ภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยงใกล้ไทย

ภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยงใกล้ไทย

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเหตุชัดเจนแล้วว่าจะมีผลต่อราคาพลังงานและเศรษฐกิจโลก และอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมาหลายองค์กรประเมินให้ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันที่พร้อมจะระอุขึ้นมาตลอดเวลา และสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีความไม่แน่นอนสูงหลังจากปี 2566 มีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

ล่าสุดสถานการณ์ในตะวันออกกลางเกิดการปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่ออิหร่านได้ทำการยิงโดรนข้ามมาถึงน่านฟ้าอิสราเอล แม้ว่าจะถูกยิงสกัดได้ แต่มีเสียงระเบิดดังขึ้นในหลายเมืองทั่วอิสราเอล ซึ่งรวมถึงกรุงเทลอาวีฟ และเยรูซาเล็ม ในขณะที่อิสราเอลรายงานว่ามีการยิงขีปนาวุธมาจากเลบานอน ส่งผลให้มีการเตือนภัยดังขึ้นทั่วพื้นที่ที่ราบสูงโกลัน โดยกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านได้ออกแถลงการณ์ว่าการโจมตีอิสราเอลครั้งนี้เป็นการป้องกันตัวเองหลังเกิดเหตุถล่มสถานทูตในซีเรีย

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองอยู่ที่ความผันผวนของระดับราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่ยังคงมีความผันผวนมาก ถึงแม้ว่าอิหร่านจะออกมาแถลงว่าได้ยุติการโจมตีอิสราเอลไปแล้ว โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงกว่าประมาณการณ์ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบไต่ระดับสูงขึ้น ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มติดลบเกิน 100,000 ล้านบาท

หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงกระทรวงการคลัง ออกมาระบุถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะถัดไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกำหนดจุดยืนของประเทศไทยให้เกิดสมดุลมากที่สุด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ย่อมมีทั้งผลบวกและผลลบต่อประเทศ

รัฐบาลจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจำเป็นต้องจัดเตรียมมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะเหตุชัดเจนแล้วว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะมีผลต่อราคาพลังงานและเศรษฐกิจโลก และอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะปัจจัยด้านงบประมาณที่มีจำกัด จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด