ชำแหละ "ธุรกิจที่ปรึกษา" โอกาสหลังม่าน AEC

ชำแหละ "ธุรกิจที่ปรึกษา" โอกาสหลังม่าน AEC

จะไปลงทุนในอาเซียน แต่ไม่รู้ต้องเริ่มแบบไหน ยังมีโจทย์มากมายที่ต้องรู้ กลายเป็นโอกาส “ธุรกิจที่ปรึกษา” แจ้งเกิดใน AEC

ยังมีโอกาสให้ธุรกิจไทยแจ้งเกิดในตลาดอาเซียน !

ไม่เพียงธุรกิจน้อย-ใหญ่ จะดาหน้าเข้าไปลงทุนเสี่ยงโชคในตลาดนี้ แต่ยังกลายเป็น "โอกาสทอง" ของธุรกิจที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษากฎหมาย ระบบไอที บัญชีการเงิน กลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม การตลาดและประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ ฯลฯ

ตอบโจทย์ความกระหายใคร่รู้ ของธุรกิจไทย ที่อยากเข้าไปทำตลาด

แต่ "กลัวพลาด" จึงต้องขอ "ตัวช่วย"

สิบปีมาแล้วที่เข้าไปให้คำปรึกษาในประเทศลาว ตามมาด้วยพม่าหลังเปิดประเทศ สำหรับบริษัท อินดิโก คอนซัลติ้งกรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ สัญชาติไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย กลุ่มเอสเอ็มอี ไล่ไปจน ธุรกิจต่างชาติ

บริการหลักของพวกเขา คือ การบริหารจัดการคน หนึ่งในเรื่องยากของการเริ่มต้นธุรกิจ ในตลาดที่ไม่คุ้นเคย

ไม่ว่าจะหาคนอย่างไร วางตำแหน่งงานแบบไหน อัตราค่าจ้างเป็นอย่างไร ถึงจะสู้กับตลาดได้ ต้องฝึกคนแบบไหน กระทั่งวางโครงสร้างเรื่องคนอย่างไร ถึงจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างแคล่วคล่อง

เพราะต้องเข้าไปในตลาดใหม่ที่ไม่รู้จัก บริการคำปรึกษา จึงจำเป็นมากสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจ

“จะเห็นเลยว่า บริษัทที่เข้าไปลงทุนในอาเซียน ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทชั้นนำ แบรนด์ดังๆ ซึ่งการที่เขาจะเข้าไปตั้งบริษัทในประเทศที่ไม่คุ้นเคย จะต้องรู้ค่าใช้จ่าย ควรกำหนดค่าจ้างเงินเดือนอย่างไร หาคนจากไหน ใช้กลยุทธ์อะไร บางทีเขารู้อยู่แล้วเพราะเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ แต่เรื่องคนนี่ แม้แต่บริษัทแม่เองก็ยังไม่รู้”

“ดร. จิราพร พฤกษานุกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิโก คอนซัลติ้งกรุ๊ป จำกัด บอกเล่าความสำคัญของธุรกิจบริการที่ปรึกษา ที่จะช่วยผู้ลงทุน เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น

บริษัทคนไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญมากนักกับข้อมูลและบริการจากบริษัทให้คำปรึกษา ยกเว้นธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างจากบริษัทอินเตอร์ ไม่ว่าจะจากยุโรป หรืออเมริกา ที่ "ข้อมูลที่เชื่อถือได้” จำเป็นมากๆ เรียกว่าทุกอย่าง ต้องชัวร์ ต้องเป๊ะ! ถึงจะยอมเดินหน้าธุรกิจ

นั่นคือเหตุผลที่ลูกค้าส่วนหนึ่งของพวกเขา จึงเป็นเหล่าบริษัทอินเตอร์ ที่สนใจซื้อข้อมูลและใช้บริการที่ปรึกษาในอาเซียน !!

"อินดิโก" เริ่มกลยุทธ์ของพวกเขา ด้วยการเข้าไปทำแบบสำรวจค่าจ้างเงินเดือนในอาเซียน เริ่มจากลาวและพม่า สองตลาดสำคัญที่นักลงทุนทั้งไทยและอินเตอร์ เข้าไปลงทุนกันอย่างครึกครื้นในช่วงที่ผ่านมา

ยกตัวอย่าง ประเทศลาว ที่เข้าไปให้บริการเมื่อสิบปีก่อน เริ่มจากบริษัทคนไทยซึ่งเข้าไปลงทุนที่นั่น ขอให้อินดิโอ ไปช่วยเซ็ทบริษัทให้ ทำกันตั้งแต่ การวางโครงสร้างเงินเดือน ทำแบบประเมินผล อบรมคนลาวให้ใช้เครื่องมือเป็น จนธุรกิจสามารถตั้งต้นและเดินหน้าต่อไปได้

“จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังไปทำให้เขาอยู่ อย่างพอมีผู้บริหารเข้ามาใหม่ ก็ต้องไปเทรนระบบใหม่ให้กับเขา ซึ่งคนลาวเขายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับระบบพวกนี้ พอเราไปสอน เขาก็เหมือนกับน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว และชอบการฝึกอบรมเอามากๆ”

พวกเขาบอกเล่าประสบการณ์ในประเทศลาว ก่อนขยายความให้ฟังว่า ความต้องการบริการที่ปรึกษาในประเทศลาวอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากลาวพัฒนาไปค่อนข้างมาก โดยมีบริษัทเอกชนไทย เข้าไปเปิดบริการที่ลาวมากขึ้น เริ่มมีการแข่งขันเรื่องเงินเดือนที่สูงขึ้น ขณะที่ลาวเพิ่งปรับฐานเงินเดือนข้าราชการให้สูงขึ้น ทำให้คนหันไปทำงานราชการมากขึ้น จนเอกชนเริ่มหาคนยาก จึงต้องปรับฐานเงินเดือนหนีเงินเดือนข้าราชการขึ้นไปอีก เปิดทางให้พวกเขาได้เริ่มงานใหญ่อีกครั้ง

ขณะที่ประเทศพม่า “ดร.เดวิด บินเนียน” ผู้อำนวยการ บริษัท อินดิโก คอมซัลติ้งกรุ๊ป จำกัด กูรูที่ปรึกษาด้าน HR เล่าว่า เข้าไปพม่าเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน โดยร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติยุโรป ไปให้บริการกับกลุ่มนายพลก่อนเปิดประเทศ หลังจากนั้นก็เปิดให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมา พม่าค่อนข้าง “เนื้อหอม” โดยมีนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนเยอะมาก จึงขยับลูกค้ามาเป็นทั้งบริษัทพลังงานจากไทย บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในพม่า รวมถึงบริษัทในพม่าเอง

โมเดลการทำงานของอินดิโกที่พม่า คือ ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ และที่ปรึกษาท้องถิ่นของพม่า เติมเต็มจุดแข็งและความเชี่ยวชาญ สร้างความเชื่อถือในบริการที่ปรึกษา พร้อมช่วยให้การทำงานในพม่าง่ายขึ้น

ส่วนโครงการที่เข้าไปทำในพม่า พวกเขาบอกว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องพื้นฐาน เหมือนที่ไทยเคยทำเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว เช่น การเขียนคําบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ทำโครงสร้างเรื่องคนให้มีความคล่องตัวขึ้น รวมถึงการจัดทำเรื่องค่าจ้าง เงินเดือน และผลประโยชน์ เหล่านี้ เป็นต้น

“บริการที่ปรึกษาในไทยและอาเซียน ไม่ได้แตกต่างกัน เรียกว่าอยู่ในกรอบเดียวกัน เพียงแต่ว่า ความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อย่างไทยตอนนี้ไประดับแอดวานซ์แล้ว คือเราพัฒนาไปเยอะมาก ฉะนั้นบริการจะเป็นการทำงานเชิงรุก หาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้ และมีโจทย์ใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา ซึ่งท้าทายเพราะตอนนี้คนไทยเก่งขึ้น แต่ลาวเขาจะอยู่ในระดับกลางๆ รองจากไทย ส่วนพม่าเขาเพิ่งเปิดประเทศ ฉะนั้นยังเป็นความต้องการพื้นฐานเหมือนไทยเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว”

อินดิโก คือที่ปรึกษาด้าน HR พวกเขาเก่งและเชี่ยวชาญในงานด้านนี้มากว่าสิบปี จึงได้รับความ “ไว้เนื้อเชื่อใจ” จากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ การทำงานในปัจจุบัน ไม่ใช่ระบบ “ฉายเดี่ยว” แต่พร้อมเป็นตัวเชื่อมบริการคำปรึกษารอบด้าน เพื่อให้บริการที่ครบถ้วนตามความต้องการของลูกค้า เขาเล่า

“อย่างเอสเอ็มอีที่อยากขยายไปต่างประเทศ การจะลุยดุ่ยๆ เข้าไปเลย เขาก็ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน บริการที่ปรึกษาจึงสำคัญมาก ที่สำคัญเราไม่ได้มีให้แค่คำปรึกษาเรื่องคน แต่ถ้าเขาอยากรู้เรื่องกฎหมาย ไอที การตรวจสอบ หรือเรื่องอื่นๆ เราก็มีคอนเนคชั่นจากบริษัทที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ จึงสามารถให้คำแนะนำเขาได้ นี่เป็นการทำงานร่วมกันของบริษัทที่ปรึกษาในปัจจุบัน เพื่อให้บริการที่ครบตรงความต้องการของลูกค้า”

สำหรับอัตราค่าบริการ “ที่ปรึกษา” เขาบอกว่า ประเทศไทยจะใช้อัตรา (เรท) ที่เป็นสากล สำหรับลาวธุรกิจอินเตอร์ ก็ยอมจ่ายในเรตสากล แต่ประเทศพม่า บริษัทท้องถิ่นยังไม่ได้ให้คุณค่ากับด้าน HR มากนัก เพราะฉะนั้นค่าฟี (ธรรมเนียม) ก็จะต่ำลงมายกเว้นบริษัทอินเตอร์ในพม่า ที่จะยอมจ่ายในเรตซึ่งเป็นสากลเช่นเดียวกัน

“การคิดค่าบริการในราคาเท่าไรนั้น เดี๋ยวนี้มันจะมีเทคนิคการขาย เพราะถ้าจะไปขายบริษัทท้องถิ่น เราจะแบ่งเป็นส่วนๆ ไป เพื่อให้เขารู้สึกว่า จ่ายได้นะ ไม่ใช่เป็น Big Project อะไร แต่บริษัทต่างชาติ เขาชอบให้เราเสนอไปทั้งหมด เพราะคุ้นเคยกับค่าใช้จ่ายตรงนี้อยู่แล้ว”

อัตราค่าบริการในปัจจุบัน เลยขึ้นกับขนาดขององค์กร ความยากง่ายและความซับซ้อนของปัญหา ส่วนค่าบริการจากบริษัทที่ปรึกษาท้องถิ่น กับแบรนด์อินเตอร์ ราคาจะต่างกันที่ประมาณ 50% เรียกว่าถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง

“สำหรับคนที่อยากเข้ามาทำธุรกิจนี้ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาส อย่างแรกเลย คือ ธุรกิจนี้ต้องสั่งสมประสบการณ์ ยิ่งเราเป็นคนไทยด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องมีประสบการณ์ เพราะองค์กรใหญ่ๆ เขาจะให้ความเชื่อมั่นในที่ปรึกษาฝรั่งมากกว่า เป็นความยากของวัฒนธรรมแบบไทยๆ อีกเรื่องคือ การศึกษา และประวัติการทำงาน ถ้าคุณมีประวัติการทำงานที่ดี มีการศึกษาที่ดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะธุรกิจที่ปรึกษาต้องสร้างความเชื่อถือ ถ้าไม่มี ธุรกิจก็ไม่เกิด”
-----------------------

ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม
จุดตัด "โอกาส - อุปสรรค"

เปลี่ยนมุมมาดูธุรกิจ "ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม" ที่กำลังเติบโตอย่างมากในบ้านเราซึ่งคาดกันว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4-5,000 ล้านบาทต่อปี และมีโอกาสอีกมหาศาลเช่นกันในตลาดอาเซียน โดย “ดร. กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้บริหาร บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนและออกแบบระบบขนส่งมวลชนโครงสร้างพื้นฐาน และการวางแผนพัฒนาเมืองด้วยบุคลากรวิศวกร ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไทย และจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ตั้งแต่ปี 2554

บริการของพวกเขามีตั้งแต่ การวางแผนหลักการขนส่ง ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ออกแบบรายละเอียด ควบคุมงานก่อสร้าง และการบริหารงานโครงการ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เรียกว่าให้บริการที่ปรึกษาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการนำไปสู่การปฏิบัติจริง

สำหรับในอาเซียน พวกเขาเข้าไปวางแผนแม่บทสำหรับระบบขนส่งมวลชนของเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมในการรับงานของ Japan International Cooperation Agency (JICA) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น รวมถึงที่เวียดนาม เข้าไปทำระบบรถไฟฟ้าที่ฮานอยสายหนึ่ง

“สำหรับอาเซียน เรียกว่ามีทั้งโอกาสและอุปสรรค โอกาสคือ ยังมีประเทศที่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้น อย่างพม่า ซึ่งเขามีทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะจ่ายได้ ลาว ก็มีโอกาส แต่ความสามารถในการลงทุนจะน้อยกว่า ส่วนเวียดนามเคยเป็นฐานของเรามีวิศวกรรมที่ปรึกษาเข้าไปทำงานเยอะมาก แต่ความต้องการน้อยลงเพราะเขาสร้างฐานด้านวิศวกรรมไปเยอะแล้ว”

มองเห็นโอกาสแต่ "อุปสรรค" ก็ยังมีให้เห็น เพราะประเทศอย่าง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือ มาเลเซีย ก็คือคู่แข่งสำคัญของไทย เราอาจมีฝีมือและประสบการณ์ แต่จุดอ่อนสำคัญก็คือ “ความสามารถทางด้านภาษา” และนี่เองที่สกัดดาวรุ่งในการเติบใหญ่ในอาเซียน

“จุดนี้เราต้องระวัง เพราะการไปแข่งในอาเซียน เราต้องใช้ภาษาอาเซียน หรือภาษาอังกฤษ ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ของวิศวกรไทย ที่น่าตกใจ และต้องพัฒนาโดยเร่งด่วน ตอนนี้บริษัทที่ปรึกษาก็พยายามรับพนักงานที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเปิดตลาดในอาเซียน เพราะถ้าเปิดเออีซี เราจะเจอกับวิศวกรมาเลย์ อินโด ที่จะมาแย่งงานเรา และในประเทศที่เราจะเข้าไป ขณะที่เราจะกลับไปแข่งขันในบ้านเขาก็ลำบาก ไม่ใช่เพราะเขาปิดนะ แต่เพราะความสามารถทางภาษาเราไม่ถึง”

การพัฒนาทักษะของคน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดจุดอ่อนในตลาดที่ปรึกษา

ขณะที่ปัญหาที่สองคือ “แหล่งเงินทุน” ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติไทย

“ธุรกิจที่ปรึกษาในไทยส่วนใหญ่ดูแลตัวเอง อย่าง งานโครงการรัฐซึ่งอาจมีจ่ายล่าช้าไปบ้าง เราก็ต้องดูแลตัวเอง แต่การไปลงทุนต่างประเทศเราต้องมีแหล่งเงินทุนที่ชัดเจน งานวิศวกรรมที่ปรึกษาสินทรัพย์ของเราคือสมอง ฉะนั้นจะมีกลไกอย่างไรที่จะทำให้เราเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ เราต้องดูอย่างสิงคโปร์เขามีแหล่งทุนมหาศาล ดังนั้นนอกจากเขาจะไปจับจองตลาดที่เป็นโอกาสของเราแล้ว เขายังจะเข้ามาแข่งขันในบ้านเราได้อีกด้วย”

เขาบอกว่า เมื่อเห็นจุดอ่อนก็ต้องรีบแก้ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับที่ปรึกษาสายพันธุ์ไทย จะได้มีที่ยืนอย่างสง่างามในสนามอาเซียน เพราะถึงอย่างไรสำหรับงานด้านวิศวกรรม คนไทยก็ไม่แพ้ชาติใด วิศวกรไทย ค่อนข้างทำงานได้ครบรอบด้าน เรียกว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ ฉะนั้นใครจะเข้ามาตี “ยาก” เรื่องความรู้ความสามารถเรายังพร้อมและได้เปรียบ

ขณะนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในอาเซียน ก็มักจับมือกับวิศวกรรมที่ปรึกษาไทยเข้าไป ด้วยเหตุผลคือ มีความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่อย่างไร เขาบอกว่า การทำงานก็ต้องมีที่ปรึกษาท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ด้วย เพราะโลคัลคอนซัลท์ จะมีข้อมูล และช่วยให้การทำงานต่างบ้านของเราทำได้ง่ายขึ้น

“เปิดอาเซียน ยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่ปรึกษา แต่ผู้ประกอบการด้านนี้ก็ต้องปรับตัว คือให้เตรียมพร้อมเรื่องกำลังคน เพราะการบริหารคนสำคัญมาก คนมากไปบริษัทก็มีปัญหา แต่ถ้าน้อยไป ก็ไม่สามารถรับงานและเติบโตได้ สอง ต้องบริหารคุณภาพคน คือทำอย่างไรให้คนของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถไปทำงานเดี่ยวๆ เองได้ และสามต้องมีความสามารถด้านภาษา”

เตรียมคนให้พร้อม รู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง เติมเต็มส่วนที่ยังขาด ก็สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน
---------------------------------

Image Consultant
"ผู้นำ" ภาพลักษณ์ต้องชนะเลิศ !!

อีกหนึ่งธุรกิจที่ซ่อนอยู่ แต่ใครจะรู้ว่านี่ก็เป็นโอกาส กับ “Image Consultant” ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ให้กับผู้นำ ผู้บริหาร แม้แต่พนักงานองค์กร ซึ่งไม่แค่ให้บริการเหล่านักลงทุนหรือธุรกิจไทยที่เข้าไปในอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสในการทำตลาดเพื่อนบ้านด้วย

“วีณา ทองแถม” โค้ชด้านบุคลิกภาพ (Image Coach) คนไทยคนแรกที่ Certified หลักสูตร Styling Coaching จากประเทศอังกฤษ และหลักสูตร Men Styling จาก BBI สหรัฐอเมริกา สมาชิก AICI (Association of Image Consultant professional) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่สั่งสมชั่วโมงบินจากการทำงานจนได้รับการยอมรับในวันนี้

เธอบอกว่า การได้นำชื่อตัวเอง เขาไปติดอยู่ใน AICI ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก มี Certified การันตี เปิดโอกาสให้สามารถขยายบริการที่ปรึกษาไปแจ้งเกิดในอาเซียนได้

“การที่ชื่อของเราไปลิสต์อยู่ในระดับนี้ได้ ทำให้ลูกค้าจะสามารถค้นหาเราได้ง่ายขึ้น ยิ่งมี Certified ก็เหมือนกับได้รับการรับรองพวก ISO นั่นแหล่ะ ทำให้เขายิ่งเชื่อมั่น โดยเฉพาะอาเซียน เขาจะรู้สึกว่า อะไรที่เป็นมาตรฐานสากลมารับรอง จะยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น โอกาสของเราจึงเยอะขึ้นตามไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ตลาดอาเซียน มีอาชีพที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์อยู่เยอะพอสมควร แต่ที่เชื่อว่ายังเป็นโอกาส เพราะเพื่อนบ้านให้การยอมรับคนไทย เชื่อสายตาคนไทย ชอบแบรนด์ไทย ซื้อเสื้อผ้าจากไทย และนี่น่าจะยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านนี้

“ตอนนี้ก็เริ่มมีลูกค้าจากพม่าติดต่อเข้ามา เขาทำงานเกี่ยวกับบริษัทยาอยู่ที่พม่า และอยากให้เราไปสอนที่นั่น ซึ่งก็เห็นเลยว่ายังมีโอกาสอีกเยอะนะ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองแฟชั่นอยู่แล้ว เขารับรู้เราในเรื่องนี้ ยิ่งพอเรามีแฟชั่นที่ดี มีฮาวทูเรื่องการปรับภาพลักษณ์ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งสร้างแต้มต่อในตลาดอาเซียน”

เธอบอกตัวอย่างโมเดลที่น่าสนใจ ของบริการให้คำปรึกษาแบบแพคเก็จ เริ่มจากการไปโค้ชเรื่องบุคลิกภาพให้กับลูกค้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยดีไซน์ออกมาเป็นหลักสูตร แล้วชวนเอาดีไซเนอร์ชาวไทย คนที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าของไทย ให้ออกแบบเสื้อผ้าที่รับไปกับการปรับลุ้คของลูกค้าเพื่อนบ้าน จากนั้นอบรมเสร็จก็จัดทริปให้เขามาชอปปิ้งที่เมืองไทย

เรียกว่าไม่ได้ช่วยแค่ธุรกิจที่ปรึกษา แต่ยังปลุกตลาดแฟชั่นไทย ให้รุ่งโรจน์ไปด้วยจากโมเดลนี้

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า คนที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ คงไม่ใช่ “ใครก็ได้” อีกต่อไป เพราะการทำงานในระดับอาเซียน ผู้ให้บริการต้องมีความเป็น “มืออาชีพ” ซึ่งไม่ใช่แค่เก่งประสบการณ์ แต่ต้องมีการรับรองการทำงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ยิ่งมีชั่วโมงบินสูงๆ ก็จะยิ่งได้รับการยอมรับ และเชื่อถือ ที่สำคัญต้องมีความสามารถทางด้านภาษา เพื่อสร้างแต้มต่อในเกมรุกฉากใหม่ เหนือน่านน้ำอาเซียน

กับโอกาสที่มองข้ามไม่ได้ ของธุรกิจที่ปรึกษาสัญชาติไทยในสนามอาเซียน