โมเดล 10 หมู่บ้านรวย-จน งานวิจัยที่ 'ศิริกัญญา' อธิบาย 'ความเหลื่อมล้ำ' ในไทย

โมเดล 10 หมู่บ้านรวย-จน งานวิจัยที่ 'ศิริกัญญา' อธิบาย 'ความเหลื่อมล้ำ' ในไทย

ส่องโมเดล 10 หมู่บ้านรวย-จน งานวิจัยของ "ศิริกัญญา" ว่าที่รมว.คลัง ซึ่งอธิบาย "ความเหลื่อมล้ำ" ในสังคมไทย และนำเสนอต่อสังคมในปี 2557 ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลกรายได้คนจน - รวย ห่างกัน

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนนักในเรื่องการฟอร์มทีมรัฐบาลตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สำหรับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยทั้งสองพรรค และพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคนัดหารือแนวทางการทำงานในวันที่ 30 พ.ค.นี้

อย่างไรก็ตามในส่วนของเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พรรคก้าวไกลมีบุคคลที่จะมานั่งในตำแหน่งนี้แล้วคือ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยได้ให้สัมภาษณ์ในหลายโอกาสว่า เก้าอี้ขุนคลัง พรรคจะส่งศิริกัญญาไปทำหน้าที่นี้เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญของพรรคในหลายเรื่อง

ท่ามกลางกระแสโซเชียลมีเดียร์ที่มีการถกเถียงกันถึงความเหมาะสมของว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของไทย “กรุงเทพธุรกิจ” พาผู้อ่านย้อนไปดูผลงานวิจัยของศิริกัญญา เมื่อครั้งเป็นนักวิจัยอาวุโสที่มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายที่ก่อตั้งโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

           โมเดล 10 หมู่บ้านรวย-จน งานวิจัยที่ 'ศิริกัญญา' อธิบาย 'ความเหลื่อมล้ำ' ในไทย

ย้อนในเดือนเมษายนปี 2557 สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง  “8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย” ซึ่งเป็นผลงานที่ศิริกัญญาได้ทำร่วมกับทีมงานวิจัยของสถาบันในสมัยที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนศิริกัญญาเป็นผู้อธิบายงานวิจัยและตอบคำถามร่วมกับ ดร.เศรษฐพุฒิ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลากหลายแขนง เพราะในขณะนั้นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย แต่ยังไม่ค่อยมีสถาบันวิจัยที่รวบรวมข้อมูลมาประมวลเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจได้โดยง่าย

งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายสภาพสังคมและเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2557 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ว่าในประเทศไทยมีครอบครัวทั้งหมด 22 ล้านครอบครัว หากอยากรู้ว่าความเหลื่อมล้ำหน้าตาเป็นอย่างไร ให้ลองสำรวจรายได้ของแต่ละครอบครัว แล้วจึงเรียงลำดับจากครอบครัวที่รายได้น้อยที่สุดไปหาครอบครัวที่รายได้สูงที่สุด ตั้งแต่ครอบครัวที่ 1 ไปจนถึงครอบครัวที่ 22 ล้าน

จากนั้นแบ่ง 22 ล้านครอบครัวนี้ออกเป็น หมู่บ้าน 10 หมู่บ้านโดยในแต่ละหมู่บ้านประกอบไปด้วยครอบครัวคนไทย ราว 2.2 ล้าน หรือมีครอบครัวหมู่บ้านละ10% ของครอบครัวทั้งหมด ให้ครอบครัว 10% แรก หรือ 2.2 ล้านครอบครัวที่จนที่สุด ให้อยู่ในหมู่บ้านที่ 1 (เรียกว่า ครอบครัวที่จนที่สุด 10%) ส่วนครอบครัวที่จนที่สุดรองลงมาอีก 10% ให้อยู่ในหมู่บ้านที่ 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงครอบครัว 10%สุดท้ายซึ่งเป็นครอบครัวที่รวยที่สุดอยู่ในหมู่บ้านที่ 10 (ขอเรียกว่า ครอบครัวที่รวยที่สุด 10%)

โมเดล 10 หมู่บ้านรวย-จน งานวิจัยที่ 'ศิริกัญญา' อธิบาย 'ความเหลื่อมล้ำ' ในไทย

ถ้าลองทำการสำรวจในหมู่บ้านที่ 1 (ครอบครัวที่จนที่สุด 10%) ที่ประกอบไปด้วยครอบครัวที่จนที่สุดราว 2 ล้านครอบครัว เราพบว่ารายได้เฉลี่ยของหมู่บ้านนี้ตกเฉลี่ยอยู่ประมาณ 4,300 บาทต่อเดือน หรือเป็นหมู่บ้านของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,700 บาทต่อเดือน ถ้าเราจะดูว่าครอบครัวเหล่านี้หน้าตาเป็นยังไง ให้ลองจินตนาการว่าเรากำลังเดินเข้าไปในหมู่บ้านในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่ราว 40% เป็นบ้านที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว มีรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ อีกส่วนหนึ่งประมาณ 1 ใน 4 เป็นครอบครัวเกษตรกร

ส่วนหมู่บ้านที่ 1 – 4 ก็มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาตามลำดับแต่ยังอยู่ในฐานะรายได้เฉลี่ยที่ยากจน ส่วนหมู่บ้านที่ 5 ที่มีฐานะระดับกลางๆ ปรากฏว่ารายได้ครอบครัวในหมู่บ้านนี้เฉลี่ยราว 13,000 บาทต่อเดือน โดยแต่ละครอบครัวมีรายได้อยู่ระหว่าง 12,000 – 15,000 บาท หน้าตาของหมู่บ้านที่ 5 คงเทียบได้กับชุมชนในเมือง หรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 20% มีหัวหน้าครอบครัวทำอาชีพเสมียน หรือเป็นพนักงานขาย รองลงมา ประกอบอาชีพพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งมีสัดส่วนพอๆ กันกับ หนุ่ม/สาวโรงงานอยู่ที่ 16%

หมู่บ้านสุดท้ายคือหมู่บ้านที่ 10  ถ้าลองจินตนาการดูหมู่บ้านนี้คงเป็นหมู่บ้านจัดสรร มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยราว 90,000 บาทต่อเดือนในกลุ่มนี้ 40 % เป็นครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวทำอาชีพเฉพาะทาง (อย่างหมอหรือวิศวกร) อีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจหรือเถ้าแก่เจ้าของกิจการ     

ด้วยการฉายภาพครอบครัวในแต่ละหมู่บ้านแบบนี้ ทำให้ค้นพบ 8 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจได้แก่

ข้อเท็จจริงที่ 1: ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ดีขึ้นเลย จากเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา 25 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า แต่รายได้ส่วนที่ตกถึงครอบครัวไทยนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า และยิ่งเมื่อดูเป็นรายหมู่บ้าน เราจะพบว่ารายได้ของแต่ละหมู่บ้านก็เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน รายได้ของหมู่บ้านที่ 10 นั้นโตขึ้นราว 3.2 เท่า ในขณะที่รายได้ของหมู่บ้านที่ 1 นั้นเพิ่มขึ้นไม่ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เป็นผลให้รายได้ของ 2 หมู่บ้านนี้ยิ่งแตกต่างและทิ้งห่างกันไปเรื่อยๆ จนหมู่บ้านที่ 1 ยากที่จะตามทันได้

ข้อเท็จจริงที่ 2: ครอบครัวส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่ 1 ที่เป็นหมู่บ้านที่จนที่สุด คือครอบครัวที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่ใช่ชาวนา หรือเกษตรกรอย่างที่เคยเข้าใจกันทั่วไป ครอบครัวคนชราที่มีอยู่ราว 40% มีรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ ที่กลายมาเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไปในครอบครัวไทยในชนบท ส่วน 40% ของครอบครัวในหมู่บ้านที่ 10 ทำอาชีพเฉพาะทางอย่างหมอ หรือวิศวกร อีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นเถ้าแก่ นอกจากนี้การเป็นเกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องจนเสมอไป เพราะ 9%ในหมู่บ้านนี้เป็นเกษตรกรภาคใต้

ข้อเท็จจริงที่ 3: เกือบครึ่งของครอบครัวไทยมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ครอบครัวในหมู่บ้านที่ 5 ซึ่งอยู่ตรงกลางพอดีนั้นยังมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่รายได้ครอบครัวเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 23,000 บาท/เดือน ครอบครัวที่ได้รายได้เท่ากับรายได้เฉลี่ยจะได้อยู่ในหมู่บ้านที่ 8 ส่วนรายได้ที่ครอบครัวกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 1 ล้านครอบครัวได้รับนั้นอยู่ที่ราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน โดยครอบครัวกลุ่มนี้จะกระจายอยู่ในหมู่บ้านที่ 2 และหมู่บ้านที่ 3

ข้อเท็จจริงที่ 4: ความเหลื่อมล้ำจริงนั้นยิ่งแย่กว่าที่รายงานทั่วไปอย่างน้อย 25% เพราะข้อมูลรายได้ของหมู่บ้านที่รวยอย่างหมู่บ้านที่ 9 และ 10 นั้นสำรวจไม่ครบ โดยหายไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท ถ้ารวมรายได้ที่หายไปนี้กลับเข้าไปจะทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของหมู่บ้านที่ 9 และหมู่บ้านที่ 10 เทียบกับหมู่บ้านที่ 1 และ 2 นั้นเพิ่มขึ้น 25% และทำให้อันดับด้านความเหลื่อมล้ำของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ร่วงลงไปกว่า 10 อันดับ

ข้อเท็จจริงที่ 5: ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก ถ้ารายได้ของทุกหมู่บ้านรวมกันเท่ากับ 100 บาท จะอยู่ที่หมู่บ้านที่ 10 ถึง 38 บาท อยู่ที่หมู่บ้านที่ 1 เพียง 2 บาท ส่วนทรัพย์สิน (หลังหักหนี้สินแล้ว) ถ้าสมมุติให้มีมูลค่ารวมกันทั้งประเทศมูลค่า 100 บาท หมู่บ้านที่ 10 นั้นมีส่วนแบ่งถึง 57 บาท ส่วนหมู่บ้านที่ 1 นั้นมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ถ้าที่ดินทั่วประเทศมี 100 ไร่ หมู่บ้านที่ 10 เป็นเจ้าของที่ดินร่วม 60 ไร่ ในขณะที่หมู่บ้านที่ 1 มีไม่ถึงไร่ ไม่น่าแปลกใจที่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก

ข้อเท็จจริงที่ 6: ทรัพย์สินเฉลี่ยของครอบครัวสส. รวยกว่าอีก 99.999% ของครอบครัวไทย เราอาจจะคิดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นควรจะต้องเป็นตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงแทบทุกครอบครัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นอยู่ในหมู่บ้านที่ 10 และเกือบจะเป็นบ้านที่มั่งมีที่สุดในหมู่บ้าน ทรัพย์สินรวมของครอบครัวสส. 500 ครอบครัวนั้นเท่ากับทรัพย์สินของ 2 ล้านครอบครัว

ข้อเท็จจริงที่ 7: นอกจากรายได้และสินทรัพย์ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุขนอกจากหมู่บ้านที่ 10 จะมีรายได้ และทรัพย์สินสูงกว่าหมู่บ้านที่ 1 มากๆแล้ว ลูกหลานของครอบครัวในหมู่บ้านที่ 10 ยังได้เรียนโรงเรียนดีกว่า มีโอกาสได้เรียนต่อปริญญาตรีมากกว่าเด็กจากหมู่บ้านที่ 1 ถึง 3 เท่า แม้แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับเท่าเทียมกัน เด็กจากหมู่บ้านที่ 10 ยังสอบผ่านการทดสอบระดับนานาชาติ (PISA) มากกว่าเด็กจากหมู่บ้านที่ 1 ถึง 2 เท่า

ข้อเท็จจริงที่ 8: ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่ควรแก้ คือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนรายได้เท่ากัน และอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหมด แต่สิ่งที่ต้องทำ คือทำให้คนรู้สึกว่ายังมีโอกาสที่จะได้ย้ายไปสู่หมู่บ้านที่สูงกว่า

ทั้งหมดคือสาระสำคัญของงานวิจัยเรื่อง 8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ศิริกัญญาเคยทำไว้เมื่อกว่า 9 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เขากำลังจะมีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยดีขึ้นจากนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้วางไว้