพราะว่าเราเป็นองค์กรที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก จึงยังมีรูมให้เติบโตอีกเยอะมาก”

ผงหอมศรีจันทร์ คือ ธุรกิจที่อยู่มานานกว่า 60 ปี และเป็นหนึ่งต้นแบบของแบรนด์ที่สลัดภาพความเก่าให้ยังมีพื้นที่ยืนในตลาด ณ วันนี้ รวิศ บอกว่าเรา การเชื่อมต่อธุรกิจดั้งเดิมของคนรุ่นใหม่ สิ่งแรกเลยที่ต้องทำให้ได้ คือการ “พิสูจน์ตัวเอง”

“พูดกันตรงๆ คือ ต้องไม่ทำตัวเป็น ‘เจเนอเรชันลูกเสีย’ นั่นหมายถึงรุ่นพ่อสร้างมาระดับหนึ่ง เด็กที่เกิดมาในรุ่นผมอาจจะเห็นคุณพ่อทำงานลำบากก็จริง แต่ตัวเองเริ่มสบาย ฉะนั้นเราจะมีความขยันน้อยกว่ารุ่นพ่อ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่เป็นความจริง เพื่อให้ท่านยินดีที่จะปล่อยให้เราได้ทำตามความคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ขณะที่พื้นฐานซึ่งทุกครอบครัวก็สอนมาเหมือนๆ กัน อย่าง ‘ขยัน ซื่อสัตย์ และอดทน’ อยากให้เจนใหม่เห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้”

เขาสะท้อนวิธีคิด ที่ไม่ได้อยู่ในตำราเล่มไหน แต่อาจเพียงคำสอน “พื้นๆ” ซึ่งฝังลึกอยู่ในทุกครอบครัวแล้ว

“ปีหน้าอ้วยอันโอสถเข้าสู่ปีที่ 68 เรารีแบรนด์มาแล้ว 2 ครั้ง คือ รุ่นคุณพ่อเมื่อเกือบ 20 ปี ก่อน โดยจากรุ่นปู่ที่เป็นยาจีน ยาลูกกลอน มารุ่นพ่อเป็นยาสมุนไพรไทย อย่าง ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน มีการปรับแพ็คเกจจิ้งให้ดูทันสมัยขึ้น ยาลูกกลอนก็เปลี่ยนมาลงแคปซูล ส่วนรุ่นผมมาทำสรรพคุณยาให้มีประสิทธิภาพขึ้น สินค้าน่าจับต้องมากขึ้น”

คำบอกเล่าของ “ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ” กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด ทายาทรุ่น 3 ที่มาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจกว่า 6 ทศวรรษ

เกมรบของ “อ้วยอัน” เริ่มต้นในปีม้า ลากยาวไปจนถึงปีแพะ ตั้งแต่ การทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น นำส่งให้แบรนด์เป็นรู้จักแพร่หลายขึ้น ขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มที่ยังไม่เคยใช้ยาจากสมุนไพร อย่าง การทุ่มงบโฆษณาถึง 10 ล้านบาท เพื่อโปรโมทสินค้าและแบรนด์อ้วยอันโอสถ

“เราปรับปรุงในสองด้าน คือ นำความรู้และนวัตกรรมทั้งในด้านเทคโนโลยี และงานวิจัยสมุนไพร มาผสมผสานกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวยา และการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น ยาอมสมุนไพรในถุง Zip Lock ยาแคปซูลต่างๆ ขนาดสะดวกในการพกพาเวลาที่เดินทาง รวมถึงการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ในการเจาะตลาดและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก”

เขาบอกเกมยุทธ์ของธุรกิจในมือทายาทรุ่นใหม่ ที่ยังมีเป้าหมายขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้มากยิ่งขึ้น พร้อมแผนขยายตลาดไปยังโมเดิร์นเทรด ตลอดจนร้านยาที่เป็น Chain Store มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาสามารถนำพาตัวเองเข้าไปวางขายในร้านสะดวกซื้อชื่อดัง “เซเว่นอีเลฟเว่น” แล้ว

“ปีที่ผ่านมาเราเติบโตได้ถึง 15% มียอดขายอยู่ประมาณ 280 ล้านบาท เพราะรีแบรนดิ้ง ปรับโฉมใหม่ มีโปรดักท์ใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ใช่ออกมาทดแทนตัวเก่า แต่เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น โดยนโยบายของเราคือการเพิ่มโปรดักท์ไม่ให้ซ้ำกับสรรพคุณเดิม แต่เราจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยการคิดค้น วิจัยและพัฒนาไปเรื่อยๆ”

เขายกตัวอย่างผลิตผลจากการพัฒนา จนได้พระเอกที่ขายดิบขายดีในปีม้า อย่าง “ขมิ้นชันพลัส” ซึ่งเข้มข้นกว่าสูตรเดิมถึง 3 เท่า เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ลดปริมาณการทาน สะดวก และได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นระดับกลางถึงบนมากขึ้น

ในปีหน้า เป้าหมายของอ้วยอัน คือเติบโตได้ที่ 20-25% โดยมีแผนที่จะขยายโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ เพื่อรับการมาถึงของเออีซี โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ส่งออกไปยังโรมาเนีย ออสเตรีย และอิสราเอล โดยมีการขึ้นทะเบียนยาผ่านองค์การอาหารและยาของประเทศเหล่านี้อย่างถูกต้อง ซึ่งในปี 58 มีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศให้โตขึ้นอีก 10% และขยายตลาดไปในเออีซี ใน 2 ปีข้างหน้า

เขาบอกว่า ความท้าทายสำคัญคือ การมีผู้เล่นรายใหม่ที่หันมาจับเทรนด์ธุรกิจสมุนไพรและสุขภาพกันมากขึ้น ขณะปัจจุบันมีผู้ผลิตยาสมุนไพรอยู่ที่ประมาณ 1,000 ราย ไม่รวมอาหารเสริม ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า เวลาเดียวกับที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน

ทว่าเขากลับมองว่า นี่คืออุปสรรคที่เป็น “โอกาส” ที่ดีมากๆ ของ อ้วยอันโอสถ

“เนื่องจากตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการรีแบรนดิ้งพอดี ซึ่งก็เพื่อปรับแบรนด์อ้วยอันโอสถให้ชัดเจนขึ้น ปรับโลโก้ เปลี่ยนรูปแบบแพ็คเกจจิ้ง ให้ดูทันสมัยและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ดังนั้นภาพลักษณ์ของอ้วยอันโอสถในการบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 3 จึงขึ้นกับการทบทวน จุดยืนของแบรนด์ และ สินค้าโดยรวม ตลอดจนภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อทำการตลาดที่เข้าถึงใจของผู้บริโภคในยุคนี้ให้มากขึ้น”

เขาบอกว่า แผนรีแบรนดิ้ง ครั้งนี้จะทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นแรงจูงใจให้คนลองได้ใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะสื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า พวกเขา “เหนือกว่า” คู่แข่งอย่างไร

ถามถึงการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ทายาทอ้วยอันโอสถ บอกว่า คือ ต้องรักษา “คุณภาพ” และ “สรรพคุณ”ของตัวยาเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปตามการหมุนเวียนของวันเวลา ขณะที่นโยบายในการทำธุรกิจอย่าง “ความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า” และ “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นหัวใจที่สืบทอดมาตั้งแต่คนยุคก่อตั้ง พวกเขาก็ยังต้องรักษาไว้ให้ได้ ภายใต้การเติบโตที่เขาย้ำว่า “ไม่หวือหวา” ทว่า “มั่นคง” เพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของอ้วยอันโอสถ ทั้งในวันนี้และอนาคต

และนี่ก็คือพันธกิจสุดท้าทายของทายาทธุรกิจ “รุ่นเดอะ” ที่ต้องขี่ม้าฝ่าฝูงแพะไปสู่อนาคตที่สดใสให้ได้

............................

สูตรรบธุรกิจ Next Generation

“วิพล วรเสาหฤท” ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ภาพธุรกิจเจเนอเรชั่นใหม่ ในบ้านเรา ว่ามีอยู่ 2 ประเภท เริ่มจาก New Generation คือ ธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวใหม่ โดยอาจไม่มีพื้นฐานธุรกิจเดิมมาจากครอบครัว ธุรกิจกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาพร้อมเทคโนโลยี เช่น การค้าขายบนออนไลน์ การจับกระแสมาทำธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยระดับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นกว่ายุคก่อน

“ในการทำงานของเด็กนิวเจน ในเรื่องความอดทนถ้าเทียบกับคนในอดีต ต้องยอมรับว่า ยังน้อยกว่ามาก อารมณ์ศิลปินสูง ทำงานประจำปีสองปี รู้สึกไม่ถูกใจ ไม่ได้นับการโปรโมทก็ลาออกไป เลยเริ่มเห็นคนเจนนี้ออกมาทำธุรกิจของตัวเองกันเยอะขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยมาก่อน ส่วนใหญ่จะไม่เปิดเป็นหน้าร้าน แต่จะใช้เทคโนโลยี และเครือข่าย เข้ามาช่วยธุรกิจ”

ขณะประเภทที่สองคือ Next Generation คือ คนที่สืบทอดธุรกิจมาจากครอบครัว โดยรุ่นพ่ออาจสร้างธุรกิจขึ้นมาประสบความสำเร็จด้วย “คุณภาพ” และ “ความจริงใจต่อลูกค้า” ซึ่งถือเป็น “Core Business” ดั้งเดิม ที่ทำให้กิจการอยู่มานานหลายปี เขาบอกว่า เถ้าแก่ยุคเก่า ขายขาดทุนก็ไม่ว่า แต่อย่าให้ลูกค้ามาด่าได้ การทำงานทุกอย่าง อยู่บนพื้นฐานของความอดทน และ จริงใจ

“เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้บอกว่า เขาไม่มีตรงนี้นะ แต่ส่วนใหญ่จะออกมาทำเรื่องการสร้างแบรนด์ สร้างตราสินค้า ต่อยอดจากธุรกิจเดิมออกไป ถามว่าผิดไหม ไม่ผิดสำหรับปัจจุบันนี้ เพียงแต่ว่า คุณต้องเข้าใจธรรมชาติของสินค้าคุณ และเข้าใจกลุ่มลูกค้า ซึ่งไม่พอ คุณต้องลากเส้นให้เจอด้วย คือ ลากเส้นระหว่างสินค้าหรือบริการของคุณ ไปเจอกับกลุ่มลูกค้าที่คุณตั้งเอาไว้ ซึ่งเส้นนี้ยากสุด และเป็นมีปัญหาที่สุดสำหรับเอสเอ็มอี”

เขาบอกว่า สำหรับเอสเอสเอ็มส่วนใหญ่ การหาตลาด หาช่องทางจัดจำหน่าย หาเส้นทางที่จะไปเจอผู้บริโภค ยังเป็นเรื่องยาก โดยเด็กรุ่นใหม่อาจใช้วิธีการโฆษณาแล้วดึงคนเข้ามา ขณะที่คนรุ่นเก่าจะใช้วิธีวิ่งออกไปหาลูกค้า มีเส้นทางในการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน แน่นอนว่า ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก

“อย่าง ศรีจันทร์ เขาอยู่ได้เพราะเขาเข้าใจสินค้าของตัวเอง เข้าใจผู้บริโภค ฉะนั้นการทำธุรกิจให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่สร้างแบรนด์ เพราะแบรนด์ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด และแบรนด์สร้างไม่ยากด้วย การทำให้คนได้ยินได้รู้จัก ไม่ยาก คุณมีเงินเยอะๆ คุณทำได้ แต่การทำแบรนด์ให้คนได้ยิน รู้จัก และลองใช้ อันนี้ยากขึ้นมาอีกนิด ทว่าการทำแบรนด์ให้คนรู้จัก ได้ยิน ได้ลองใช้ และกลับมาใช้ซ้ำ อันนี้ ยากสุด และก็เป็นคำตอบที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ในระยะยาว” เขาบอก

เขาบอกว่า คนเจนใหม่ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ต้องกลับมาดูว่า “พื้นฐาน” ของเขาคืออะไร สินค้ามีดี ตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร จากนั้นให้รักษาหัวใจของธุรกิจเหล่านี้ไว้ให้ได้ เพื่อที่ไม่ว่าจะปรับภาพลักษณ์ให้ดูดีทันสมัยแค่ไหน แต่ธุรกิจจะยังเป็นที่ต้องการของลูกค้า ไม่ได้หายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย