‘ก้าวไกล’เร่งดึง อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ เล็งปรับสิทธิประโยชน์โดนใจนักลงทุน

‘ก้าวไกล’เร่งดึง อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ  เล็งปรับสิทธิประโยชน์โดนใจนักลงทุน

"ก้าวไกล" หนุนอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำดันไทยฐานผลิตภูมิภาค ชี้ต้องวางท่าทีเป็นกลางระหว่างมหาอำนาจ จีน - สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากากรดึงลงทุน เล็งปรับแนวทางให้บีโอไอลดลงปีละประมาณ 10% แต่จะพุ่งเป้ามากขึ้นในการให้มาตรการที่ตรงกับบริษัทเป้าหมายแทน

Key points 

  • อุตสาหกรรมการผลิตชิปต้นน้ำเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการดึงเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อต่อยอดการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และรถอีวี  
  • พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา
  • โดยมีการปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนลดBOI ลง 10% แต่ส่งเสริมตรงเป้า และยืดหยุ่นมากขึ้น 
  • ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าการวางตัวเป็นกลางระหว่างมหาอำนาจจะทำให้ประเทศไทยสามารถดึงการผลิตได้มากขึ้น 

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการอำนวยความสะดวกการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีการขอส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนผ่านคำขอส่งเสริมการลงทุนที่ขอจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปีละหลายแสนล้านบาท โดยในปี 2565 ที่ผ่านมามีการขอส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 6.6 แสนล้านบาท และในปี 2566 ก็คาดว่ายอดขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญที่ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคและของโลกมีหลายอุตสาหกรรม นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญคืออุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ หรือการผลิตชิปที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่เกิดจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่นำมาใช้ กับหลายอุตสาหกรรมเช่น สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics) ชิ้นส่วนของคลาวด์คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ อุปกรณ์ที่ใช้ Internet of Thing และชิ้นส่วนสำคัญในรถ EV ซึ่งมีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน

อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในบางประเทศ เช่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และความขัดแย้งกันระหว่างมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯทำให้บางบริษัทมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิต หรือสร้างโรงงานเพิ่มเติมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจและซัพพายเชนทำให้เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเปิดรับการลงทุน  

"ศิริกัญญา ตันสกุล" รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โอกาสการลงทุนของอุตสาหกรรมสำคัญของไทยในขณะนี้คืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ ที่ขณะนี้ไทยมีโอกาสรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้จากปัญหาความขัดแย้งทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯและจีน

ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตในส่วนนี้โดยจะต้องรักษาสถานะความเป็นกลางของประเทศไทยไว้ให้ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการลงทุนต่อเนื่อง

โดยพรรคก้าวไกลมองว่าการส่งเสริมการลงทุน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้จะช่วยแก้ปัญหาประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากขาดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทำให้ผลิตภาพการผลิตอยู่ในระดับต่ำและโตช้าต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน

เรายังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงวัย ที่จะทำให้กำลังแรงงานหดตัวอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดิมๆ ถูก disrupt ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงจำเป็นต้องมีนโยบายจริงจังที่จะต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมาทดแทน

โดยอุตสาหกรรรมที่ส่งเสริมนั้นควรเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า (Power Electronics)ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เช่น รถ EV อุปกรณ์ชาร์จเร็ว สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว ไปจนถึงอุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

‘ก้าวไกล’เร่งดึง อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ  เล็งปรับสิทธิประโยชน์โดนใจนักลงทุน

ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมชิปประเภท power electronics ต้นน้ำในประเทศ เราต้องการการลงทุนจากเจ้าของเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายได้จริง ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ลงทุนแต่ละรายและจำกัดเฉพาะเครื่องมือแบบเดิมๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ครอบคลุมถึงการให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ ทั้งการสร้างบุคลากร เงินอุดหนุน งานวิจัย สาธารณูปโภค

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่าเรื่องของการปรับบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พรรคก้าวไกลไม่ได้จะยกเลิกการส่งเสริมการลงทุน หรือยกเลิกบีโอไอ แต่จะปรับมาตรการและการสนับสนุนมาตรการบางส่วน เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมของบีโอไอ โดยจะลงประมาณ 10% จากเดิมที่มีการเว้นภาษีในส่วนนี้ให้กับนักลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือจะปรับลดลงประมาณปีละ 8 พันล้านบาทต่อปี และปรับการให้บีโอไอให้เป็นมาตรการสนับสนุน และดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุดตรงเป้ามากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

“การลดหย่อนภาษีในปัจจุบันควรดูในอุตสาหกรรมที่ตรงเป้าหมาย และมาตรการเรื่องภาษีที่มีการลดหย่อนภาษี 8  - 13 ปี ก็ไม่ใช่รูปแบบที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันเพราะต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการลงทุนอื่นๆที่ตอบโจทย์การลงทุนที่เป็นแพคเกจการลงทุนที่ต้องดูความต้องการนักลงทุนแต่ละรายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนด้วย” ศิริกัญญา กล่าว