'เต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี' ผมจะทำเจน 4 ให้เหมือนเจนฯ1

'เต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี' ผมจะทำเจน 4 ให้เหมือนเจนฯ1

ทฤษฎีรุ่น4 มักนำความล้มเหลวสู่ธุรกิจครอบครัว แต่สำหรับทายาท 'ภิรมย์ภักดี'ขอฉีกตำราพาสิงห์ รุ่ง เหมือนเริ่มต้น

เมื่อสิงห์นำทัพสื่อมวลชนเดินทางไปยังหัวหิน พร้อมเปิดโอกาสให้พูดคุยกับทายาทธุรกิจ "แสนล้าน" อย่างเป็นกันเอง "เต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี" กรรมการบริหารและผู้อำนวยการสายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์นอนแอลกอฮอล์ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด สลัดสูทสวมเสื้อยืดยี่ห้อ "Singha" เข้าชุดกับกางเกงยีนส์เซอร์ๆ ล้อมวงคุยทิศทางธุรกิจของสิงห์จากนี้ไปแบบละเอียดยิบอย่างอารมณ์ดี

หนุ่มเต้เปิดฉากสนทนา "วันนี้อยากถามอะไรผมถามเลย" เขาตบหน้าตักเบาๆ และตั้งท่าพร้อมตอบคำถามเต็มที่ ไล่เลียงตั้งแต่การเผยภาพรวมยอดขายครึ่งปีที่ "พลาดเป้า" เพราะปัจจัยลบ และเปิดประเด็นการดึง "Bain & company" ที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกมาจัดทัพระเบียบธุรกิจใหม่ เสริมแกร่งด้วยการหาพันธมิตรยักษ์ใหญ่ร่วมทุน สปริงบอร์ดปูทางให้สิงห์ในเวทีการค้าโลกมากขึ้น

ท่ามกลางความต้องการสยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่ แต่ทายาทรุ่น 4 กลับยืนอยู่บนความเสี่ยงและทฤษฎีความล้มเหลว ตามศาสตร์ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวที่จะยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำร้ายยากยิ่งกว่า เมื่อบรรดากูรูผู้คร่ำหวอดวิจัยการสืบทอดธุรกิจครอบครัวระดับโลกพบว่า "มีเพียง 4%" ของธุรกิจที่จะอยู่รอดจนถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 (ที่มา:ศ.โยอาคิม ชวาส ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจศึกษาครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน MID Global Business Center เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

และนี่เป็นความท้าทายที่ทายาทหนุ่มสกุล "ภิรมย์ภักดี" ต้องพิสูจน์ และหาทาง "ลบล้าง" ทฤษฎีที่ว่านี้

"เจนฯ 4 มักทำให้ธุรกิจตกต่ำ สำหรับผมต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันไม่ใช่ และอยากให้ธุรกิจคงอยู่ถึงเจนฯ 5-6-7 ผมจะขับเคลื่อนธุรกิจให้เหมือนเจนฯ 1 คือสร้าง และบุกเบิกสิ่งใหม่ตลอด"

จึงเป็นที่มาของความคิด "ริเริ่ม" ปลุกปั้นธุรกิจใหม่ แตกไลน์สินค้า ปรับโครงสร้างธุรกิจ และหาพันธมิตรใหม่ฯ ไล่เลียงตั้งแต่การเปิดตัวข้าวถุงพันดี ธุรกิจร้านอาหาร EST.33 ค่ายเพลง นำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเบียร์มาผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ แบรนด์บริว สกิน (Brew skin) การดึงกูรูด้านการจัดการธุรกิจระดับโลกมาช่วยวางหมาก เพื่อต่อยอดให้สิงห์ยิ่งใหญ่ในสังเวียนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ระดับโลก

ที่ผ่านมาเขายังทุ่มเทกับธุรกิจ "นอนแอลกอฮอล์" อย่างหนัก ทั้งๆที่มีความรู้ที่ร่ำเรียนมาด้าน Brewmaster หรือการผลิตเบียร์ แต่กลับเป็นน้องชาย(ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี) คุมทัพธุรกิจแอลกอฮอล์

ทว่า สำหรับเขา "นอนแอลกอฮอล์" คือสิ่งที่ชอบและใช่ เพราะไร้กรอบและกฎเกณฑ์ในการทำตลาด สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ขณะที่ "แอลกอฮอล์" มีข้อจำกัดมากมายที่จะเล่นกับตลาดและผู้บริโภค

ปี 2557 เป็นอีกปีที่สิงห์ประมือกับปัจจัยลบรอบด้าน ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ กำลังซื้อ ไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ นั่นทำให้สิงห์ต้องมาปรับทัพเน้น "การบริหารจัดการภายในองค์กร" ให้แกร่ง อย่างการจ้างที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกเข้ามา ก็เพื่อสานเจตนารมณ์ของ "คณะกรรมการ" บริษัทที่ขับเคลื่อนโดย สกุลภิรมย์ภักดี ในการดับเบิ้ลรายได้ทุก 5 ปี เพิ่มพูนความมั่งคั่ง

เป้าหมายตัวเลขสะท้อนความยิ่งใหญ่ขององค์กร หากแต่ "เงิน" กลับไม่สำคัญมากเท่า การดูแล "ครอบครัว"

ปีนี้จึงเห็นอีกสเต็ปสำคัญของสิงห์ กับการตั้งกฎให้คนในตระกูลยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันภายใต้ "ธรรมนูญครอบครัว" และนี่ยังเป็นการ "เปิดทาง" ให้ทายาทได้สร้างสรรค์ธุรกิจเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง

"เราจะดูแลแบบแฟมิลี่ ออฟฟิศ ให้ทายาทมีอะไรอย่างที่ต้องการ มีโปรเจคอะไรก็มานำเสนอ Commitee (คณะกรรมการ) เปิดโอกาสให้ทุกคนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง" เขาเล่าก่อนยกตัวอย่างว่า หากเขาต้องการทำธุรกิจผลิตรองเท้า ก็นำโครงการ แผนธุรกิจไปเสนอบอร์ดได้

"อยากให้ทุกคนในครอบครัวได้ในสิ่งที่สมควรได้เท่าๆกัน เพราะเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ความสุขคือสิ่งสำคัญที่สุด"

สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดของเขาที่ว่า..

"ผมอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองบ้าง เพราะทำธุรกิจให้ครอบครัวมาเยอะแล้ว" เขาเล่าแล้วแบไต๋นิดๆว่า ตอนนี้มีเจรจา(ดีล)กับพันธมิตรเพื่อปั้นกิจการใหม่ด้วยสองมืออยู่ ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจจากปัจจุบันที่มี "ค่ายมวย" เป็นของตัวเอง 2 สาขา และกำลังจะลงทุนเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาเร็วนี้ๆที่อาคารจัสมิน สุขุมวิท ธุรกิจค่ายมวยเป็นความฝันตั้งแต่วัยเด็ก มาฝันอีกอย่างที่อยากสร้างตึกสูงๆ

ถามว่ามีอะไรที่อยากทำอีกในฐานะ "ทายาท" เขาย้ำชัดว่า "อยากทำธุรกิจส่วนตัว"

"ก่อนตายอยากทำอย่างนี้ เป็นแรงบันดาลใจ และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่บ้าเงิน มีเยอะเกินไปผมว่าปวดหัวจะตาย" เมื่อถูกถามถึงการที่พ่อติด 1 ใน 10 อันดับเศรษฐีไทย "พ่อผม(สันติ ภิรมย์ภักดี) มีเงินเยอะขนาดนั้นเลยเหรอ ไม่รู้ ไม่เห็นแบ่งบ้างเลย" พูดจบก็หัวเราะ ก่อนจะตบท้ายว่า "ทั้งตัวผมตอนนี้มีเงินติดกระเป๋า 2,000 บาท"

มีสิ่งที่ตั้งใจทำให้ตัวเองแล้ว สำหรับการสานต่อกิจการให้กับ "ตระกูล" เรื่องนี้เขาตอบด้วยแววตามุ่งมั่นว่าต้องการตอบแทนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคม สานเจตนารมณ์ "มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี" ระดมทีม "สิงห์อาสา" ช่วยเหลือสังคม

ส่วนการก้าวสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลก (Global brand ) นั้น ภูริตบอกว่า..

"เป็นได้ก็ดี เพราะนั่นเป็นวิสัยทัศน์ของสิงห์ที่ต้องการเป็นบริษัทเครื่องดื่มครบวงจร และแตกไลน์ทำในสิ่งใหม่ นี่จะเป็นการขยายอาณาจักร 84 ปี แห่งนี้ก้าวสู่องค์กรร้อยปี และการันตีว่าเจนฯ 4 ก็สานต่อธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จได้"

เพราะธุรกิจถูกผ่องถ่ายจากรุ่นสู่รุ่น สิงห์ยังมี "จุดอ่อน" อะไรที่อยากขจัดและแก้ไขให้ดีขึ้น

เขาตอบเสียงสูงว่า "หือ..ใครจะบอก !!" ก่อนขยายความว่าองค์กรจำเป็นต้องการปรับให้ดีให้ได้ทุกจุด ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนเวลาจะเอื้อหรือไม่ ผสานกับวิธีการมองของทายาทธุรกิจ

"ถ้าแข็งแรงแล้วไม่ปรับเราก็จะเป็นจุดอ่อน จึงต้องตื่นตัว กระตือรือร้นตลอดเวลา" นั่นยังทำให้เขากังวลใจและกลัวกับปัจจัยลบทุกวัน เพื่อนำมาเป็นแรงผลักให้ผลงานออกมาดี

"ทำให้ดียาก หากไม่มีความกลัว"

วันนี้ทายาทเช่นเขา ต้องบริหารงานร่วมกับคนหลากหลาย ต่างรุ่น ต่างวัย แต่หาใช่อุปสรรคของการทำงาน

"เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา และไม่มีว่าคิดไม่ตรงกัน" หากแต่วิเคราะห์ว่าอุปสรรคสำคัญคือต้องทำตัวเอง(องค์กร)ให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยไม่ลืมว่า "เราเป็นใคร"

เป็นทั้งศิลปิน นักร้อง และนักธุรกิจ ถามว่าอะไรคือนิยามความเป็น "ภูริต ภิรมย์ภักดี" เขาตอบทันทีว่า "หัวใจสิงห์" ไม่ต่างจากน้องชาย หรือทายาทคนอื่นๆในสาแหรก "ภิรมย์ภักดี"

"ทายาทหัวใจสิงห์ คำนี้ทำไมผมจะคิดเหมือนกันไม่ได้"