‘สารพัดวิกฤติ’ รุม รัฐบาลเศรษฐา1

‘สารพัดวิกฤติ’ รุม  รัฐบาลเศรษฐา1

หากรัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี หรือทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเศรษฐา 1 เกิดอาการเพลี่ยงพล้ำ “มองวิกฤติ แบบยังไม่วิกฤติ” แก้ปัญหาไม่เด็ดขาด แนวทางไม่ชัดเจน จากที่ควรได้ประโยชน์ กลายเป็นผลักประเทศตกเหวลึก..ไปกันใหญ่

รัฐบาลเศรษฐา 1 วันนี้กำลังโดนสารพัดปัญหา (ใหญ่) รุมเร้า ตั้งแต่นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท ที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล กับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ปัญหาการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ที่กลายเป็นโจทย์ยาก วิกฤติตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงต่ำสุด ยังไม่นับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะที่ ภาระการพลิกฟื้นเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินควบคู่ไปอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 12-17 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่นครซานฟรานซิสโก ตามหมายกำหนดการ เห็นว่า จะได้พบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาดใหญ่สหรัฐฯ หลายรายที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อหาทางดึงเม็ดเงินลงทุนมายังประเทศไทย

บิ๊กคอร์ปหลายรายที่ นายเศรษฐาได้พบปะ ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ กูเกิล และที่อื่นๆ มีแผนเซ็น “เอ็มโอยู” ความร่วมมือโดยใช้เวลาทีเอเปคครั้งนี้ อย่างในอุตสาหกรรมอีวี นายเศรษฐา จะหารือกับผู้บริหารของเทสลา ต่อยอดจากที่เคยพบปะที่นิวยอร์กเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ครั้งนี้คงคุยให้ลึกขึ้นและติดตามผล

ที่ผ่านมามีบริษัทอีวีรายใหม่หลายรายเข้ามาลงทุนในไทย มาตั้งฐานการผลิตส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ขณะที่ ตลาดอีวีในไทยเติบโตรวดเร็ว 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนรถอีวีมากกว่า 60,000 คัน เพิ่มขึ้น 7 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค

ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นายเศรษฐา มีกำหนดพบบริษัท Analog Devices, Inc (ADI) บริษัท บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP) และจะร่วมหารือกับ บริษัท Nvidia ผู้ผลิตชิปชั้นนำของอเมริกา ล้วนเป็นบริษัทชั้นนำด้านอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ เพื่อชักชวนมาลงทุนเพราะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่ประเทศทั่วโลก ต้องการดึงให้ไปผลิตที่ประเทศตัวเอง โดยเฉพาะสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์

ที่ผ่านมาไทยเป็นการผลิตกลางน้ำ รัฐบาลจึงมีความพยายามยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ต้นน้ำมากขึ้นด้วยการส่งเสริมโรงงานผลิตที่ผลิตในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์รวมไปถึง แผนโชว์เมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ มูลค่ามหาศาลซึ่งเป็นอีกโครงการเรือธงของรัฐบาลนี้

ที่ผ่านมา เราได้เห็นแผนโปรโมตประเทศ เพื่อดึงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ของนายเศรษฐา ที่สวมบทบาทเป็นเซลส์แมนประเทศ และล่าสุดคือเวทีเอเปค ท่ามกลาง สถานการณ์โลกที่ยังผันผวนอย่างรุนแรง

ปมปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังน่าห่วง โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังลุกลาม ไทยได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสไม่น้อย หากรัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี หรือทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเศรษฐา 1 เกิดอาการเพลี่ยงพล้ำ “มองวิกฤติ แบบยังไม่วิกฤติ” แก้ปัญหาไม่เด็ดขาด แนวทางไม่ชัดเจน จากที่ควรได้ประโยชน์ กลายเป็นผลักประเทศตกเหวลึก..ไปกันใหญ่