สถาบันไฟฟ้าฯหั่นเป้าส่งออกลบ3%

สถาบันไฟฟ้าฯหั่นเป้าส่งออกลบ3%

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หั่นเป้าหมายการส่งออกติดลบ 3% หลังตลาดหลัก จีน หดตัวแรง อียู ญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัว หวังทีวีดิจิทัลดันตลาดในปท.

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการ เปิดเผยหลังการประชุมว่า สถาบันได้ปรับประมาณการการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2556 โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 52,530 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีที่แล้ว 3% เป็นการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ตั้งเป้าว่าการส่งออกจะขยายตัว 2.5% เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายประการ ที่สำคัญคือตลาดส่งออกจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มลดลงมาก จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้การผลิตและส่งออกสินค้าของจีนลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงไทยที่ส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จีน เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เป็นต้น

ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ของไทย

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป หรือ อียู และตลาดญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ส่วนการส่งออกไปตลาดสหรัฐแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกของปี แต่ยังไม่มีแรงส่งมากพอที่จะพยุงการส่งออกในภาพรวมให้ดีขึ้น โดยสถาบันจะติดตามการส่งออกในไตรมาส 3-4 ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะถือว่าเป็นช่วงที่มีการส่งออกมากเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะตลาดจีนพบว่าการส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปจีนมูลค่า 1,439 ล้านดอลลาร์ ลดลง 43% ส่งออกมอเตอร์ขนาดเล็กมูลค่า 154 ล้านดอลลาร์ ลดลง 29% ส่งออกเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันการลัดวงจร แป้นและแผงควบคุมมูลค่า 103 ล้านดอลลาร์ ลดลง 15% ซึ่งการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ลดลงมาก แสดงให้เห็นว่าความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ พีซี และสินค้าสำเร็จรูปบางประเภทลดลง แต่ความต้องการสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากขึ้น

ครึ่งปีส่งออกไฟฟ้าเพิ่ม 1% อิเล็กฯ ลด 4%

ส่วนภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 11,418 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยตลาดส่งออกสำคัญคืออาเซียนและญี่ปุ่น ในจำนวนนี้การส่งออกเครื่องปรับอากาศมีมูลค่าสูงสุด 2,163 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% รองลงมาเป็นกล้องวีดิโอมูลค่า 953 ดอลลาร์ ลดลง 10% ตู้เย็น 807 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13% เครื่องซักผ้า 462 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30% และโทรทัศน์ 438 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6%

สำหรับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ช่วง 6 เดือนแรก มีมูลค่า 15,107 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4 % ตลาดส่งออกสำคัญอยู่ที่สหรัฐ อาเซียน และ อียู โดยการส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มีมูลค่าสูงสุด 8,773 ล้านดอลลาร์ ลดลง 13% ไอซี มูลค่า 3,506 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3% เครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรทัศน์ 598 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4% อุปกรณ์โทรศัพท์และโทรเลข 466 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3%

ทีวีดิจิทัลดันยอดขายในประเทศ

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับตลาดในประเทศ ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชื่อว่ายังอยู่ในสถานการณ์ดี โดยเฉพาะโทรทัศน์ดิจิทัลที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น หลังจากรัฐประกาศว่าจะมีช่องทีวีดิจิทัลออกอากาศได้บางส่วนในเดือนธ.ค.นี้ รวมทั้งกล่องแปลงสัญญาอนาล็อกเป็นดิจิทัลก็จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ส่วนปัจจัยลบที่อาจจะมีผลต่อการบริโภคในประเทศก็คือสถานการณ์การเมือง แต่เชื่อว่าไม่มากนัก

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานบริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นว่าภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งปีหลัง มีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัว ส่งผลต่อความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ในขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นยังขยายตัว แต่ไม่สูงมากพอที่จะทำให้การส่งออกในภาพรวมดีขึ้น

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนถือว่ายังมีความเสี่ยง ทำให้ผู้ประกอบการต้องซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน

"ช่วงครึ่งแรกปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนเคยผันผวนระหว่าง 29-31 บาท ซึ่งช่วงนี้เงินบาทอ่อนค่าลงก็อาจเป็นผลดีต่อผู้ผลิตเพื่อส่งออก แต่ผู้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อชายในประเทศจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น"

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยต้องบริหารสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่เข้ามา ซึ่งถ้ามีสินค้าคงคลังมากอาจมีผลต่อสภาพคล่องได้เช่นกัน

หวั่นเศรษฐกิจ การเมืองฉุดตลาด

นางกนิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการเมืองอาจมีผลต่อความรู้สึกในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคอีกด้วย

ในส่วนของ โตชิบา บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ลง 3% เพราะว่าเป็นช่วงฤดูฝน และสภาพอากาศช่วงนี้มีผลต่อความต้องการสินค้าบางประเภทลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศ

"ต้องรอดูว่าเมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนต.ค. จะปรับขึ้นมาดีขึ้นเพียงใด รวมทั้งต้องรอดูปัจจัยกำลังซื้อภายในประเทศและสถานการณ์การเมืองว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจบริโภคเพียงใด" นางกนิษฐ์ กล่าว

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการใช้จ่าย ตามการกำหนด 4 มาตรการหลัก เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศให้ได้ 1% โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน ดำเนินการในรูปแบบของมหกรรมสินค้าประหยัดพลังงานราคาถูก ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ

ธปท.เชื่อมาตรการรัฐหนุนเศรษฐกิจโต

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่เหลือในปีนี้ของรัฐบาล จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใด ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง โดยส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการที่ออกมาเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจ ไม่ได้ลงสู่ภาคอุปโภคบริโภคมากนัก

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้อีก 1% หรือไม่ ขอไปวิเคราะห์ก่อน แต่ประเมินว่าภาพรวมน่าจะช่วยสนับสนุนทิศทางเศรษฐกิจให้เป็นไปในทางที่ดี แม้ว่ารัฐบาลจะมีการเบิกจ่าย พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ล่าช้าออกไป ก็เชื่อว่ารัฐบาลคงจะหาวิธีการใช้จ่ายงบในส่วนอื่นแทนได้" นายเมธี กล่าว