4 กลยุทธ์อันดับหนึ่ง นู สกิน

4  กลยุทธ์อันดับหนึ่ง นู สกิน

สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำ อย่าเอาแต่ฝันอย่างเดียว เพราะทุกอย่างมันคงไม่ได้มาง่าย ๆ

เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า ของ 'นู สกิน' ก็คือตัวเลขยอดขาย 5 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มเป็นอีกเท่าตัวจากปีปัจจุบัน

สำหรับคำถามว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น "ภคพรรณ ลีวุฒินันท์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส ประเทศไทย และเวียดนาม มีคำตอบ

ทั้งนี้ในปี 2553 ที่ภคพรรณดำรงตำแหน่งซีอีโอเป็นปีแรก เธอก็สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยสามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยประกาศไว้ว่าจะนำพานู สกินก้าวเข้าสู่ความเป็นบริษัท 2 พันล้านบาท

ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของเธอ ก็คือ หลักในการดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) บุคลากร (People) โอกาสทางธุรกิจ (Opportunity) และวัฒนธรรม (Culture)

รวมถึงหลักคิดที่ว่า "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทุกๆ อย่างจะเป็นไปได้" แม้ว่าจะเป็นซีอีโอที่เยาว์วัย แต่หลักคิดของ ภคพรรณ ก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ตรงจุดไหน ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้เสมอหากคิดและทำให้ดีที่สุด

"สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำ ต้องเหนื่อย ต้องลงแรง อย่าเอาแต่ฝันอย่างเดียว เพราะทุกอย่างมันคงไม่ได้อะไรมาง่าย ๆ"

สำหรับหลักดำเนินธุรกิจนั้น ด้านแรก นู สกินจะโฟกัสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอย ต่อต้านความเสื่อมชราอย่างเต็มรูปแบบ หรือ Anti-aging แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมานู สกินเคยมีผลิตภัณฑ์หลายต่อหลายอย่างก็ตาม เพราะนี่คือแนวโน้มที่มาแน่ ๆของตลาดความงาม

"ตลาด Anti-aging เวลานี้มีขนาดใหญ่ เพราะใครๆก็ไม่อยากแก่ เป็นเรื่องนี้จริงๆ อย่างประเทศไทยเองภายในปี 2557 ครึ่งหนึ่งของประชากรก็จะเป็นคนที่มีอายุ 50 ขึ้นไปเช่นกัน"

นู สกินจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของอาร์แอนด์ดีมากถึงมากที่สุด

"เมื่อเรามุ่งเน้นเรื่องการชะลอวัย ก็คงไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการแก้ปัญหา แต่เราจะมองไปจนถึงรากของปัญหา ทำให้การพัฒนาสินค้าออกมาแต่ละตัวของเรา ถ้าเป็นพวกสกินแคร์จึงใช้เวลาถึง 4 ปี แต่ถ้าเป็นพวกอาหารเสริมต้องใช้เวลาถึง 6-8 ปี เพราะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ของนู สกินในแต่ละปีเลยมีเพียง 1-2 ตัว เท่านั้น"

สำหรับเรื่อง บุคลากรนั้น นู สกิน ต้องการเดินบนเส้นทางของความเป็น "มืออาชีพ"

ภคพรรณ บอกว่า ความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับคน ซึ่งพนักงานทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นทีมงาน ตัวแทน หรือลูกค้า ย่อมมีความสำคัญเท่าเทียมกัน โดยเธอเปรียบคนที่มีหน้าที่ที่แตกต่างกันนั้นเป็นเหมือนเป็นอวัยวะภายในร่างกายซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดระบบที่ดี และเอื้อให้คนหรืออวัยวะต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"สมองน่าจะเปรียบเหมือนกับทีมบริหาร ผู้บริหาร ส่วนพนักงานนั้นเป็นแขนขา และหากจะให้สมองคิดอย่างเดียว แขนขาไม่เดิน ก็คงไม่ได้ ขณะที่หัวใจก็คือ ผู้แทนจำหน่ายและลูกค้า ถ้าลูกค้าใช้สินค้าของเรา หัวใจก็เต้นดี ถ้าผู้แทนจำหน่ายมาทำงานกับเรา หัวใจเราก็แข็งแรง"

เมื่อถามถึงวิธีการบริหารจัดการ เธอก็อธิบายเพิ่มว่าต้องเริ่มจากสมอง หรือทีมบริหาร ซึ่งคนกลุ่มนี้สำคัญที่สุดต้องมีภาวะผู้นำ

"ผู้นำอย่างเราต้องเป็นแบบอย่าง แต่เราต้อง do it first ก่อนจากนั้นค่อย lead by example ถ้าเราอยากให้พนักงานของเราเป็นอย่างไร ผู้นำควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดี"

หากเป็นกลุ่มพนักงาน ที่มีหลายระดับ หลายแผนก เธอบอกว่า คงต้องมองในเรื่องของความสุขในการทำงาน

"เราต้องทำให้บริษัทเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของพวกเขา ถ้าเราอยากให้เขาอยู่กับเรานานๆ ต้องอาศัยการดูแล ต้องทำให้พวกเขารู้สึกแฮบปี้ ต้องทำให้ชีวิตของเขามีสมดุลระหว่างการทำงานและครอบครัว"

แล้วจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุล ภคพรรณบอกว่าทำได้ไม่ยากเช่นการ recognize หรือทำให้คนรู้สึกมีคุณค่า

"แต่ก่อนที่เราทำให้ใครสักคนรู้สึกว่าเป็น somebody ในองค์กร โดยการ recognize เราก็ควรมี KPI หรือมีหลักเกณฑ์ในการประเมินผลงานที่ชัดเจน รวมไปถึงต้องมีการพัฒนาพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อยู่กันมาสิบปี เขาก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ที่เดิมเหมือนเดิม"

เธอบอกว่าในเรื่องของการพัฒนาความรู้ความสามารถพนักงานให้ก้าวไปข้างหน้านั้นมีผลต่อเป้าหมาย 5 พันล้านบาทเป็นอย่างมาก เรื่องนี้เป็นเหมือนกับการตระเตรียมหลังบ้านให้พร้อม เพราะหากขาดความพร้อม ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น และที่สุดย่อมทำให้บริษัทไปไม่ถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน

ปัจจุบันพนักงานของนู สกิน (ประเทศไทย) มีอยู่ราว 130 คน ขณะที่มีอัตราการลาออกเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นู สกินจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ที่ไหนก็ทำได้ทั่วโลก (Anywhere Anytime) คือเป้าหมายทางด้าน โอกาสทางธุรกิจ

ปัจจุบันนู สกินขยายสาขาได้ถึง 53 ประเทศทั่วโลก ส่วนในเอเชียนั้นนู สกินมีสาขาอยู่ 8 ประเทศ และมีแผนจะขยายไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวของภคพรรณเอง ในเวลานี้ดูแลตลาดทั้งในประเทศไทยและล่าสุดก็คือที่ประเทศเวียดนาม

"บริษัทแม่เขาให้โอกาสเราไปเปิดสาขาที่เวียดนามเมื่อปีที่แล้ว ที่จริงเรามีแผนจะขยายไปยังประเทศข้างเคียง เช่น ลาว พม่า เพราะภูมิประเทศมีความใกล้ชิดรวมถึงวัฒนธรรมก็ใกล้เคียงกัน"

เธอบอกว่าแม้จะสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน แต่การไปเวียดนามถือเป็นการเรียนรู้ครั้งใหม่ และการไปบุกเบิกก็เหมือนการเปิดโลกทัศน์เป็นเหมือน "การลับมีดให้คม"

"การไปเวียดนามก็เหมือนกับเราเริ่มจากศูนย์ ต้องใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ทำแผน ดูตลาด ดูเรื่องกฏหมาย เรื่องคน จัดโครงสร้างองค์กร

ซึ่งเราจะเอาผู้บริหารของเราหนึ่งคนไปประจำที่โน่น แต่สุดท้ายแล้วต้องมอบหน้าที่ให้คนในท้องถิ่น เพราะเขารู้ทุกอย่างในตลาดมากกว่าและดีกว่าเรา"

ซีอีโอท่านนี้มองถึงโอกาสของตลาดเออีซีว่าเป็นของทุกคน ทุกธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจขายตรงหากต้องการประสบความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับความขยัน คือ ทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย

เรื่องสุดท้ายก็คือ วัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงพลังแห่งความดี ที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตคนดียิ่งขึ้น

"ไม่ว่าสินค้า ธุรกิจ หรือวัฒนธรรมองค์กรของเราจะต้องช่วยทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องวัฒนธรรมองค์กรเป็นพลังความดีที่เริ่มมาจากตัวของพนักงานทุกคนของนู สกินถึง 95% มันเป็นเรื่องของการรู้จักให้ และการคืนเรื่องดี ๆกลับสู่สังคม"

และที่เธอภาคภูมิใจอยากจะนำเสนอก็คือโครงการ "ผ่าตัดหัวใจเด็ก" (นู สกินประเทศอื่นเองก็เห็นพ้องว่าดี กระทั่งนำเอาไปทำตาม) ซึ่งนู สกินร่วมกับมูลนิธิหัวใจเด็กโรงพยาบาลราชวิถี ช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้มายาวนานถึง 16 ปี และถึงวันนี้ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผ่าตัดเด็กไปแล้วกว่า 5 พันราย

"ความที่เราทำโครงการนี้มายาวนานจนมันอยู่ภายในใจคนของเรา จากเดิมทีเราต้องทำการเรี่ยไรเงินซึ่งแต่ละปีจะได้ประมาณ 1-2 ล้านบาท แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เพราะแม้แต่ตัวแทนจำหน่ายก็ยังมานำเสนอให้เราหักคอมมิชชั่นของเขาเพื่อเข้าโครงการนี้ไปเลย 1% ตอนนี้เงินบริจาคเราค่อนข้างเยอะ และสามารถช่วยเหลือเด็กได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 300 คน มาในปีนี้เราช่วยเด็กได้ถึง 700 คน"