‘ส่งออกไทย’ สัญญาณแห่งความหวัง

‘ส่งออกไทย’  สัญญาณแห่งความหวัง

สัญญาณแห่งความหวัง เมื่อตัวเลขส่งออกไทยเดือนตุลาคม ขยายตัว 8% ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 3 และขยายตัวสูงสูดในรอบ 13 เดือน โดย "ส่งออก” เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ

แต่ไหนแต่ไรมา ‘การส่งออก’ ของไทย คือ ความหวังอันสูงสุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักที่ช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ที่ยากลำบาก

วันนี้เราได้รับสัญญาณแห่งความหวัง เมื่อตัวเลขส่งออกไทยเดือนตุลาคม ขยายตัว 8% ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 3 และขยายตัวสูงสูดในรอบ 13 เดือน

ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่รุมล้อมไปด้วยปัจจัยลบมากมาย กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ส่งออกไทยเดือนต.ค.2566มีมูลค่า 23,578.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.4% 

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,411.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ดุลการค้า ขาดดุล 832.3 ล้านดอลลาร์

ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 236,648.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.7% การนำเข้า มีมูลค่า 243,313.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.6 %

ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,665.0 ล้านดอลลาร์ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ต่อ คือ การบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน 

ขณะที่สินค้าเกษตร อาหาร ยังเป็นตัวหนุนสำคัญ และยิ่งช่วงปลายปีหน้าเทศกาล การทยอยสั่งซื้อสินค้าของประเทศคู่ค้าเพื่อรับการเฉลิมฉลองก็คึกคักมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ที่ยังมีการขยายตัวสูง ยังไม่นับสินค้าเกษตรหลายตัวที่ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้สด อาหาร ฯลฯ เพิ่มขึ้นทั้งหมด 

สินค้าอุตสาหกรรมก็ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณี เครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด 

การส่งออกไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศหลักๆ ก็มีสัญญาณฟื้นตัว ที่บอกว่าการส่งออกไทยเดือนนี้ เป็นสัญญาณแห่งความหวัง เพราะหากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค จะพบว่าส่งออกของไทย ขยายตัวมากสุด 

ขณะที่อีกหลายประเทศการส่งออกเริ่มกลับมาเป็นบวก เช่น สิงคโปร์, อินเดีย, เวียดนาม และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณใกล้ยุติมาตรการคุมเข้มทางการเงิน

นับเป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทยที่ทีมบริหารต้องเร่งหาแนวทางผลักดันการส่งออกให้แข็งแกร่งขึ้น ปรับกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ผลิตสินค้าเพิ่ม ส่งเสริมผู้ประกอบการ ฯลฯ หรือ แผนอื่นๆ ที่ดันให้ส่งออกไทยเป็นความหวังที่พึ่งพิงได้ เพราะ "ส่งออก” เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ เป็น “หัวใจ” สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตัวเลขการส่งออก คือ “ดัชนี” ชี้วัดความสำเร็จ ความเป็นมืออาชีพในการทำงานของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย