‘หนี้’ ท่วมประเทศ

‘หนี้’ ท่วมประเทศ

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลลบมากขึ้นต่อจีดีพีประเทศในระยะยาว ภาระหนี้ในระดับสูง คือ ตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจเพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการนำไปใช้จ่าย

การแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนทั้งหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบถูกยกเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดช่องให้ลูกหนี้ได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย พบว่า หลังจากเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียน พบว่า มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 1.4 แสนราย มูลหนี้ประมาณ 9.8 พันล้านบาท และรัฐบาลไกล่เกลี่ยได้แล้ว 1.2 หมื่นราย วงเงิน 670 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เคยแถลงไว้ว่ามีหนี้นอกระบบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 ได้แก้ปัญหาชำระหนี้เบ็ดเสร็จแล้ว 630,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 4,000 ล้านบาท รัฐบาลเชื่อว่า ไม่เกินกลางปีนี้จะจบปัญหาได้กว่า 1.1 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้รหัส 21 ที่มีทั้งหมด 3.5 ล้านราย

ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย นับเป็นปัญหาใหญ่ และยิ่งลุกลามบานปลายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและ เศรษฐกิจในหลายมิติ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยแตกต่างจากต่างประเทศหลายด้าน

คนไทยมีหนี้ส่วนบุคคล และบัตรเครดิต “สูง” เมื่อเทียบกับต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด หนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ช่วยสร้างรายได้ ขณะที่ต่างประเทศมีหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน 

นอกจากนี้ คนไทยบางอาชีพ ยังมีหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่นโดยเปรียบเทียบ เช่น เกษตรกร หรือกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือกลุ่มข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ที่รายได้มั่นคงแต่น้อยทำให้ขาดกันชน เช่น เงินออมไว้รองรับยามเกิดวิกฤติ ทั้งยังมีลูกหนี้ที่ต้องกู้ยืมนอกระบบ 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเป็นหนี้ของคนไทยตามข้อมูลของ ธปท.พบว่า 1.คนไทยเป็นหนี้เร็ว วันนี้อายุของคนเริ่มเป็นหนี้อายุน้อยลง 2.เป็นหนี้เกินตัว 3. เป็นหนี้โดยไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง 4.เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น 5. เป็นหนี้นาน 6.เป็นหนี้เสีย 7.เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น และ 8.เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลลบมากขึ้นต่อจีดีพีประเทศในระยะยาว ภาระหนี้ในระดับสูง คือ ตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจเพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการนำไปใช้จ่าย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินหากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อมๆ กัน อาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ เกิดปัญหาหนี้เสียในวงกว้ากลายเป็นวิกฤติ และอาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น 

ปัญหาหนี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงขึ้น สวนทางรายได้ครัวเรือนที่ลดลง ตามจำนวนคนทำงานหารายได้ เป็นความท้าทายของประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ในการหามาตรการรับมือในระยะยาวร่วมกันอย่างยั่งยืน เพื่อสกัดไม่ให้ปัญหาหนี้ลุกลาม เรื้อรังจนกลายเป็นหนี้ท่วมประเทศ ..ฉุดรั้งอนาคต