เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ? ทำไมนักธุรกิจไทยรุกลงทุนต่างแดนอีกรอบ

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ?  ทำไมนักธุรกิจไทยรุกลงทุนต่างแดนอีกรอบ

บริษัทกฎหมายใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลกเผย บริษัทไทยเตรียมซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อธุรกิจเงินล้นมือพยายามก้าวข้ามเศรษฐกิจซบเซาภายในประเทศ หาช่องทางหนุนการเติบโตของบริษัทในอนาคต

นายวรานนท์ วาณิชประภา หุ้นส่วนบริหารประจำประเทศไทย หัวหน้าฝ่ายการเงิน โครงการ และการปรับโครงสร้างในเอเชีย ของดีแอลเอ ไพเพอร์ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายรายใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลก เผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า กิจการครอบครัวขนาดใหญ่และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคพลังงาน บริการการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การบริการต้อนรับ และภาคค้าปลีก

บลูมเบิร์กรวบรวมข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2555 บริษัทไทยประกาศข้อตกลงซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศแล้วราว 1.07 แสนล้านดอลลาร์ การรุกซื้อกิจการครั้งนี้นำโดยเซ็นทรัลกรุ๊ปของตระกูลจิราธิวัฒน์,เครือเจริญโภคภัณฑ์ของอภิมหาเศรษฐีธนินท์ เจียรวนนท์, ทีซีซีกรุ๊ปของ เจริญ สิริวัฒนภักดี และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้บริษัทไทยลงหลักปักฐานในธุรกิจค้าปลีก เครื่องดื่ม และพลังงานไล่ตั้งแต่เวียดนามยันยุโรปและสหรัฐ

“คุณไม่สามารถมองบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยเป็นบริษัทไทยได้อีกต่อไปแล้ว พวกเขาเป็นบริษัทระดับโลกหรือระดับภูมิภาค” นายวรานนท์กล่าวและว่า เมื่อเร็วๆ นี้ดีแอลเอ ไพเพอร์ ช่วยให้บริษัทไทยทำข้อตกลงได้สำเร็จในบรูไน เวียดนาม เม็กซิโก สหรัฐ และเยอรมนี

“ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยขยายกิจการไปต่างประเทศหนักมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา” นายวรานนท์ย้ำ

การเร่งขยายตัวไปต่างประเทศ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวเบาบาง อัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 1.9% ผสมโรงด้วยหนี้ครัวเรือนที่เกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และหนี้สาธารณะเพิ่มสูงท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบสิบปี

ด้านตลาดหุ้นไทยดิ่งลงเข้าสู่ภาวะตลาดหมีในเดือนนี้ หลังกองทุนต่างประเทศดึงเงินออกไปกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ไม่ใช่แนวโน้มที่ดีต่อภาคธุรกิจเช่นกัน นักลงทุนพากันทิ้งหุ้นไทยด้วยความกังวลว่าหนี้รัฐบาลอาจเพิ่มขึ้นจากแผนการประชานิยมของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

ขณะที่นายเศรษฐาออกนอกประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในหลายภาคส่วนตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และพลังงานใหม่ แต่ช่วงไม่กี่ปีหลังบริษัทต่างชาติเข้าซื้อกิจการในไทยเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนายวรานนท์มองว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เข้าไทยลดลง “น่ากังวลเล็กน้อย”

ในช่วงหลังบริษัทใหญ่ระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน โทรคมนาคม และค้าปลีกถ้าไม่ออกจากประเทศไทย ก็ควบรวมกิจการกับบริษัทท้องถิ่น เช่น เทสโกขายธุรกิจค้าปลีกให้กลุ่มซีพี, เอ็กซอนน์โมบิล ขายธุรกิจโรงกลั่นและค้าปลีก “เอสโซ” ให้คู่แข่งอย่างบางจาก ขณะที่เทเลนอร์ควบรวมธุรกิจบริการโทรศัพท์มือถือกับทรูคอร์ปของซีพี ซิตี้กรุ๊ปขายรีเทลแบงกิงในไทยและตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ให้กับยูโอบีกรุ๊ปของสิงคโปร์

นายวรานนท์กล่าวด้วยว่า การถอนตัวออกไปของนักลงทุนต่างชาติส่งผลต่อความน่าสนใจของประเทศไทยโดยรวม

“ถ้าไม่นับบริษัทจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานอีวี เราไม่เห็นดีลใหญ่มูลค่าสูงเข้ามาในไทยมากนัก การที่บริษัทใหญ่ออกไปมากอาจทำให้นักลงทุนสงสัยว่าทำไม” ผู้บริหารดีแอลเอ ไพเพอร์สรุป