นโยบายการเงิน กำลังส่งลูกบอลแรงเกินไป?

นโยบายการเงิน กำลังส่งลูกบอลแรงเกินไป?

แม้ว่าแบงก์ชาติจะยืนยันว่าการขึ้นดอกเบี้ย 2.5% ครั้งนี้ เป็นแผนระยะยาว เหมือนการเลี้ยงบอลเพื่อส่งให้ผู้เล่นอีกคน แต่ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ ก็ยังมีคำถามว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้หรือไม่ หลังตัวเลขเศรษฐกิจหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

หลังจากที่คนในแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจตั้งคำถามกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” อยู่นานเกี่ยวกับการทำนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 2.5% แม้จะเป็นระดับที่ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ก็เป็นการปรับขึ้นท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่ผิดไปจากคาดการณ์ไว้อย่างมาก (ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2566 คาดการณ์ไว้เติบโตกว่า 3% แต่ตัวเลขจริงออกมาโตเพียง 1.8% เช่นเดียวกับไตรมาส 3 ปี 2566 ที่จีดีพีเติบโตได้เพียง 1.5% ผิดไปจากคาดการณ์อย่างมาก) แถมเงินเฟ้อยังหดตัวสวนทางกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกระแสดราม่าเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับผลดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ ...ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ผู้บริหารแบงก์ชาติ นำโดย “ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ซึ่งยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พร้อมด้วย “สุวรรณี เจษฎาศักดิ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และ “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดเงิน เปิดโต๊ะแถลงข่าวเคลียร์ปมทั้งหมดในงาน BOT Policy Briefing โดยตอบทุกคำถามที่คาใจ

ทีมผู้บริหาร ธปท. ยืนยันว่า การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มาผิดทางอย่างแน่นอน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายจะดูแค่จุดใดจุดหนึ่งหรือดูระยะสั้นอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ทั้งภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน โดยยังต้องเน้นมองไปข้างหน้า มองภาพรวมระยะปานกลาง ที่สำคัญยังต้องพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การตัดสินใจนโยบายได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน

ในระหว่างการแถลงข่าว “ปิติ” ยังเปรียบการทำนโยบายการเงินกับเกมฟุตบอลด้วยว่า การทำนโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า เพราะนโยบายการเงินต้องใช้เวลาส่งผ่าน เหมือนการเล่นฟุตบอลที่เวลาส่งลูก ก็ต้องส่งไปยังที่ผู้เล่นอีกคนกำลังวิ่งไป ไม่ใช่ส่งไปในจุดที่เขายืนอยู่ พร้อมกับยืนยันว่า ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาเป็นไปตามคาดบางส่วน แต่บางส่วนก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คาด ส่วนเงินเฟ้อ ธปท. ประเมินไว้อยู่แล้วว่าที่ติดลบไม่ได้สะท้อนการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่เกิดจากปัจจัยชั่วคราว ระยะสั้นจะติดลบถึงเดือนก.พ.หลังจากนั้นจะค่อยๆ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

น่าแปลกใจที่หลายความเห็นของประชาชนทั่วไปซึ่งมีต่อ ธปท. ในรอบนี้ โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียกลับไม่ได้มองมุมเดียวกับธปท.มากนัก หลายคนยังคงตั้งคำถามอย่างหนักกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน คอมเมนต์ไปถึงขั้นว่า ธปท. ได้ลงมาเดินดูตามท้องตลาดบ้างหรือไม่ ที่สำคัญน่าคิดต่อว่าการส่งบอลของ ธปท. ในรูปนโยบายการเงินที่บอกว่าต้องให้เผื่อไว้โดยมองไปข้างหน้า คงต้องถามกลับว่าบอลที่ส่งออกไป “แรงเกิน” กว่ากำลังของคนในทีมที่จะวิ่งตามทันหรือไม่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นรูปเกมพังแน่นอน!