สร้างซัพพลายเชนหลากหลาย โอกาสไทยได้ประโยชน์

สร้างซัพพลายเชนหลากหลาย โอกาสไทยได้ประโยชน์

หลังเดินทางพบผู้นำมาหลายประเทศ นายกฯ เศรษฐา ก็กลับถึงเมืองไทย และพบกับแขกคนสำคัญจากสหรัฐ ทำให้น่าติดตามต่อไปว่าไทยเองจะมีกลยุทธ์ในด้าน เซมิคอนดักเตอร์ เอไอ เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานสะอาด อย่างไรหลังจากนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ชาติมหาอำนาจกำลังให้ความสนใจ

จากเมืองไทยไปสิบวันเต็ม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน เดินสายหลายประเทศข้ามทวีป พบผู้นำต่างชาติและภาคธุรกิจมากมายหลายสิบเจ้า กลับมาถึงเมืองไทยตอบคำถามแทบไม่ทันว่าที่ไปๆ มานั้นได้ผลงานมากน้อยแค่ไหน เป็นนายกฯ ก็ต้องโดนตรวจสอบตั้งคำถาม แม้แต่คนรักกันชอบกันก็อาจจะมีคำถามได้เหมือนกัน ลองไล่เส้นทางนายกฯ ช่วงสิบวันที่ผ่านมาไปไหนมาบ้างจะเห็นภาพที่น่าสนใจไม่น้อย

ทริปนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. นายกฯ เศรษฐามุ่งหน้าสู่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียสมัยพิเศษ และมีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซีเจ้าบ้าน รวมถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลาว และนิวซีแลนด์ เสร็จสิ้นการประชุมบ่ายวันที่ 6 มี.ค. เหินฟ้าไปยุโรปทันที แวะกรุงเบอร์ลิน เยอรมนีป้ายแรกร่วมงานท่องเที่ยวระดับโลก สอดรับกับที่ปีหน้าจะประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวไทย จากนั้นบินไปฝรั่งเศสพบประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ไปเมืองคานส์ ก่อนกลับมาเยอรมนีอีกครั้งพบนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แล้วบินกลับไทย

ยังไม่ทันถึงไทยดีก็มีแขกมารออยู่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ จีนา ไรมอนโด นำคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐมาเยือนไทย ตอกย้ำนโยบายสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้วในด้านบริษัทที่ให้บริการเข้าแพ็กเกจชิปและตรวจเช็กการทำงานของชิป แต่สหรัฐอยากสร้างความร่วมมือเพิ่มเติมด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเตอร์ด้วย ยิ่งรัฐบาลไทยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลยิ่งต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์มหาศาล การสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชนจึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องต้องกันพอดี

การมาเยือนไทยของรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐมีข้อน่าสังเกต ก่อนมาไทยเธอและคณะเยือนฟิลิปปินส์มาก่อนด้วยวาระเดียวกัน เน้นย้ำถึงความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจ ไม่แตกต่างกับออสเตรเลียที่มองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีความหวังเช่นกัน ปลายปีก่อนออกยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583 ที่เพิ่งประกาศมาตรการต่อยอดในเวทีประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ก่อน ในภาพรวมชี้ให้เห็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าหาอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเทรนด์มหาอำนาจมาอย่างนี้ ถึงคราวไทยต้องวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องเพื่อประโยชน์สูงสุด นาทีนี้ใครๆ ก็พูดถึงเซมิคอนดักเตอร์ เอไอ เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด ประเทศอาเซียนใครเคลื่อนเร็วก็ได้ประโยชน์เร็ว การเป็นประเทศศูนย์กลางการท่องเที่ยวนั้นทำได้ง่ายเพราะเป็นของเก่าที่เราคุ้นชิน ลองออกจากคอมฟอร์ทโซนดูบ้างแล้วจะรู้ว่าไทยยังมีศักยภาพอีกมาก ไปพบชาวต่างชาติมามากมายหลายระดับหลากวงการก็อย่าให้เสียของ