ผลักดันประเทศไทย ให้อยู่ในสายตาต่างชาติ

ผลักดันประเทศไทย ให้อยู่ในสายตาต่างชาติ

หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเจรจากับบริษัทต่างชาติถึงแนวทางการลงทุนในไทย ในขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องตรวจการบ้านอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าการเจรจากับแต่ละบริษัทมีข้อติดขัดประการใดแล้วจึงหาทางแก้ปัญหา

ผลงานที่ค่อนข้างจะโดดเด่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในรอบเกือบ 4 เดือน นับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 ส.ค.2566 คือการเจรจากับบริษัทต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุนกลุ่มที่มีเทคโนโลยีสูงเข้ามาในไทย โดยนายกรัฐมนตรีกล้าออกมายืนยัน 100% ว่า บริษัทเทสลาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ระดับโลกจะตัดสินใจลงทุนในไทยหลังจากที่ได้ดูพื้นที่การลงทุน 2,000 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง หลังจากที่เทสล่าได้หารือการลงทุนหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย

ในขณะที่ไมโครซอฟท์ประกาศพร้อมลงทุนไทย โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ โดยข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะอยู่ในระดับแสนล้านบาท ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของไมโครซอฟต์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะช่วยยกระดับอุตสหกรรมดิจิทัลของไทย

ในช่วงที่ผ่านมาถึงแม้ว่าประเทศไทยจะผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นจุดขายใหม่ของไทย โดยเป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญไปแล้ว เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 แต่ในช่วงที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าความทุ่มเทในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศในรัฐบาลชุดที่แล้วค่อยข้างน้อย และทำให้บริษัทระดับโลกหลายแห่งตัดสินใจลงทุนในเวียดนามหรืออินโดนีเซีย

การดึงการลงทุนจากบริษัทระดับโลกจำเป็นต้องใช้แรงผลักดันจากรัฐบาล โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลเวียดนามได้เจรจาอย่างเต็มที่กับบริษัทซัมซุงจนในที่สุดซัมซุงตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ในเวียดนาม ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซีย เดินหน้าอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมาในการเจรจากับบริษัทระดับโลกเพื่อให้เข้าไปลงทุน โดยพร้อมที่จะให้สิทธิประโยชน์และการสนับสนุนการลงทุนด้านอื่นจึงทำให้เป็นประเทศที่น่าจับตามอง

หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเจรจาลงลึกในรายละเอียดกับแต่ละบริษัท เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการลงทุนในไทย ในขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องตรวจการบ้านอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าการเจรจากับแต่ละบริษัทมีข้อติดขัดประการใดแล้วจึงหาทางแก้ปัญหา รวมทั้งนายกรัฐมนตรีต้องไม่ลืมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567