ธ.อิสลามยันไม่มีแผนควบธ.ออมสิน

ธ.อิสลามยันไม่มีแผนควบธ.ออมสิน

"ธนาคารอิสลาม" ยันไม่มีแผนควบรวมกับ "ธนาคารออมสิน" แต่มีแผนขออนุมัติเพิ่มทุนจากคลังราว 7 พันลบ.

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ IBANK เปิดเผยว่า ธนาคารยืนยันไม่มีแผนควบรวมกับธนาคารออมสินตามที่มีกระแสข่าว ซึ่งแนวทางในการฟื้นฟูกิจการ จะขออนุมัติเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังราว 7,000 ล้านบาท หลังจากการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน (Due Diligent) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 พ.ย. 2557 หลังจากนั้นจึงจะได้เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและทบทวนการเสนอขอเพิ่มทุน

หลังจากนั้น จะพิจารณาการหาพันธมิตร เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง และขยายธุรกิจ โดยในปัจจุบันมีธนาคารต่างประเทศเข้ามาเจรจาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า ธนาคารอิสลามจะต้องเป็นธนาคารที่เป็นทางเลือกในการลงทุนให้นักลงทุนและธนาคารมีจุดยืน และมีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจของไทย

"ทางธนาคารจะต้องทำดิว ดิลิเจนท์ให้เสร็จก่อนวันที่ 30 พ.ย. นี้ และจะเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาการเพิ่มทุนวงเงิน 7,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นควรจะได้รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอย่างไรต่อไป และในปัจจุบันได้มีพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาหารือเพื่อเสนอตัวเป็นหุ้นส่วน แต่ยืนยันที่จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแรงและมีความพร้อม หลังจากนั้นจึงเริ่มพิจารณาหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งมองว่าไอแบงก์มีศักยภาพในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับเออีซี และนำบริษัทเอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาทาง ซีไอเอ็มบี และเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ก็ได้หารือธุรกิจร่วมกันตลอด จึงตั้งเป้าหมายให้ 3 ปีข้างหน้าธนาคารจะต้องเป็นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนได้"นายชัยวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันธนาคารอิสลาม มียอดสินเชื่อรวม 110,179 ล้านบาท ซึ่งมีลูกค้าชาวมุสลิมเพียง 8% ส่วนอีก 92% เป็นลูกค้าทั่วไป และมียอดเงินฝากจำนวน 106,986 ล้านบาท จากผู้ฝากเงิน 600,000 ราย ซึ่งเป็นชาวมุสลิม 51% สำหรับการปล่อยสินเชื่อทางธนาคารมีการเข้มงวดตรวจสอบลูกค้า โดยคัดเลือกแต่ลูกค้าชั้นดี และลูกค้าที่มีศักยภาพ โดยปัจจุบันธนาคารมียอด NPL 30-40% และเพื่อเป็นการแก้ปัญหา NPL ธนาคารได้ทำแผนที่จะเสนอซุปเปอร์บอร์ด โดยต้องทำการตรวจสอบลูกค้าอย่างละเอียด สำหรับลูกค้ารายใหญ่ที่มีจำนวน 126 ราย มูลค่า 4.5 ล้านบาท ส่วนลูกค้าขนาดกลางมีจำนวน 200 ราย มีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท