ระดมสมอง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ระดมสมอง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

สิ่งที่น่ากังวล คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ผลกระทบจากสภาพอากาศ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ก่อเป็นอีกหลายปัจจัยความเสี่ยง ที่จะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยได้ทุกเมื่อ

ภาพการพบปะหารือระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วานนี้ (2 ต.ค.) นายกฯ เศรษฐา เปิดเผยหลังจากนั้นว่า เป็นการพูดคุย รับฟังความเห็นระหว่างกันในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมรับฟังข้อกังวล ข้อเสนอแนะต่างๆ

นายกฯ เศรษฐา ยอมรับด้วยว่า การพบปะ หารือครั้งนี้แน่นอนว่า มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วย และเห็นต่างกัน จากนี้อาจต้องเจอกันบ่อยขึ้น

แน่นอนว่า หนึ่งในประเด็นการหารือ คงหนีไม่พ้นเรื่องภาวะเศรษฐกิจการเงินการลงทุน ที่วันนี้ยังเผชิญแรงกดดัน ความท้าทายมากมาย ปัญหาเรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องใหญ่

แม้กระทรวงพาณิชย์จะจัดมหกรรมลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้างต่างๆ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น เฉพาะหน้า 

ล่าสุดธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้อัพเดทสภาวะเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุด ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของไทยปีนี้ลดลงเหลือ 3.4% จากคาดการณ์เดิมในเดือน เม.ย.ที่ 3.6%

รวมถึงลดคาดการณ์จีดีพีปีหน้าลงเหลือ 3.5% จากเดิมที่ 3.7% เวิลด์แบงก์ ระบุว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังคงตามหลังประเทศกลุ่มอาเซียน

การส่งออกที่ลดลงเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเติบโตก็เป็นตัวเลขที่เกือบต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไม่รวมแปซิฟิก) เป็นรองเพียงแค่เมียนมาที่เติบโตได้ 3.0% เท่านั้น แต่แม้คาดว่าจีดีพีของไทยในปีหน้า 2567 จะโตขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังเติบโตได้เมื่อเทียบหลายประเทศที่คาดว่าจะเติบโตลดลง

เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปีนี้ลงมาอยู่ที่ 5% จากคาดการณ์เดิมที่ 5.1% ส่วนปีหน้าจะเติบโตได้ 4.5% จากคาดการณ์เดิม 4.8% โดยอ้างถึงจีนและอุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซา

ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ชะลอตัวลง เวิลด์แบงก์ สรุปถึงประเทศไทยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังตามหลังประเทศในกลุ่มอาเซียน และการส่งออกที่ลดลงเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นโดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งที่น่ากังวล คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ผลกระทบจากสภาพอากาศ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ก่อเป็นอีกหลายปัจจัยความเสี่ยง ที่จะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงประมาณ 80% ของจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค

ไม่นับความท้าทายเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทุกเรื่องนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ต่อประเทศในระยะข้างหน้า การพูดคุยหาทางออกร่วมกันในหลายๆ ภาคส่วน เป็นเรื่องที่ดี แต่เราอยากให้บทสรุปของการหารือในแต่ละครั้ง ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่การจัดฉาก จัดอีเวนต์ เพื่อให้เป็นข่าวแค่นั้น ...